บ้านหลังคาใหญ่กันแดดฝน
สำหรับแนวทางการออกแบบบ้านหลังนี้ Ground One Architects ต้องการให้ออกมาเป็นพักตากอากาศในพื้นที่ชนบท โดยมีแนวคิดหลัก คือ การสร้างพื้นที่ที่ผสมผสานกับภูมิทัศน์โดยรอบ จึงพยายามสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างดีที่สุดผ่านวัสดุที่เรียบง่าย รวมทั้งสร้างพื้นที่กลางแจ้งที่ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยได้ซึมซับวิถีชีวิตในพื้นที่ชนบทได้อย่างสบาย ๆ ผสมผสานกับฟังก์ชันใหม่ ๆ ในบางองค์ประกอบ ช่วยเสริมให้รู้สึกสะดวก เย็นสบาย และใช้งานได้จริงอย่างที่ตั้งใจ
ออกแบบ : Ground One Architects
ภาพถ่าย : Maruf Raihan
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
“Khodeja Villa” ตั้งอยู่ในบังคลาเทศ ด้วยความต้องการผสมผสานอย่างกลมกลืนกับภูมิทัศน์โดยรอบไซต์นี้อยู่ในพื้นที่ชนบทลึก ดังนั้นสถาปนิกจึงพยายามออกแบบด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และตอบสนองต่อบริบทของไซต์ โดยเฉพาะอิฐที่ใช้งานหลายรูปแบบ อาทิ ก่อโชว์แนวธรรมดา ก่อสลับทึบโปร่งให้เป็นช่องลม และองค์ประกอบการออกแบบของเส้นสายตรงไปตรงมา ช่องว่างขนาดใหญ่ใจกลางอาคารทำให้บ้านมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เติมเต็มทิวทัศน์ที่สวยงามของธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องต้องแน่ใจว่าการออกแบบดังกล่าว จะไม่ทำให้ความงามตามธรรมชาติของบ้านเสื่อมโทรมลงเมื่อเวลาผ่านไป
บังคลาเทศก็มีสภาพอากาศที่ไม่ต่างจากบ้านเรา คือ ทั้งร้อนและชื้น ดังนั้นการเลือกปูนเปลือยที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อสภาพอากาศ ฝน แสงแดด ลมพายุ และดูแลรักษาง่ายก็เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ ส่วนประตูหน้าต่างจะทำในขนาดใหญ่ เพื่อให้บ้านเปิดรับลม รับแสงในตำแหน่งและช่วงเวลาที่เหมาะสม ปูนเปลือยดิบที่เสริมความรู้สึกคมชัด ทันสมัย ตัดกับความอบอุ่นของงานอิฐ เหล็กและไม้ สีตามธรรมชาติแบบไม่ปรุงแต่งนี้ที่เข้ากันได้กับสีของพื้นดิน และทำให้บ้านเป็นจุดโฟกัสสายตากลางผืนหญ้าเขียว
แปลนบ้านเป็นรูปคล้ายตัว U ล้อมพื้นที่กลางแจ้งตรงกลางเอาไว้ ส่วนฟังก์ชันภายในจะแบ่งบ้านออกเป็นสองโซน คือ พื้นที่ส่วนกลางใช้งานสาธารณะ และโซนครอบครัวภายใน พื้นที่ส่วนกลางประกอบด้วยพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องพักแขก ตั้งอยู่บริเวณหน้าบ้าน หันหน้าไปทางถนนหรือทางเข้าหลัก โซนครอบครัวภายในประกอบด้วย ห้องนอนและพื้นที่ส่วนตัวอื่นๆ และโดยทั่วไปจะตั้งอยู่ทางด้านหลังบ้าน ห่างจากพื้นที่ส่วนกลางที่มีช่องว่างขนาดใหญ่และบันไดกั้น สร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัวแก่ผู้พักอาศัย และได้เพลิดเพลินกับพื้นที่ของตนเองโดยไม่ถูกรบกวน
แนวคิดการออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และความสดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีนี้นอกจากสถาปนิกจะทำผนังอิฐช่องลมที่รับลมเข้ามาระบายอากาศภายในได้แล้ว ยังทำพื้นที่กึ่งเปิดโล่งขนาดใหญ่(มาก) คั่นระหว่างโครงสร้างทั้งสอง มีบันไดที่ลอยตัวอยู่เหนือพื้นและระเบียงทางเดิน ซึ่งถูกปกคลุมไปด้วยหลังคาแบบดั้งเดิมขนาดใหญ่ (มากเช่นกัน) ที่ช่วยปกป้องผู้อยู่อาศัยจากฝนและแสงแดดได้ดีเยี่ยม
สำหรับห้องนั่งเล่นและทานอาหารด้านหน้าจะพิเศษขึ้นด้วยการออกแบบหลังคาแยกออกมาเป็นหลังคา Slab จัดสวนปลูกหญ้าด้านบน วิธีนี้จะช่วยลดความร้อนที่ส่งต่อจากหลังคาลงมาได้อีกระดับ และยังใช้พื้นที่บ้านออกมานั่งเล่นเปลี่ยนบรรยากาศชมวิวในมุมสูง เป็นการใช้ส่วนประกอบของบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : สำหรับบ้านที่ต้องการทำช่องทางรับลม แต่ไม่อยากให้แสงแดดเข้ามาด้วยมากนัก ก็สามารถใส่ฟาซาดหรือเปลือกนอกของบ้านเป็นบานโปร่งสลับทึบ ไม้ระแนง แผ่นเหล็กปั๊มรู หรืออิฐช่องลม ซึ่งจะมีข้อดีที่หาซื้อง่าย ราคาถูก ทนทาน ไม่เป็นสนิม ตอบโจทย์ได้ทุกสภาพอากาศ แต่ช่องลมแบบนี้จะมีข้อเสียที่รูจะค่อนข้างใหญ่พอที่แมลงจะสามารถเข้าบ้านทางนี้ รวมถึงฝุ่น ควัน ฝนที่เข้าสู่ตัวบ้านได้เช่นกัน การใส่ช่องลมจึงต้องมองหาจุดติดตั้งที่เหมาะสม ใส่มุ้งลวด หรือมีประตูกระจกบานเลื่อนชั้นในอีกชั้น เพื่อให้เลือกเปิดหรือปิดได้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ |
แปลนบ้าน