บ้านดินอัด
ระยะนี้เราจะเห็นงานพัฒนาหมู่บ้านห่างไกลในจีนหลายโปรเจ็ค ตั้งแต่ห้องน้ำ ห้องสมุด ไปจนถึงอาคารบ้านเรือนที่มีรูปแบบทันสมัยขึ้นในราคาไม่แพง ให้คุณภาพชีวิตที่ดีกระจายไปอย่างทั่วถึง ในหมู่บ้าน Xialapu เมือง Baoshan มณฑล Yunnan ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นมีความตั้งใจสร้างอาคารรวม จุดประสงค์เพื่อปรับปรุงและแก้ปัญหาความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุและเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในหมู่บ้าน ซึ่งเด็ก ๆ บางคนจะต้องเดินทางไกลไปโรงเรียน ถ้ามีอาคารให้พวกเขาอยู่ก็เดินทางไปกลับโรงเรียนได้สะดวกยิ่งขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมดี คุณภาพชีวิตก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
ออกแบบ : No10-Architects
ภาพถ่าย : Xianzhi Huang, Yutong Wu
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
หมู่บ้าน Xialapu ตอบสนองต่อนโยบายบรรเทาความยากจนและการย้ายถิ่นฐานของประเทศในปี 2018 โดยดึงผู้คนที่กระจัดกระจายมาอยู่ในอาคารรวม 22 ห้อง ในชุมชนนี้เปลี่ยนจากเดิมที่สร้างกระจายตามตามใจ เป็นการสร้างตามผังรูปพัดที่กำหนดไว้แล้ว ขณะที่สถาปัตยกรรมของหมู่บ้านก็เปลี่ยนไปจากบ้านดินแบบดั้งเดิม กลายเป็นอาคารพาณิชย์และบ้านโครงเหล็กที่ทันสมัย ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นระบุว่าต้นทุนการก่อสร้างต่ำ ทีมงานจึงวางแผนก่อสร้างอาคารจาก “ดิน” ด้วยวัสดุในท้องถิ่นและสืบสานรูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิมในท้องถิ่น เพื่อรักษาความทรงจำร่วมกันของชาวบ้าน
โครงการนี้ใช้กลยุทธ์การก่อสร้างของ “วัสดุในท้องถิ่น ช่างฝีมือในท้องถิ่น และเทคโนโลยีในท้องถิ่น” เพื่อตอบสนองความต้องการในการก่อสร้างต้นทุนต่ำ และเพื่อให้มั่นใจถึงรูปลักษณ์และความสะดวกสบายในการอยู่อาศัยของบ้าน โดยใช้ “ดิน” เป็นผนังรับน้ำหนัก โดยทีมงานได้พยายามฝึกช่างฝีมือในท้องถิ่นให้มีทักษะดินอัดสมัยใหม่ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บ้านแข็งแรงทนทานมากขึ้น โดยปรับอัตราส่วนวัสดุดินให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของผนัง ในโครงสร้างจะตั้งคานแหวนคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาโครงสร้าง เสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้าง รวมถึงใช้แบบหล่อโลหะผสมอลูมิเนียมในการสร้างผนังดินอัด วิธีการอัดเชิงกลนี้ช่วยเพิ่มความเรียบและความแน่นของผนังดินได้อย่างมาก
ตัวอาคารมีสองชั้น แบ่งออกเป็นสองฟาก โดยสร้างกำแพงอิฐสีแดงตรงกลางพื้นที่ 3 เมตร เพื่อแยกส่วนภายในและภายนอกของอาคาร กำแพงอิฐสีแดงนี้ไม่เพียงแต่กั้นมุมมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังทำหน้าที่เป็นฉากกั้นสำหรับทางเดินภายในอีกด้วย จากอาคารไปทางทิศเหนือ 100 เมตรเป็นโรงเรียนอนุบาลในชนบท ซึ่งเด็ก ๆ จะเดินทางไปง่ายๆ ตอนเย็นผู้สูงอายุก็จะมานั่งรอหลานๆ ที่ม้านั่งคอนกรีตข้างหน้า
ในความทรงจำของสถาปนิกจะมีทางเข้าหมู่บ้านที่ปลูกต้นไม้ใหญ่เอาไว้ ผู้คนในชุมชนจะมารวมตัวนั่งรอบต้นไม้ใหญ่และพูดคุยกันเรื่องสัพเพเหระ จึงเชื่อว่าสถานที่อันเป็นเอกลักษณ์นี้เป็นแหล่งรวมชีวิตทางจิตวิญญาณของชาวบ้านหลายชั่วอายุคน จึงต้องการใส่ความรู้สึกนี้ลงไปในโครงการ เปิดทางไปยังลานเล็กๆ ในอาคารด้านตะวันตก ซึ่งถูกปิดล้อมทั้งสามด้าน และออกแบบให้มีบันไดที่ปลายด้านหนึ่งของทางเดินเชื่อม จัดเป็นลานกรวดและปลูกต้นไม้ รวมถึงบริเวณทางเข้า ด้วยวิธีนี้ จึงสร้างพื้นที่เสมือน “ทางเข้าหมู่บ้าน” ในอาคารได้สำเร็จ
ทุกบ่ายผู้สูงอายุจะมานั่งที่นี่ ทำงานอดิเรกหรือพูดคุยกันระหว่างรอหลานๆ เดินทางกลับจากโรงเรียน
หมู่บ้านนี้มีอากาศอบอุ่น แต่ก็ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศมรสุมกึ่งร้อนชื้น และยังมีความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนมาก ตามสภาพภูมิอากาศแบบภูเขา เพื่อแก้ปัญหานี้ ทีมงานจึงยึดหน้าที่ทางสถาปัตยกรรม คือ “ลดร้อนในตอนกลางวันและป้องกันความหนาวเย็นในตอนกลางคืน” โดยเพิ่มร่มเงาผ่านลานบ้าน ระเบียง และบันไดบนทางเดินชั้นล่าง มาช่วยบังแสงแดดและให้การระบายอากาศที่เหมาะสม อาคารจึงเย็นในช่วงกลางวัน ส่วนของผนังดินอัดภายนอกก็มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บความร้อน ในระหว่างวันผนังดินอัดจะดูดซับความร้อนเอาไว้แล้วค่อยๆ คายความร้อน ทำให้บ้านอุ่นตอนกลางคืน
แนวคิดหนึ่งของอาคารรวมนี้ คือ รักษาฟังก์ชันการพักอาศัยไว้ในห้องเดียวและจัดสรรพื้นที่สำหรับใช้ร่วมกันให้มากที่สุด นอกจากลานกลางแจ้งแล้ว ทีมงานได้ขยายทางเดินยาวออกไปมากกว่า 20 เมตร และเพิ่มความกว้างของทางเดินที่มากกว่าข้อกำหนดจาก 1.2 เมตร เป็น 2.4 เมตร ด้วยวิธีนี้ นอกจากผู้อยู่อาศัยจะใช้สัญจรแล้ว ยังใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ตั้งโต๊ะรับประทานอาหารเย็น จัดโต๊ะยาวสำหรับงานเลี้ยงในเทศกาลพิเศษได้ เด็กๆ สามารถวิ่งเล่นในทางเดินได้ตามต้องการ เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศการใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในชั้นนี้ไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ระเบียงได้ จึงไม่สามารถยกเตาออกมาทำอาหารข้างนอกหรือระบายควันได้ ดังนั้นทางเดินนี้จึงเจาะช่องว่างด้านบนเอาไว้ เพื่อให้เป็นช่องทางระบายควันออกจากห้องพักระหว่างทำอาหาร โดยที่ไม่รบกวนบ้านข้างๆ
ผนังด้านตะวันตกของห้องที่ชั้นหนึ่งเป็นหน้าต่างสูงเล็กๆ ในขณะที่ประตูระเบียงด้านตะวันตกที่ชั้นสอง ได้รับการออกแบบให้ผสมผสานระหว่างประตูทึบและหน้าต่างกระจกขนาดเล็ก การออกแบบนี้ไม่เพียงแต่สามารถตอบสนองความต้องการด้านแสงสว่างภายในอาคารได้เท่านั้น แต่ยังหลีกเลี่ยงความร้อนภายในอาคารที่เกิดจากแสงแดดจากทิศตะวันตกด้วย
หลังจากก่อสร้างเสร็จ ทีมงานได้กลับมาที่หมู่บ้าน Xialapu เพื่อเยี่ยมชมและถ่ายทำโครงการนี้อีกครั้ง จนถึงตอนนี้ มีครอบครัว 6 ครอบครัว ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในอาคารนี้แล้ว และชาวบ้านที่เหลือก็พร้อมที่จะย้ายเข้าไปทีละครอบครัว ในฐานะสถาปนิกรู้สึกโล่งใจมากที่อาคารหลังนี้สร้างประโยชน์ให้ชาวบ้าน และได้ผลตอบรับอย่างดีจากผู้สูงอายุและเด็กๆ
แปลนอาคาร