เมนู

บ้านผนังอิฐ วัสดุเดิม ๆ เติม texture ให้บ้านสวย

บ้านผนังอิฐ

ผนังอิฐเรียงลวดลาย เพิ่มลูกเล่นให้บ้านมีมิติ

บ้านอิฐดูอย่างไรก็อบอุ่น ด้วยคุณสมบัติของตัววัสดุเอง สี เนื้อสัมผัสที่ไม่เหมือนวัสดุอื่น ๆ ทำให้แม้ว่าโลกจะหมุนไปเร็วเพียงไหน แต่บ้านที่สร้างด้วยก้อนอิฐก็ยังเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้คนนำมาใช้สร้างบ้าน เพียงแต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้ดูแปลกใหม่ ไม่ซ้ำแบบเดิม ๆ อย่างการนำมาเรียงเป็นลวดลาย หรือใช้ทำเป็นฟาซาด เป็นต้น ตัวอย่างบ้านหลังนี้ในออสเตรเลียเป็นบ้านอีกหนึ่งหลังที่นำอิฐมาประยุตก์ใช้กับบ้านยุคใหม่ได้อย่างกลมกลืน ช่วยสร้าง Texture และเสน่ห์ของธรรมชาติที่ทำให้บ้านดูเป็นมิตรชวนมองครับ

ออกแบบDavidboyle Architect
ภาพถ่ายBrigid Arnott
เรียบเรียงบ้านไอเดีย

คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่

บ้านหน้าแคบเล็ก ๆ ที่เห็นอยู่นี้ สร้างอยู่ในเขตชานเมืองออสเตรเลีย เป็นโปรเจ็ครีโนเวทจากอาคารเดิมที่ไม่เห็นวิวด้านนอกเพราะถูกปิดล้อมด้วยระเบียงและกำแพงสูง 10 เมตรทางทิศเหนือ บ้านจึงมีทิศทางให้แสงเข้าน้อย นอกจากมีข้อจำกัดที่ลักษณะพื้นที่ ตัวอาคารเดิมที่ดูอับทึบแล้ว ยังเป็นเขตอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมทำให้ต้องวางแผนการสร้างอย่างรัดกุม สถาปนิกเลือกใช้อิฐรีไซเคิลและไม้เก่ามาใช้งานเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับบ้านอื่น ๆ ในระแวกนี้ แต่ออกแบบให้ดูใหม่ขึ้น ทันสมัยขึ้นด้วยการวางจังหวะช่องแสงขนาดใหญ่เปิดรับแสงได้มากกว่าเดิม

ช่องแสงขนาดใหญ่บริเวณผนังบนขวามือช่วยรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้าน ภายในจึงสว่างและไม่อับชื้น ผนังอิฐรีไซเคิลเป็นตัวเอกของบ้านหลังนี้ ที่ให้ความรู้สึกมั่นคงแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันก็เติมความอบอุ่นแบบบ้าน ๆ ไปพร้อม ๆ กัน

หน้าบ้านมีช่องประตูขนาดใหญ่ที่เปิดออกไปเต็มผนัง ประตูติดกระจกช่วยเบลอขอบเขตระหว่างภายนอกและภายในได้ดี พื้นบ้านด้านนอกปูด้วยอิฐเป็นลายซิกแซก เมื่อเดินเข้าไปในบ้านจะเห็นพรมปูพื้นลายซิกแซกล้อกันกับพื้นด้านนอก สีของแต่งบ้านเลือกให้เข้ากับสีผนังอิฐสีน้ำตาลอมแดง ทุกพื้นที่ที่ในบ้านติดประตูขนาดใหญ่เปิดโล่งเชื่อมต่อถึงกันแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้อากาศและแสงผ่านจากหนึ่งทะลุไปยังอีกห้องหนึ่งได้ง่าย จากบ้านอับ ๆ ทึบ ๆ กลายเป็นบ้านที่โปร่งสบายให้ความรู้สึกว่ามีขนาดกว้างกว่าที่เป็นจริง

ด้วยพื้นที่หน้าแคบ ๆ สถาปนิกเลือกที่จะแบ่งพื้นที่ใช้งานให้แยกออกเป็นสัดส่วนด้วยการยกพื้นขึ้นแทนที่การแบ่งด้วยผนังหรือพาร์ทิชั่น ในส่วนชั้นวางที่เชื่อมต่อออกไปถึงครัวบิวท์เฟอร์นิเจอร์ชิดติดตามแนวผนังไปจนสุด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้รบกวนพื้นที่สัญจรกลางห้อง

ห้องนั่งเล่นซึ่งเป็นหัวใจของบ้าน ทั้งสองด้านก่อด้วยอิฐเป็นผนังสูงหลายเมตร ทีมงานเจาะภายในให้เปิดโล่งกลายเป็นห้องนั่งเล่นโถงสูง ช่วยให้บ้านดูโปร่งและระบายอากาศร้อนขึ้นสู่ที่สูงได้ดี

ห้องครัวและลานบ้านมีประตูกระจกที่เปิดเลื่อนเชื่อมต่อถึงกัน การเลือกวัสดุพื้นอิฐวางลายซิกแซกเหมือนกันและเพดานระดับที่แตกต่างจากห้องนั่งเล่น จึงเหมือนขยายพื้นที่ครัวออกไปที่เทอเรส จนแทบจะกลายเป็นพื้นที่เดียวกัน

เพดานห้องครัวต่อชายคาออกมาด้านนอกคลุมไปถึงต้นปาล์มขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกำแพง ทำให้มีพื้นที่เอาท์ดอร์ต่อเนื่องกับครัว สมาชิกในบ้านสามารถใช้ตั้งโต๊ะทานอาหาร หรือจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ ได้ ส่วนของชายคานี้เจาะเป็นช่องล้อมต้นไม้ไว้ ทำให้ต้นไม้เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้ โดยไม่ต้องตัดทิ้ง

ห้องน้ำคงคอนเซ็ปการผสมผสานความเป็นธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านในทุกจุด จึงทำประตูเปิดออกไปรับความสดชื่นจากสวนเล็ก ๆ ที่ทำเอาไว้ข้าง ๆ ห้องน้ำ ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำก็จะรู้สึกผ่อนคลาย

พื้นไม้ ผนังอิฐ เป็นวัสดุธรรมชาติง่าย ๆ ที่ทำให้บ้านหลังนี้ดูมีมิติจากสี เนื้อสัมผัส texture ของวัสดุโดยที่แทบไม่ต้องเติมแต่งเพิ่มมากมาย

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ตกแต่งบ้าน


โพสต์ล่าสุด