เมนู

สองหลังคาในหลังเดียว ต่อเติมบ้านเปลี่ยนชีวิต

บ้านหลังคาจั่ว

ต่อเติมบ้านใหม่ให้เข้ากับการใช้ชีวิต

“สถาปัตยกรรมสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้คนได้” คำพูดนี้ไม่เกินจริงเลยหากได้นักออกแบบที่เข้าใจบริบทแวดล้อมที่จะสร้างบ้านและความต้องการของเจ้าของบ้าน เพื่อให้ได้บ้านที่ดีซึ่งมันไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่หรือหรูหรา แต่ต้องดีต่อการอยู่อาศัยและสร้างคุณภาพในการใช้ชีวิต เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ที่ซ่อนตัวอยู่ในถนนที่ค่อนข้างสงบบนชายฝั่งทางเหนือตอนล่างของซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จากบ้านหลังกะทัดรัดที่สร้างมาหลายสิบปีถูกเปลี่ยนรูปแบบโดยสถาปนิก Benn & Penna เป็นครอบครัวที่เหมาะสำหรับการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด

ออกแบบBenn and Penna
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านแฝดสองหลังคาในหลังเดียว

บ้านสีขาวดำแบ่งส่วนใช้งานผ่านสี

โครงการนี้เป็นการแทรกบ้านพักสองหลังเพิ่มเข้ามาในบ้านหลังเดิมที่มีอาคารเดียว เพื่อเป็นห้องนอนและพื้นที่อำนวยความสะดวกของเจ้าของบ้านเอง ส่วนอีกห้องหนึ่งเป็นห้องนอนของเด็ก ๆ ในขณะที่ต้องการให้แต่ละส่วนใช้งานมีความเป็นสัดส่วนแต่พื้นที่มีขนาดเล็ก ไม่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างอาคารแยกกัน จึงใช้วิธีต่อเติมบ้านชั้นที่ 2 ให้เป็นหลังคาจั่ว 2 อาคารแล้วเชื่อมต่อกันด้วยทางเดิน เป็นเหมือนฝาแฝดอิน-จันที่มีบางส่วนติดกันและบางส่วนแยกเป็นอิสระจากกัน เปลือกห่อหุ้มบ้านใช้ซีดาร์สีดำล้อมรอบเพื่อกำหนดรูปแบบที่โดดเด่นออกมาจากชั้นล่างที่เป็นสีขาว ภายในและภายนอกเน้นธรรมชาติและเป็นอิสระ

บ้านเก่าต่อเติมใหม่ด้านหลัง


อาคารเก่าด้านหน้าเป็นบ้านโทนสีขาว-เทาทรงหลังคาจั่วสไตล์โคโลเนียลขนาดกะทัดรัด ส่วนต่อเติมหลังคาจั่วสีดำอยู่ด้านหลัง เมื่อมองจากถนนจะเห็นความเข้ากันได้ระหว่างเก่า-ใหม่ที่ไม่ขัดแย้งกัน

เฉลียงนั่งเล่นนอกบ้าน

นักออกแบบเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยเป็น จากบ้านที่ถูกล้อมรอบด้วยผนังทึบค่อนข้างมากและไม่มีแสงสว่าง มาเป็นบ้านสองชั้นที่เต็มไปด้วยแสงธรรมชาติ ผ่านประตูบานกว้างและผนังกระจกใสในตำแหน่งต่าง ๆ เชื่อมต่อเฉลียงปูไม้ออกมาด้านนอก เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบครอบครัวแบบเปิดโล่งต่อเชื่อมกันได้ระหว่างภายในและภายนอก ใช้เป็นมุมพบปะสังสรรค์ในครอบครัวและทำกิจกรรมยามว่าง ช่องว่างขนาดใหญ่ด้านทิศเหนือนำแสงเข้าไปในศูนย์กลางของบ้าน ในมุมที่แสงรุนแรงในช่วงกลางวันจะถูกทำให้ soft ลงโดยผนังซีดาร์สีดำ กันสาดไม้ระแนง

บ้านหลังคาสูงดีไซน์แปลก

บ้านโถงสูงที่โปร่งสว่างเชื่อมต่อระหว่างชั้น

ชั้นล่างใช้โทนสีขาวและงานไม้เป็นหลัก ทำให้อารมณ์ของบ้านอบอุ่นและผ่อนคลาย ออกแบบแปลนเป็นพื้นที่เปิดโล่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชื่อมต่อการใช้งานในแต่ละฟังก์ชันอย่างลื่นไหล โดยใช้การยกระดับพื้นเพื่อแยกการใช้งานโดยที่ไม่ต้องก่อผนังปิดทึบ ทำให้การสัญจรเข้าถึงกันได้ง่ายและยังช่วยให้แสง ลม เดินทางภายในได้สะดวกกว่าเดิม ส่วนของหลังคาค่อนข้างสูงมากกว่าบ้านปกติ 2 เท่า (double space) ทำให้บรรยากาศบ้านโดยรวมยิ่งโปร่งสว่าง และสามารถมองเห็นสื่อสารกันได้ระหว่างชั้น เป็นการสร้างความต่อเนื่องทั้งในระนาบแนวนอนและแนวตั้ง

บ้านโถงสูง

จากชั้นบนที่เจาะเป็นโถงสูงมองลงมาจะตรงกับมุมทานอาหารพอดี ทั้งสองชั้นจึงไม่ถูกตัดขาดออกจากกัน สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดให้กับสามชิกในครอบครัว

บ้านไม้สีดำ

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

ช่องแสงเพิ่มความสว่างลดความขรึมของสี

บนชั้นสองที่ต่อเติมขึ้นใหม่เน้นโทนสีดำ-ขาว ให้รู้สึกได้ถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนจากชั้นล่าง ปีกหนึ่งของบ้านเป็นห้องนอนเจ้าของบ้าน อีกปีกหนึ่งเป็นห้องนอนของเด็ก ๆ ซึ่งถูกเชื่อมต่อกันด้วยโถงทางเดินที่มีระแนงไม้เป็นซี่ ๆ ข้างบน ทำให้บ้านรับแสงสว่างได้โดยแทบไม่ต้องเปิดไฟฟ้าส่องสว่างในตอนกลางวัน จากการเลือกใช้สีขาวในพื้นหลังกว้าง ๆ และช่องแสง ทำให้ที่นี่เป็นบ้านสีดำที่ออกแบบมาให้ไม่รู้สึกว่าบ้านมืดทะมึนจนดูน่ากลัว

ห้องนอนหลังคาจั่วสูง

มิติของแสงและเงาในบ้าน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย วิธีการจัดแปลนบ้าน นอกจากเป็นการจัดสรรแบ่งขอบเขตแต่ละพื้นที่การใช้สอยให้เป็นสัดส่วนลงตัวแล้ว ยังเป็นช่องทางหนึ่งในการจัดการปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวได้ด้วย เช่น บ้านโถงสูงเจาะเชื่อมระหว่างบ้านสองชั้น ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระนาบแนวตั้งพื้นที่ที่เปิดเข้าถึงกันได้ง่ายสามารถมองเห็นและสื่อสารระหว่างชั้นได้ ไม่ว่าจะอยู่ชั้นบนหรือชั้นล่างก็ยังไม่ขาดการติดต่อ

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด