บ้านสี่ชั้นที่สดใสด้วยสีและฟังก์ชัน
สถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแห่งการจัดสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต และกำหนดกระบวนการชีวิตให้เป็นไปตามอุดมคติของผู้อยู่อาศัย เจ้าของบ้านจึงต้องค้นหาความชอบ ผสมผสานการสร้างจุดแข็ง เพื่อจะได้สัมผัสประสบการณ์ในชีวิตในอาคารที่อาจต้องอยู่จนถึงวันสุดท้ายในชีวิต เจ้าของบ้านหลังนี้ก็มีความปรารถนาที่จะมีพื้นที่อยู่อาศัยที่ใกล้ชิดและเชื่อมโยงที่ดีระหว่างสมาชิก นอกจากนี้บ้านยังต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อตอบสนองความต้องการในการอยู่อาศัย การเรียน และการเล่นของลูกๆ ด้วย
ออกแบบ : Time Design
ภาพถ่าย : Minq Bui
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้าน 4 ชั้นหลังนี้ มีพื้นที่ 5.7×9.5 ม. ตั้งอยู่ในเขต Hung Phu เขต Cai Rang เมือง Can Tho ประเทศเวียดนาม หน้าบ้านติดถนนและหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ดังนั้นเพื่อเอาชนะข้อเสียของการหันหน้าไปทางทิศนี้ ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากความร้อนในช่วงบ่าย สถาปนิกจึงเลือกวิธีแก้ปัญหาการออกแบบการป้องกันแสงแดด 3 ชั้นพร้อมๆ กัน ได้แก่ ผนังคอนกรีตโค้ง กันสาดกว้าง 1.4 ม. และฟาซาดเหล็กบานเฟี้ยมกั้นระเบียง
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
จุดเด่นของส่วนหน้าอาคารคือผนังคอนกรีตโค้ง ได้รับแรงบันดาลใจจากความชอบว่ายน้ำของสมาชิกในครอบครัว สถาปนิกจึงเลือกสีน้ำเงินเป็นโทนสีหลักสำหรับทั้งภายในและภายนอกของบ้าน และใช้กระเบื้องแก้วสระว่ายน้ำไฮกลอสที่ช่วยสะท้อนแสงมากรุแทนกระเบื้องทั่วไป ทำให้ส่วนหน้าบ้านมีมิติดูเหมือนน้ำตกไหล รวมทั้งเป็นเกราะป้องกันบ้าน ช่วยลดการแผ่รังสีความร้อน ช่วยให้พื้นที่ใช้งานภายในบ้านคงความเย็นสบาย
ส่วนธีมสีเน้นสีฟ้าและชมพูอมส้มพาสเทล เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ในชั้นล่างมีพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลางพร้อมห้องครัว โต๊ะรับประทานอาหาร และห้องน้ำ บริเวณนี้เต็มไปด้วยแสงธรรมชาติและลม เพราะมีประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ระหว่างสนามหญ้าหน้าบ้าน สนามหลังบ้าน และห้องโถงใหญ่ ทำให้บ้านสว่างและเย็นสบาย ในครัวมีระบบตู้รูปตัว L ช่วยให้มุมห้องครัวดูเรียบร้อยและประหยัดพื้นที่ ในสวนหลังบ้านมีพื้นที่ให้ปลูกต้นไม้ได้หลายต้น เพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติและเพิ่มแรงบันดาลใจในการทำอาหาร
ถัดจากครัวจะมาถึงโซนบันไดพาขึ้นไปที่ชั้นบน ใต้บันไดออกแบบให้ใช้ประโยชน์ได้ โดยทำเป็นพื้นที่นั่งเล่นและชั้นเก็บของสีชมพูส้มขนาดเล็กสำหรับเด็ก ตกแต่งด้วยวัสดุไม้ที่มีมุมโค้งมนเพิ่มความปลอดภัยจากเหลี่ยมมุม ในขณะที่ทำอาหารหรือทำงานบ้านพ่อแม่สามารถสังเกตและพูดคุยกับลูกได้
สำหรับการวางแผนการออกแบบภายใน สถาปนิกก็คิดวิธีแก้ปัญหาในการจัดบ้านหน้าแคบลึกที่มักขาดแสงและการเชื่อมต่อ ด้วยการทำโครงสร้างแยกระดับโดยยึดช่องรับแสงเป็นศูนย์กลาง สร้างที่ว่างแนวตั้งขนาดใหญ่ใส่ความต่อเนื่องและทำให้ขอบเขตระหว่างชั้นถูกเบลอเข้าด้วยกัน
ชั้น 2 มีพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลาง ห้องนอนพ่อแม่ และห้องน้ำ ชานบันไดออกแบบให้กว้างขวางเป็นพิเศษ เพื่อใช้ประโยชน์เพิ่มในพื้นที่อยู่อาศัย เช่น จุดออกกำลังกายสำหรับสมาชิกในบ้าน เป็นความพยายามใช้พื้นที่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ชั้น 3 ก็มีพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลาง โต๊ะทำงานบิลท์ติดผนัง และห้องนอนสำหรับเด็ก หน้าต่างกระจกบานใหญ่ช่วยให้แสงธรรมชาติและให้มุมมองที่กว้าง เพื่อให้เด็ก 4 คนสามารถชมทิวทัศน์ภายนอกได้ ห้องนอนเด็กออกแบบให้น่าสนุก ด้วยการทำทางเข้าประตูเชื่อมต่อกับระบบสไลด์ ทำให้เกิดพื้นที่เล่นในบ้าน เด็กเล็กสามารถเลือกบันไดหรือสไลด์ได้ทุกเมื่อที่ต้องการย้ายจากห้องนอนไปยังพื้นที่อ่านหนังสือ เป็นบ้านสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
แปลนบ้าน