เมนู

คืนสู่ความเรียบง่าย กับบ้านชานกว้างนั่งรับลม

บ้านอารมณ์ญี่ปุ่น

บ้านยกพื้นสูงหลังเล็กในญี่ปุ่น

ถ้าพูดถึงบ้านญี่ปุ่น สิ่งแรกที่นึกถึงคงเป็นงานไม้ฝีมือช่างพื้นถิ่นที่เข้างานได้เนี๊ยบกริบ ภายในมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมตัวเองสอดแทรกไปในทุกอณู แม้ว่าจะเป็นบ้านโมเดิร์นแต่ก็ไม่ละทิ้งความอบอุ่นเรียบง่าย วัฒนธรรม และสงบเป็นธรรมชาติ อย่างบ้านหลังนี้ก็เป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นที่ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย บางส่วนคงแนวคิดดั้งเดิมแล้วเติมแต่งเส้นสายเรียบง่ายบวกวัสดุใหม่ ๆ เข้าไป ภายนอกภายในเชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหล ทุกส่วนของบ้านเล็ก ๆ นี้เต็มไปด้วยความสะดวกสบายของฟังก์ชันที่สอดรับบริบทรายล้อม สภาพภูมิอากาศ และวิถีชีวิตแบบใหม่ ๆ ได้อย่างละมุนละไม

ออกแบบYasunari
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านยกพื้นชานกว้าง

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านแบบญี่ปุ่นมีชานนั่งเล่นนอกบ้านสบายใจ

บ้านหลังนี้อยู่ใน Fukuoka ประเทศญี่ปุ่น เป็นบ้านหลังคาทรงจั่วมุงเมทัลชีทสีเทาดำ ห้อมล้อมผนังด้วยงานไม้สีน้ำตาลเข้มและสีดำสลับประตูกระจก ตัวบ้านสร้างให้ยกระดับสูงจากพื้นดินเล็กน้อยสไตล์บ้านแบบโบราณ เพื่อระบายความชื้นใต้อาคาร ซึ่งจุดนี้เป็นภูมิปัญญาในการสร้างบ้านดั้งเดิมที่ป้องกันเสื่อทาทามิที่ใช้ปูพื้นขึ้นรานั่นเอง ส่วนหนึ่งของบ้านตีต่อออกมาเป็นชานกลางแจ้ง สำหรับนั่งชมดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ และนั่งทานผลไม้เย็น ๆ พร้อมฟังเสียงกระดิ่งลมที่ผูกกับชายคาอย่างสบายใจชายคา


ผนังไม้ระแนง

ทางขึ้นสู่ตัวบ้านถูกปิดบังเป็นส่วนตัวด้วยระแนงไม้ที่เรียงตัวตลอดแนวบ้าน ไม้ที่มีช่องว่างระหว่างซี่นี้ทำให้บ้านยังคงได้รับแสงและลม มองออกไปเห็นความเคลื่อนไหวภายนอกได้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหม่ ๆ ที่เติมเข้ามาให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตมากขึ้น

เก็นคัง (Genkan) และ โดมะ (doma)

ทักทายด้วยกลิ่นอายญี่ปุ๊นญี่ปุ่น

ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยปราการด่านแรกของบ้านที่ให้สัมผัสแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมกับโดมะ (doma) หรือพื้นที่ระดับเดียวกับพื้นดิน ปูด้วยหินขัดจำลองความรู้สึกของดิน ด้านขวามือมีตู้สำหรับเก็บรองเท้าและมีชั้นวางให้เรียงรองเท้า ซึ่งเติมความเก๋แบบโมเดิร์นด้วยการเจาะช่องแสงสกายไลท์ตรงจุดนี้ ถัดไปเป็นโถงทางเดินเข้าบ้านที่ยกระดับสูงกว่าระดับพื้นดินเล็กน้อย ซึ่งเราเรียกว่าเก็นคัง (Genkan) จากนั้นก็จะเป็นประตูบานเลื่อนแบบญี่ปุ่น (Fusuma) ที่ขึ้นโครงด้วยไม้ทำเป็นตารางแต่บ้านนี้เพิ่มความสวยงามด้วยการใส่ลวดลายประณีตที่ด้านล่าง

ประตูเปิดได้กว้าง

ใส่ฟังก์ชันใหม่ ๆ ในบ้านญี่ปุ่น

เมื่อเข้าสู่ภายในจะเห็นว่านักออกแบบจัดสัดส่วนพื้นที่ส่วนกลาง หรือพื้นที่ส่วนรวมของครอบครัวให้เป็นห้องเดียวโล่ง ๆ แบบ (open plan) ไม่มีผนังทึบกั้นแบ่ง แล้วรวมเอาฟังก์ชันนั่งเล่น ครัว และมุมรับประทานอาหารเอาไว้ด้วยกัน ผนังด้านข้างมี 2 ชั้น ชั้นในเป็นระแนงไม้ซี่ ๆ  ชั้นนอกเป็นบานกระจกสามารถออกได้กว้างมากจนดูคล้ายกับการนั่งพักผ่อนในศาลา รับสายลมเอื่อย ๆ เข้าสู่พื้นที่ภายในได้เต็มที่ มองเห็นท้องทุ่งที่อยู่ห่างออกไปแบบไร้อุปสรรค และซึมซับบรรยากาศธรรมชาติได้ทุกเมื่อที่ต้องการ

ในพื้นที่ส่วนรวมจัดแปลนแบบเปิด สมาชิกในบ้านสามารถมานั่งใช้งานได้พร้อม ๆ กันโดยไม่รู้สึกอึดอัด นอกจากการเชื่อมต่อพื้นที่ภายในให้เข้าถึงกันได้ง่าย ใช้งานได้สะดวกแล้ว ยังขยายพื้นที่บ้านออกไปยังชานกว้างอย่างแนบสนิท ทำให้บ้านลายเป็นพื้นที่กึ่งกลางแจ้งที่น่าสบาย

รายละเอียดการตกแต่งบ้าน

รายละเอียดเนี๊ยบๆ นี่แหละญี่ปุ่น

รายละเอียดของงานไม้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของช่างญี่ปุ่น ที่ใช้เครื่องจักรน้อยชิ้นหรือแทบไใ่ใช้เลยเน้นใช้ hand tools และความชำนาญจากประสบการณ์ แต่ไม้แต่ละชิ้นก็มีขนาดได้มาตรฐานเท่ากัน การเข้าไม้ งานข้อต่อไม้ (wood joint) พอดีเป๊ะ จนต้องอุทานว่า “ญี่ปุ่นนี่มันญี่ปุ่นจริงๆ ”

ห้องนั่งเล่นชงชา

ห้องนั่งเล่นชงชาชมดอกไม้สไตล์ญี่ปุ่นปูด้วยเสื่อทาทามิ (Tatami) ที่ทอจากต้นกก ซึ่งจะช่วยเก็บความอบอุ่นในฤดูหนาว ในยุคก่อน ๆ ชาวญี่ปุ่นใช้เสื่อทาทามิเป็นมาตรวัดขนาดห้องด้วยว่าโดยเสื่อแต่ละผืนจะมีขนาดมาตรฐานคือ 90 x 180 เซนติเมตร เมื่อมีเสื่อทาทามิแล้วก็ต้องมีเบาะรองนั่ง (Zabuton) และแจกันดอกไม้หรือภาพวาดสวย ๆ ก็พร้อมทำหน้าที่เป็นจุดพักสงบจิตใจในบ้าน

walk-in closet ไม้

ความเรียบง่ายแบบมินิมมอล เป็นอีกหนึ่งหัวใจของบ้านญี่ปุ่นยุคใหม่ ทุกอย่างเรียบง่าย ไม่มีรายละเอียดที่เกินความจำเป็น เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่อันจำกัดให้ได้มากที่สุด โทนสีที่ใช้เป็นสีกลาง ๆ และใช้วัสดุไม้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเดินไปที่จุดไหนก็รู้สึกได้ถึงความเรียบโล่งสบายตา

ตกแต่งห้องน้ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย :  ภูมิปัญญาในการสร้างบ้านดั้งเดิมในแต่ละท้องถิ่นนั้น ผู้คนใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมานับสิบนับร้อยปี ลองผิดลองถูกจนได้สิ่งที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสภาพภูมิอากาศ อย่างบริเวณที่มีความชื้นสูงก็มักจะยกตัวบ้านขึ้นเหนือพื้นดิน บ้านเขตหนาวก็เพิ่มพื้นที่รับแสง บ้านเขตร้อนใส่พื้นที่ระบายอากาศ เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย บ้านที่เคยตอบโจทย์แบบเดิมก็อาจจะไม่เข้ากันกับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ อย่างญี่ปุ่นที่มีเอกลักษณ์เหนียวแน่น แต่ปรับเปลี่ยนให้มีความใหม่ขึ้น ทั้งเรื่องการจัดแปลน วัสดุ ดีไซน์ ฟังก์ชัน ก็ทำให้การอยู่อาศัยในบ้านสบายขึ้นและสอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไป

  http://credit-n.ru/kredity-online-blog-single.html http://www.tb-credit.ru/zaim-online.html

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด