เมนู

บ้านพื้นถิ่นประยุกต์ในบาหลี ที่เข้ากันได้กับกลิ่นอายญี่ปุ่น

บ้านในบาหลี

บ้านสองวัฒนธรรมผสมบาหลีเข้ากับญี่ปุ่น

ในขณะที่หลายคนชอบบ้านแบบโมเดิร์นที่ขาวสะอาดตา ตกแต่งน้อย ๆ และใช้ไม้สีอ่อนเป็นองค์ประกอบหลัก ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังรู้สึกโหยหาอดีตที่เคยอยู่ในบ้านไม้สีเข้มๆ ได้กลิ่นควันจากครัวไฟ แม้อารมณ์บ้านจะทึมๆ จากการใช้ตะเกียงเจ้าพายุก่อนจะมีไฟฟ้า แต่กลับรู้สึกถึงความอบอุ่นอย่างน่าประหลาด แต่ถ้าจะสร้างบ้านอยู่อาศัยทุกวันคงไม่สะดวกนัก เพราะแต่ละบ้านก็มีสมาชิกหลายเจเนอเรชัน คนยุคใหม่อาจไม่ชอบบรรยากาศแบบนี้ ทางเลือกที่ดีกว่าคือการมองหาที่พักให้แวะไปซึมซับความหลังเป็นบางคราว ซึ่งโครงการ The Barn ก็ตอบโจทย์ได้ดี เพราะงานสถาปัตยกรรมเป็นไปในรูปแบบพื้นถิ่นประยุกต์บ่งบอกถึงอายุและเรื่องราวชีวิตในอดีต เป็นความทรงจำที่ยังคงรักษาเอาไว้ให้คิดถึง ในขณะที่มีฟังก์ชันใหม่ ๆ ให้อยู่ได้อย่างสบาย

ออกแบบ : Alexis Dornier
ภาพถ่าย : KIE
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านพื้นถิ่นโมเดิร์นทรอปิคอล

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านพื้นถิ่นโมเดิร์นทรอปิคอล

The Barn เป็นโครงสร้างไม้ที่สวยงามตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Uluwatu Surf Villas ในเมืองบาลิกปาปัน บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย บ้านสองชั้นพื้นที่ใช้สอย 356 m² มีส่วนประกอบหลักทั้งหมดที่ทำจากไม้แปรรูปก็จริง แต่ไม่ใช่ไม้ธรรมดา เพราะเป็นไม้เก่า (จาก kaltimber) ที่มีแหล่งที่มาชัดเจน หลังคามุงกระเบื้องคอนกรีตแบบบ้านพื้นถิ่น ใช้เสาไม้รับน้ำหนักที่ดูบิดเบี้ยวไม่เท่ากัน ซึ่งทั้ง 16 เสา เคยเป็นส่วนหนึ่งของถนนที่ทอดไปสู่หนองน้ำในกาลิมันตัน/บอร์เนียว ทำให้อาคารมีลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน

เฉลียงขนาดใหญ่หน้าบ้าน

ฉากแบ่งสัดส่วนใช้งานในบ้าน

ชั้นล่างมีเฉลียงให้ใช้งานแบบกึ่งกลางแจ้ง ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องแดดและฝน แต่ละจุดจะตกแต่งให้ดูเรียบง่าย สงบ และเติมเต็มด้วยธรรมชาติ รอบ ๆ มีแผ่นไม้ประดู่สีเข้มตีเป็นช่องตารางแบบบ้านโชจิ ใช้สำหรับผนังพาร์ทิชันที่แบ่งสัดส่วนใช้งาน บางจุดใส่กระจกใสแต่บางจุดเป็นบานที่กรุกระดาษจากเส้นใยกล้วย (งานฝีมือในบาหลีโดยชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ -Naruse @greenman_bananapaper_studio) ให้สัมผัสของบรรยากาศความเป็นญี่ปุ่นเล็ก ๆ

ตกแต่งสไตล์พื้นถิ่นประยุกต์

บ้านโถงสูงช่องแสงสวยๆ

เมื่อเดินตามบันไดขึ้นมาที่ชั้นบน จะเห็นว่าพื้นผิวของอาคารยังคงเป็นไม้สีเข้ม เพื่อเน้นที่ช่องรับแสงไม้ที่ตีเป็นตารางสูงตระหง่านอยู่ตรงใจกลางให้ยิ่งเด่นชัด ตามจุดต่าง ๆ ของบ้านมีเสาไม้ที่เห็นเหล่านี้เป็นโครงรองรับบันได ระเบียง ผนัง และหน้าต่างและประตูบานเลื่อน ให้ความรู้สึกเหมือนที่เราเคยคุ้นในบ้านไม้แบบเดิมๆ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนคือโถงสูง Double Space และประตูกระจกบานไม้สไลด์เปิดออกได้กว้าง ที่ทำให้บ้านเต็มไปด้วยแสงจากธรรมชาติ พร้อมรับอากาศใหม่ระบายความร้อนออกไปได้ดี

ตกแต่งสไตล์พื้นถิ่นประยุกต์

ภายในบ้านตกแต่งเล่นระดับ

แนวคิดสถาปัตยกรรมใหม่อื่นๆ ที่ยังซ่อน แฝงตัวอยู่ท่ามกลางกลิ่นอายแบบพื้นถิ่นอย่างแนบเนียน คือ การจัดแปลนแบบ open plan ให้ครัว ห้องทานอาหาร ให้อยู่รวมกัน โดยใส่การเล่นระดับพื้นที่ในบริเวณมุมนั่งเล่นที่เหมือนเป็นหลุมลงไป เพื่อแยกสัดส่วนการใช้งานออกจากกันโดยไม่ต้องแบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อย จึงสามารถสัญจรเข้าถึงกันได้หมด ส่วนของเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ทำจากไม้สักรีไซเคิลและหวาย โดยพยายามคงโทนสีอ่อน ๆ ไว้ เพื่อให้ชิ้นงานเหล่านี้กลายเป็นองค์ประกอบที่ตัดกันกับผนังบ้านสีดำเข้มและเป็นจุดโฟกัสสายตา โดยจัดวางให้ชิดกับเส้นตารางของอาคารทำให้เห็นได้ชัดขึ้น

พื้นที่นั่งเล่นบนระเบียงไม้ภายนอก

ประตูห้องนั่งเล่นซึ่งเปิดออกได้กว้างเชื่อมกับระเบียงหลักขนาดใหญ่ที่ปูพื้นด้วยไม้ ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้ปูในตัวบ้าน ทำให้รู้สึกเหมือนบ้านถูกขยายออกไปสู่พื้นที่กลางแจ้ง ที่ใช้เป็นจุดนั่งเล่นชมบรรยากาศ นอนอาบแดด หรือจะแหวกว่ายน้ำเล่นให้ชุ่มฉ่ำใจในสระว่ายน้ำขนาดย่อมก็ทำได้แบบเป็นส่วนตัว

สระว่ายน้ำกลางชานดาดฟ้า

สระว่ายน้ำกลางชานดาดฟ้า

จากสระว่ายน้ำที่ยกระดับขึ้นเหมือนเป็นกล่องสี่เหลี่ยม จะมองเห็นหน้าผาริมมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ที่อยู่ใกล้เคียง ตัวสระด้วยหินแกรนิตที่มาจากท้องถิ่นซึ่งมีโทนสีเขียวเล็กน้อย องค์ประกอบนี้เป็นการแสดงความเคารพต่อวัฒนธรรมออนเซ็นของญี่ปุ่น และผสมผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เขียวชอุ่มของภูมิทัศน์ทางตอนใต้ของบาหลีได้เป็นอย่างดี

ห้องนอนเด็ก

บ้านไม้สไตล์พื้นถิ่นประยุกต์

ครัวโมเดิร์นในบ้านไม้พื้นถิ่นประยุกต์

บ้านไม้พื้นถิ่นประยุกต์

สถาปนิกใช้แสงส่องสว่างแบบ direct light เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อเน้นบรรยากาศของความเงียบสงบและการพักผ่อน โคมระย้าที่ออกแบบด้วยกระดาษใยกล้วยกลายเป็นสิ่งที่ชวนให้โฟกัสเป็นพิเศษ ภายในอาคารที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บรรยากาศบ้านช่วงค่ำ

บรรยากาศช่วงเริ่มค่ำในบ้านเปล่งประกายด้วยแสงไฟ เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นว่าบางส่วนแสงทะลุออกมาได้ทั้งหมด แต่บางจุดฉากกั้นหน้าต่างเป็นกระดาษที่ยอมให้แสงผ่านได้บางส่วน บ้านจึงมีระดับความโปร่งใสไม่เท่ากัน ในภาพรวมจะเห็นว่าทุกอย่างถูกวางแผนไว้เป็นจังหวะระหว่างสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ การตกแต่งภายใน และแสงเงา

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : งานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นหลาย ๆ แห่งไม่ว่าจะเป็นที่บาหลี ญี่ปุ่น หรือในไทยเอง มักจะดึงช่างฝีมือและองค์ความรู้ในท้องถิ่นมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น กระเบื้องหลังคา กระเบื้องปูพื้นดินเผา งานไม้รูปแบบต่างๆ ตามความถนัดของช่างพื้นถิ่น รวมไปถึงการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับบ้าน อาทิ กระดาษที่ทำจากใยกล้วย ที่พัฒนาจากการนำเอาต้นกล้วยมารวมกับกรรมวิธีการทำกระดาษแบบโบราณ ได้กระดาษใยกล้วยที่มีคุณสมบัติของเนื้อกระดาษแข็งแรงคงทน สามารถนำมากรุเป้นบานประตูโชจิสไตล์ญี่ปุ่นได้สวยงามทนทานกว่าเดิม 

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด