บ้านโรงนาสไตล์โมเดิร์น ผสมกลิ่นอายเก่าใหม่ได้ลงตัว
แรงบันดาลใจในการสร้างบ้านในฝันของแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไปตามความชอบ รสนิยม และประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ บางคนอาจจะเห็นความสดชื่นของธรรมชาติ ต้นไม้ หรือธรรมชาติรอบ ๆ ตัว บางคนอาจจะชื่นชอบในเทคโนโลยี ความล้ำยุคของวัสดุ แต่สำหรับบ้านหลังนี้มีที่มาน่าสนใจตรงที่มีแรงจากการแต่งเพลงของ Claude Debussy ที่ว่า ‘เพลงคือช่องว่างระหว่างโน้ต’ นักออกแบบจึงให้ความสนใจกับการใส่ช่องว่าง ให้บ้านมีความเป็นสาธารณะและส่วนตัว (public and private) และที่ว่างที่อยู่ระหว่างกลาง ทำให้บ้านเกิดความงาม รู้สึกความสงบ ที่นำไปสู่ความโล่งใจ
ออกแบบ : Inbetween Architecture
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บ้านโรงนาโมเดิร์นรูปตัว L จัดภายในแบบ open plan
บ้านหลังคาจั่วหลังนี้ถูกขนานนามว่า “บ้านสไตล์โรงนาในเมือง” เป็นส่วนต่อเติมออกมาบ้านเดิมที่สร้างตั้งช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 โจทย์โดยสรุปที่เจ้าของบ้านต้องการคือ บ้านสำหรับใช้ชีวิตในปัจจุบันและในอนาคตที่มีความสมดุลในด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน มีโซนที่ว่างสำหรับทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้น สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ง่าย
สถาปนิกจึงคิดรูปแบบบ้านที่จัดแบบ open plan โดยรื้อห้องครัวหลังคาเพิงหมาแหงนที่มีอยู่เดิมออกไป แล้วเติมส่วนขยายใหม่ที่รวมเอาห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น และห้องทำกิจกรรมที่ยืดหยุ่นเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังทำการการปรับปรุงบ้านเก่าให้รองรับได้ 3 ห้องนอนห้องน้ำขนาดครอบครัว 2 ห้อง ห้องสุขา 2 ห้อง ห้องซักรีดและห้องเก็บของ เพื่อรวมส่วนของบ้าน ‘เก่าและใหม่’ ให้ไหลลื่นต่อเนื่องและใช้งานได้ง่ายขึ้น
ตัวบ้านใหม่วางแผนผังเป็นรูปตัวแอล ผนังปิดด้วยให้เพื่อให้คงความรู้สึกอบอุ่นสไตล์โรงนา แต่ใส่รูปแบบช่องเปิด ช่องแสงที่มีขนาดใหญ่และดูทันสมัยขึ้น การเชื่อมต่อพื้นที่บ้านออกไปยังส่วนใช้ชีวิตอิสระที่ลานกลางแจ้งผ่านประตูสไลด์บานใหญ่ ชี้ให้เห็นว่าในขณะที่บ้านจำเป็นต้องมีความแข็งแรง แต่ก็ต้องมีองค์ประกอบของความสนุกสนานที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้
จัดพื้นที่ในบ้านตามรูปแบบการใช้งานจริงทุก ๆ วัน
ในด้านรายละเอียดของการตกแต่ง และกำหนดพื้นที่เพื่อให้ใช้งานได้จริงในทุก ๆ วันตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย สถาปนิกจึงต้องสอบถามกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน จากนั้นจึงนำมาวางแผนเติมความสะดวกและสบายลงไป สรุปออกมาเป็นการจัดส่วนของการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันเอาไว้ในพื้นที่เดียว คือ มุมทานอาหาร ครัว มุมนั่งเล่น ที่เชื่อมต่อถึงกันได้หมด ประตูหน้าต่างทำขนาดใหญ่เปิดรับแสงธรรมชาติ ในพื้นที่รับประทานอาหารจัดวางตำแหน่งหน้าต่าง โดยคำนึงถึงการใช้งานทั้งของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงในบ้าน จึงเห็นหน้าต่างแนวนอนที่สูงกว่าพื้นเล็กน้อย ทำให้สัตว์เลี้ยง (หรือสมาชิกมนุษย์ตัวน้อย) มองเห็นภายนอกได้ถนัด
ที่นั่งข้างหน้าต่างที่สามารถมองเห็นลานบ้าน ทำให้ตัวบ้านกับพื้นที่กลางแจ้งไม่ถูกตัดขาดออกจากกัน
รูปแบบชีวิตประจำวันของคุณพ่อ ชื่นชอบการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยเครื่อมดื่มถ้วยโปรด พร้อมกับการอ่านหนังสือพิมพ์รับข่าวสาร สถาปนิกจึงแนะนำว่าควรวางตำแหน่งห้องครัวและโต๊ะรับประทานอาหาร ในจุดที่รับแสงสว่างในยามเช้าได้ดี ห้องครัวจึงถูกวางไว้ตรงกลางบ้านซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นตำแหน่งที่มืดที่สุด แต่ทำการแก้ไขด้วยการติดช่องสกายไลท์บนหลังคาเพื่อเปิดรับแสงสว่างให้กระจายเข้ามาตรง ๆ จากด้านบน เมื่อมารวมกับการเชื่อมต่อพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารและกลางแจ้งผ่านประตูกระจกบานใหญ่ ก็ยิ่งทำให้บ้านดูผ่อนคลายและรับแสงได้มากขึ้น
เปิดพื้นที่เชื่อมต่อทุกส่วนของบ้านเข้าด้วยกัน
ห้องนั่งเล่นและห้องอ่านหนังสือ เชื่อมต่อกับห้องครัวและโซนรับประทานอาหาร ผ่านประตูแบบ Pocket door ที่เลื่อนเก็บเข้าผนังได้หมดเปิด-ปิดได้แบบยืดหยุ่น ในระหว่างวัน เจ้าของบ้านมักเลือกเปิดห้องนั่งเล่นเปิดให้สเปซต่อเนื่องกับครัว คนที่ทำอาหารอยู่จะสามารถมองทะลุผนังกระจกออกไปเห็นวิวลานด้านหลัง ในเวลากลางคืนบานเลื่อนขนาดใหญ่จะช่วยให้ห้องนั่งเล่นเต็มไปด้วยความรู้สึกแสนสบายและอบอุ่น
ส่วนเพิ่มเติมของบ้านที่เชื่อมต่อกับสิ่งปลูกสร้างเก่าที่มีอยู่ในบริเวณโดยรอบ ขยายพื้นที่นั่งได้อย่างสะดวกสบายภายในบริบทที่ยังคงความรู้สึกร่วมสมัย เก็บความอบอุ่นแบบโรงนาเดิม ๆ เอาไว้ไม่ให้แปลกแยก แต่ใส่ความสะดวกและเติมสภาวะสบายให้บ้านใช้งานได้ง่ายขึ้นคงความน่าอยู่ไปอีกนานหลายๆ ปี