บ้าน 2 อาคารใช้สะพานเชื่อมพื้นที่ต่างระดับ
“TRIANGLE” หรือสามเหลี่ยม เป็นชื่อของโปรเจ็คบ้านนี้ ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของครอบครัวสมัยใหม่ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีปริมาตรเรขาคณิตที่เรียบง่าย เมื่อมองจากภาพก็ทำให้สงสัยว่า บ้านดูเป็นสี่เหลี่ยมแต่ทำไมถึงได้ชื่อนี้ คำตอบคือบ้านหลังนี้สร้างในพื้นที่รูปสามเหลี่ยมบนที่ดินขนาด 75.5 ตารางวา แถมยังมีพื้นที่ลาดเอียงไม่เท่ากันด้านในด้วย จึงเป็นความท้าทายของสถาปนิกที่ได้เข้ามาเปลี่ยนข้อด้อยให้กลายเป็นจุดเด่นได้อย่างน่าสนใจ
ออกแบบ : kith studio
ภาพถ่าย : Thadshan Yogesh, Pasindu Kithmina
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านคอนกรีตทรงกล่องที่ดูธรรมดาเหมือนบ้านร่วมสมัยนี้ ข้างในประกอบด้วย ห้องนอนใหญ่ 2 ห้อง ห้องน้ำ 2 ห้อง ห้องนั่งเล่นสำหรับครอบครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และโรงรถ พื้นที่ส่วนกลางทั้งหมดเป็นแบบเปิดโล่ง เสริมความรู้สึกต่อเนื่องและยืดหยุ่น พื้นที่แต่ละแห่งได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อเพิ่มแสงธรรมชาติและการระบายอากาศ เพื่อสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาและน่าดึงดูดทั่วทั้งบ้าน ต่างจากที่เห็นภายนอกอย่างสิ้นเชิง
จากภาพโมเดลบ้านจะเห็นได้ชัดว่าที่ดินเป็นรูปร่างสามเหลี่ยม ด้านหน้ากว้างหลังแคบและมีความต่างระดับด้วย ซึ่งจุดนี้สถาปนิกไม่ได้ปรับพื้นที่ให้เท่ากัน แต่ใช้ความต่างระดับให้เป็นประโยชน์ในการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้งานอย่างมีกลยุทธ์
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
อาคารด้านหน้ามีสองชั้น จากโรงรถเข้ามาจะมี พื้นที่นั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องนั่งเล่นสำหรับครอบครัวที่ชั้นบน ทั้งสองชั้นเชื่อมต่อกันอย่างราบรื่นด้วยการทำโถงสูงสองเท่าและบันไดวนคอนกรีตขนาดใหญ่สร้างจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบการใช้งาน องค์ประกอบโครงสร้าง และองค์ประกอบความงามหลักของบ้าน เพิ่มความโดดเด่นชวนให้โฟกัสสายตา สถาปนิกยังเพิ่มความเชื่อมต่อกันทั้งในมิติของพื้นที่และมิติทางสายตากับลานกลางบ้าน ผ่านประตูกระจกที่เปิดได้กว้างและผนังบล็อกช่องลม ช่วยให้ระบายอากาศแบบข้ามกันได้ และรับแสงธรรมชาติได้ราบรื่นทั่วทั้งบ้าน
เดินตามบันไดวนขึ้นมาจะเป็นห้องพักผ่อนสำหรับครอบครัวโล่งๆ รอบด้านมีหน้าต่างไม้แบบบานพับ หน้าต่างบานเฟี้ยมเคลือบอัลคาไลน์ และผนังอิฐช่องลมที่ออกแบบอย่างมีกลยุทธ์ ช่วยให้แสงธรรมชาติและการระบายอากาศส่องเข้ามาภายในได้อย่างเต็มที่ ลดความจำเป็นในการใช้แสงไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานได้เป็นอย่างดี
จากอาคารสองชั้นข้างหน้า จะมีพื้นที่ลาดเอียงสูงเป็นเนินด้านหลัง ส่วนนี้จะสร้างอีกหนึ่งอาคารเป็นห้องนอนส่วนตัวแยกออกจากส่วนกลางและห้องน้ำ ถูกผสานเข้ากับการออกแบบอย่างพิถีพิถันด้วยการรวมลานกลางและใส่สะพานเชื่อมต่อระหว่างอาคาร เป็นบ้านที่ไม่เหมือนใครและมีเฉพาะสถานที่นี้ ซึ่งนอกจากจะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่แบบไม่ต้องปรับอะไรเพิ่มมาก
ลัสะพานที่เชื่อมห้องนอนใหญ่กับส่วนอื่นๆ ของบ้าน ใช้งานได้จริงและมีความสวยงาม ช่วยให้เปลี่ยนผ่านระหว่างพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกันก็สร้างความประทับใจทางสายตาได้อย่างน่าทึ่ง นอกจากนี้ ต้นไม้ที่มีอยู่ซึ่งยังคงได้รับการอนุรักษ์และผสานเข้ากับการออกแบบสะพานอย่างร่มรื่น ยังเพิ่มสัมผัสแห่งความมีเสน่ห์ตามธรรมชาติและความรู้สึกต่อเนื่องกับภูมิทัศน์อีกด้วย
สำหรับธีมของวัสดุและสี บ้านนี้นำเสนอโทนสีกลางๆ ที่ได้รับการเลือกสรรมาอย่างพิถีพิถัน เพื่อเสริมลักษณะของปริมาตรพื้นที่โดยไม่กลบองค์ประกอบแต่ละส่วน วัสดุและการตกแต่งที่สำคัญที่ใช้ ได้แก่ คอนกรีตเปลือย กระเบื้องพื้นซีเมนต์ กระเบื้องหินธรรมชาติ ไม้สัก และผนังบล็อกช่องลมทาสีขาว โทนสีของวัสดุเหล่านี้ไม่เพียงแต่ให้ความสวยงามทันสมัยเท่านั้น แต่ยังรับประกันความทนทานและง่ายต่อการบำรุงรักษาอีกด้วย
ห้องนอนใหญ่ ที่ส่วนหลังได้รับการออกแบบให้เป็นที่พักผ่อนส่วนตัวพร้อมสวนอันเงียบสงบ เหมาะสำหรับการพักผ่อนไม่มีกิจกรรมรบกวน ตื่นมาก็สามารถรับความสดชื่นจากสวนได้ทันที
แปลนบ้าน