
เปิดลานกลางบ้าน สู่ความสดชื่น
“แผ่นดินไหว” เป็นหนึ่งมหันตภัยที่สร้างความสูญเสียมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรือที่อยู่อาศัย บ้านในพื้นที่เขตแผ่นดินไหวจึงต้องคิดหนัก เพราะบางหลังสร้างมาก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่ถ้าเลือกได้เราก็คงจะสร้างบ้านในอนาคตให้สามารถป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหวเอาไว้ก่อน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อย่างผลงานบ้านจาก Case Ornsby ทีมสถาปนิกที่สร้างบ้านใหม่บนพื้นที่เดิมที่เคยพังจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงในนิวซีแลนด์เมื่อปี 2011 การออกแบบบ้านจึงต้องพิถีพิถันทั้งการเลือกวัสดุ การศึกษารูปทรงและลักษณะอาคาร ระบบโครงสร้าง ไปจนถึงการวางตำแหน่งช่องเปิดเพื่อให้ปลอดภัยกับผู้อยู่อาศัยมากที่สุด
ออกแบบ : Case Ornsby
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี 2010/2011 ในเมือง Christchurch ประเทศนิวซีแลนด์ บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนมาก บ้านเดิมที่เคยตั้งอยู่ที่นี่ก็เช่นกัน เจ้าของบ้านใหม่จึงซื้อที่ดินไว้แล้วทำการก่อสร้างบ้านใหม่ โดยมีคอนเซ็ปว่าต้องเข้ากับภาพรวมของเมืองที่มีรากเหง้าอยู่ในภาคการเกษตร และสามารถรับมือแผ่นดินไหวได้ดี ดังนั้นสถาปนิกจึงออกแบบบ้านหลังคาจั่วสูงคล้าย ๆ บ้านฟาร์มตามแบบอังกฤษ ใช้วัสดุและคำนวณโครงสร้างอาคารให้มีความปลอดภัยสูงเมื่อเผชิญกับแผ่นดินไหว บ้านหลังนี้ประกอบด้วยตัวอาคารที่เชื่อมต่อเข้าถึงกันได้ 4 หลัง ล้อมลานกว้างที่เป็นช่องว่างกลางแจ้งที่อยู่ระหว่างแต่ละอาคาร บ้านทั้งสี่หลังรูปร่างคล้ายศาลาเกาะเกี่ยวกันอยู่ ผนังมีช่องเปิดประตูได้กว้างเพื่อให้แสงและลมเข้าสู่ตัวบ้านได้เต็มที่และเปิดรับวิวทิวทัศน์ของพื้นที่ธรรมชาติภายนอก
การตีผนังด้วยไม้สนซีดาร์ในแนวตั้งตลอดทั้งแนวผนังในบ้าน เชื่อมต่อกับภายนอกเปลือกของอาคารทั้ง 4 หลัง ทำให้อาคารทั้งหมดแยกตัวเป็นอิสระแต่ก็ถูกเชื่อมโยงต่อกันเป็นผืนเดียว
ห้องนอนหันหน้าออกสู่ลานกลางแจ้งในบ้าน เปิดประตูออกมาก็พบกับบรรยากาศสบายได้ทันที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะห้องถูกกั้นจากสายตาคนภายนอกด้วยการใช้ตัวบ้านบังเอาไว้ทุกด้าน
วัสดุที่ต้องใช้ในการสร้างบ้านเลือกที่มีน้ำหนักเบาอย่างโครงเหล็กตีปิดทับด้วยไม้ หลังคาเหล็กรีดหรือเมทัลชีท เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว เพราะอาคารที่มีน้ำหนักน้อยและมีความยืดหยุ่นสูงจะได้รับผลกระทบจากแรงแผ่นดินไหวน้อยกว่าอาคารที่มีน้ำหนักมาก การจัดการกับจุดเชื่อมต่าง ๆ ให้มีความสามารถในการถ่ายแรงได้ดีก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่สถาปนิกคำนึงถึง บ้านนี้ทำอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมวางเป็นกลุ่มมีลักษณะเป็นมุมหัก ซึ่งเป็นผังอาคารที่เหมาะกับพื้นที่แผ่นดินไหว
ลูกเล่นบนผนังบริเวณทางเดิน ที่ใช้การตีไม้สลับระหว่างแนวนอนกับแนวตั้ง ช่วยเพิ่มมิติให้บ้านดูน่าสนใจโดยแทบไม่ต้องแต่งเติมอะไรเพิ่ม
การตกแต่งภายในเน้นความเป็นธรรมชาติและการเชื่อมต่อระหว่างภายในกับภายนอกอาคาร เราจึงได้เห็นการผสมผสานไม้ซีดาร์ ไม้โอ๊ค คู่ไปกับพื้นคอนกรีตขัด ซึ่งทำให้บ้านเต็มไปด้วยความอบอุ่นดูผ่อนคลาย แทบทุกด้านของบ้านเปิดผนังกว้าง ติดบานสไลด์กระจกขนาดใหญ่นำพาแสงและลมธรรมชาติเข้ามาสร้างความสบายในตัวบ้านได้ทุกจุด
บานกระจกใสขนาดใหญ่ที่ติดอยู่สองด้านของผนัง ความใสของกระจกเพิ่มความโปร่งสว่างภายในตัวบ้าน ทำให้คนที่อยู่ในบ้านดื่มด่ำกับทัศนียภาพที่เอื้อต่อการพักผ่อนได้ทุกที่ ผนังเปิดนี้ยังเชื่อมกับสวนรอบ ๆ บ้านและชานขนาดใหญ่ที่มีไว้เพื่อให้เป็นพื้นที่สนุกสนานของสมาชิกในครอบครัว พื้นที่กลางแจ้งและพื้นที่ในอาคารของบ้านหลังนี้จึงต่อเนื่องและลื่นไหล
ภายในอาคารนอกจะมีช่องแสงขนาดใหญ่เป็นประตูและบานหน้าต่างแล้ว ยังเพิ่มสกายไลท์ในห้องนั่งเล่นเพื่อรับความสว่างจากแสงธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานจากแสงประดิษฐ์
นอกจากการจัดรูปแบบบ้านให้เห็นสวนและพื้นที่ใช้ชีวิตกลางแจ้งได้แทบทุกส่วนของบ้านแล้ว สิ่งที่บ้านหลังนี้ขาดไม่ได้เลยคือ “สวน” ที่แทรกอยู่ในที่ว่างทุกจุดของตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แคบหรือกว้าง ทางเดินระหว่างตัวบ้าน หรือแม้แต่ที่ว่างระหว่างอาคาร ก็จะมีพันธุ์พืชนานาชนิดปลูกเพิ่มความสดชื่น ให้ตัวบ้านอบอวลด้วยความอบอุ่นและบรรยากาศสบาย ทำให้ที่นี่เป็นบ้านที่จะเติมเต็มความสุขให้กับครอบครัวได้ทุกวันๆ วันไม่มีวันหยุด
แปลนบ้าน