Breathing wall ใส่ผนังที่มีช่องว่างให้บ้านหายใจ
เคยคิดกันเล่น ๆ หรือเปล่าครับว่า ถ้าหากเราเข้าไปอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ เจาะช่องแสงเล็ก ๆ ทั้งวันทั้งคืนความรู้สึกจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าคนที่ชอบคงมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก เพราะการอยู่ในพื้นที่มืด ๆ แคบ ๆ เป็นใครก็คงรู้สึกอึดอัด เช่นเดียวกับเจ้าของบ้านหลังนี้ในอินเดีย ที่เคยอาศัยในบ้านเดิมปิดล้อมด้วยผนังทึบเจาะช่องแสงเพียงไม่กี่ช่อง จนยากที่จะรู้ว่ามันเป็นกลางวันหรือกลางคืน แสงแดดกำลังสาดจ้าหรือฝนกำลังตก สภาพแวดล้อมในบ้านอับชื้นสกปรก ไม่ใช่บรรยากาศที่เหมาะกับการอยู่อาศัย และพวกเขาต้องการชีวิตใหม่ที่สดใสกว่าเดิม ในขณะที่บ้านสร้างในเนื้อที่เล็กแคบหน้ากว้างเพียง 6 เมตร พื้นที่ติดกันทุกด้านทำให้เปิดบ้านโล่ง ๆ จากภายนอกไม่ได้ จะปรับแก้ไขให้โปร่ง ๆ อยู่สบายได้อย่างไร เป็นคำถามที่ท้าทายสถาปนิกอย่างมาก
ออกแบบ : Lijoreny Architects
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้าน 3 ชั้นหน้าแคบ ปิดด้านนอก เปิดกว้างด้านใน
ที่ตั้งบ้านหลังนี้อยู่รัฐเกรละ เมืองตฤศศูร ประเทศอินเดีย ด้านหน้าติดถนนสาธารณะที่คับแคบ ข้าง ๆ ติดกับเพื่อนบ้านทั้ง 2 ด้าน และที่อยู่อาศัยของพี่ชายที่อยู่ด้านหลัง ในขณะที่ทุกด้านติดแน่นไปหมด ทีมงานต้องออกแบบบ้านภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าลึกยาว กว้าง 6 x 16 เมตร ให้มีพื้นที่ว่าง มีแสงสว่างเพียงพอ และมีการระบายอากาศตลอดทั้งวัน ในขณะที่ต้องเป็นส่วนตัวไปพร้อม ๆ กัน จากการรวบรวมข้อมูลทั้งสภาพภูมิอากาศ เงื่อนไขของพื้นที่ วัสดุที่จะใช้และเทคนิคการก่อสร้าง งบประมาณ ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ เมื่อเปิดบ้านจากภายนอกไม่ได้ ทำให้สถาปนิกตัดสินใจออกแบบบ้าน 3 ชั้นที่เต็มไปด้วยช่องเปิดภายใน แบ่งพื้นที่ด้านหนึ่งเจาะเป็นช่องว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้าในบ้าน และใส่ผนังปิดภายนอกที่มีช่องว่างให้บ้านหายใจเข้าไป
จากแปลนบ้านจะเห็นว่าสถาปนิกแก้โจทย์พื้นที่หน้าแคบด้วยการเพิ่มพื้นที่แนวตั้งขึ้นไป ทุกด้านของบ้านจะปิดล้อมด้วยผนังเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่จะมีช่องลมช่องแสงเล็ก ๆ แทรกอยู่ ส่วนภายในจะไม่สร้างตัวอาคารจนเต็มพื้นที่ สถาปนิกแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านเป็นที่ว่างจัดสวนและมีบันไดโปร่งเชื่อมต่อพื้นที่ทั้ง 3 ชั้น
ผนังกระจกเหมือนไร้ผนัง เชื่อมต่อคอร์ทกลางบ้าน
เมื่อก้าวเข้ามาในบ้าน ความรู้สึกที่ได้รับจะต่างไปจากเปลือกนอกที่ดูเหมือนปิดทึบอย่างชัดเจน จากแนวคิดของสถาปนิกที่ต้องการจะลดความรู้สึกอึดอัดคับแคบ ด้วยกลยุทธ์การยอมเสียพื้นที่อาคารออกบางส่วนเพื่อใส่ช่องว่างเข้าไปในบ้าน และใช้ประโยชน์จาก space ให้มากที่สุด ทีมงานแบ่งตัวบ้านออกเป็นสองฝั่ง ฝั่งตะวันตกพื้นที่ 3.3 เมตร ฝั่งตะวันออก 1.8 เมตร และสร้างพื้นที่ส่วนกลางเป็นสวนกลางบ้าน ซึ่งเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่ที่รับแสงจากด้านบนให้แสงธรรมชาติภายนอกผ่านเข้ามาได้มากที่สุด บ้านจึงสว่างไสวเต็มไปด้วยความสดชื่นเหมือนยกพื้นที่กลางแจ้งเข้ามาเก็บไว้ภายใน
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บันได เป็นองค์ประกอบในบ้านที่มีมากกว่า 1 ชั้น ปกติจะติดตั้งอยู่ด้านในตัวบ้านซึ่งค่อนข้างกินพื้นที่ นักออกแบบจึงเปลี่ยนทิศทางของบันไดให้ออกมาอยู่นอกตัวอาคาร และดีไซน์ให้มีโครงสร้างโปร่ง ๆ เชื่อมต่อจากชั้น 1 ถึงชั้น 3 โดยไม่รู้สึกว่าทำให้บ้านแคบลง
ข้อดีของบ้านหลังนี้ยังพอมีที่พื้นที่ค่อนข้างลึกประมาณ 16 เมตร ซึ่งทำให้สามารถวางพื้นที่ใช้สอยเรียงยาวไปตามรูปร่างที่ดิน และเว้นพื้นที่ว่างให้บ้านหายใจได้เป็นระยะ กลยุทธ์ต่อไปของสถาปนิกในการเพิ่มความโปร่งโล่งและการเชื่อมต่อพื้นที่คือ ลดผนังทึบให้น้อยที่สุด เปิดกว้างให้แต่ละพื้นที่เข้าถึงกันได้อย่างไหลลื่น ไม่ว่าจะเป็นระนาบแนวตั้งหรือแนวนอน ในแนวนอนจะใช้ประตูบ้านบานสไลด์ติดกระจกเปิดออกเชื่อมต่อสวนจนเหมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน ห้องนั่งเล่นภายใน จัดแบบ open plan ไม่มีผนังทึบบังสายตา เจาะเชื่อมชั้น 1 และชั้น 2 ทำเป็นห้องโถงสูง Double space ความสูงที่มากเป็น 2 เท่านี้ เอื้อให้ระบายอากาศร้อยที่ลอยตัวขึ้นสูงออกสู่อากาศได้ดี ผนังชั้นบนใส่กระจกใสเพิ่มความโปร่งและเป็นช่องแสงไปในตัว เป็นวิธีที่เหมาะทำให้บ้านหน้าแคบดูกว้างและอยู่สบายขึ้น
ผนังเหล็กเจาะรูกลมให้บ้านหายใจได้
เปลือกบ้านทางด้านหน้าทิศเหนือและทิศใต้จะเป็น ‘กำแพงหายใจได้’ ทำจากแผ่นเหล็กกล้าที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้น เจาะรูกลมเป็นแถวเรียงเต็มผืนสูงจากพื้นจนถึงชั้นบน ทั้งนี้เพื่อปิดบ้านให้มีความเป็นส่วนตัวจากผู้คนที่สัญจรไปมาภายนอก และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดสำหรับคนที่อาศัยอยู่ภายใน แต่ยังสามารถมองเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้ ไม่ขัดขวางความรู้สึกของการเปิดกว้างที่สร้างขึ้นภายใน
ผนังเหล็กสีน้ำตาลอมแดงตัดกับสีขาวของอาคารภายใน ช่องว่างที่เป็นรูกลมยังสร้างมิติของแสงและเงาที่กระทบพื้นผิวบันได บ้าน และสวน ในทิศทางที่เปลี่ยนไปตามทิศทางของแสงในแต่ละช่วงของวัน
อีกด้านหนึ่งของคอร์ทยาร์ทกลางบ้านฝั่งตรงข้าม มีประตูบานสไลด์กระจกโปร่งใสเปิดออกต่อไปยังห้องทานอาหาร และยังมีประตูวัสดุโปร่งแสงซ่อนห้องนอนไว้ด้านหลัง เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวออกจากพื้นที่สาธารณะก็เพียงเลื่อนประตูปิด จึงเป็นการบริหารพื้นที่ที่เป็นสัดส่วนโดยไม่ต้องก่อผนังทึบที่จะกันพื้นที่ส่วนตัวออกไปจนขาดปฏิสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของบ้าน
ตกแต่งบ้านธีม Tropical ได้ความรู้สึกของธรรมชาติ
ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ตกแต่งในธีม Tropical ที่ให้ความรู้สึกของการพักร้อน ผ่านสวนเขียว ๆ โทนสีของตกแต่งโทนสี earth tone ใกล้เคียงธรรมชาติ อาทิ สีเหลืองไข่ สีส้มอิฐ สีเทา สีน้ำตาล หรือวัสดุที่มาจากธรรมชาติอย่างเช่น ไม้ ในท้องถิ่นเป็นต้น
ในชั้นอื่น ๆ ของบ้านยังคงใช้คอนเซ็ปในการจัดสรรพื้นที่และตกแต่ง เพื่อให้ห้องได้รับแสงและลมตามธรรมชาติอย่างเต็มที่ และยังใช้ผนังกระจกเป็นตัวกลางในการเบลอขอบเขต เชื่อมต่อพื้นที่ใช้งานห้องนอนและมุมนั่งเล่นส่วนรวมเข้าด้วยกัน ทำให้บรรยากาศของบ้านเต็มไปด้วยสภาวะสบาย พร้อมที่จะพบประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เป็นสุขจนลืมความยากลำบากในการอาศัยที่เคยได้รับจากบ้านเก่าเสียสนิท
แปลนบ้าน