เมนู

10 สาเหตุ สร้างบ้านแล้วงบบาน รู้แล้วจะไม่พลาดอีก | The Owner EP.1

บ้าน งบไม่บาน ทำอย่างไร

The Owner เจ้าของบ้านเล่าเรื่อง

10 สาเหตุที่ทำให้งบประมาณก่อสร้างบานปลาย

สร้างบ้านแล้ว “งบบาน” เป็นปัญหาสามัญที่เจ้าของบ้านเกือบทุกหลังต้องเผชิญ แต่จะบานมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของบ้านเตรียมความพร้อมในงานก่อสร้างไว้อย่างไร หรือแม้แต่ศึกษาข้อมูลเตรียมตัวมาอย่างดีแล้ว ก็อาจพลาดท่าเสียทีกับจุดไม่อาจคาดคิดได้เช่นกันครับ อย่างผมเองตอนสร้างบ้านหลังแรก แม้หน้าที่การงานของตนเองพอจะมีทักษะความรู้ในแวดวงก่อสร้างอยู่บ้าง แต่งบก่อสร้างก็เริ่มบานตั้งแต่งานโครงสร้าง สาเหตุหลักเป็นเพราะรีบเร่งเคร่งครัดกับฤกษ์ยามมากเกินไป จึงไม่ทันตรวจเช็คแบบบ้านให้ดี ๆ ทำให้ต้องปรับแก้สเปคเหล็กโครงสร้างภายหลัง มีผลให้งบโครงสร้างเพิ่มขึ้นมาจากเดิมหลักแสนและค่อย ๆ บานต่อเนื่องเรื่อย ๆ เนื้อหานี้ จึงนำข้อมูลต่าง ๆ มาบอกเล่าจากประสบการณ์ของตนเองและจากประสบการณ์ของผู้เป็นเจ้าของบ้านที่ผมช่วยดูแลให้ อะไรที่เป็นต้นเหตุสำคัญให้งบก่อสร้างบานปลาย อ่านกันครับ

ผู้เขียน : อภิสิทธิ์ สุธาประดิษฐ์

 The Owner เจ้าของบ้านเล่าเรื่อง :  คอลัมน์ใหม่บนเว็บไซต์บ้านไอเดีย เล่าเรื่อง แชร์ประสบการณ์สร้างบ้าน ตั้งแต่การเลือกซื้อที่ดิน ออกแบบ เลือกผู้รับเหมา ตรวจไซต์งานก่อสร้าง กระทั่งตกแต่งภายในเข้าอยู่อาศัยจริง ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริง ปัญหาจริง ในมุมมองเจ้าของบ้าน เพื่อให้ผู้อ่านที่กำลังสร้างบ้านได้เรียนรู้แนวทางสร้างบ้านที่ถูกวิธีไปด้วยกัน อ่านแล้วรับรองได้ว่า ลดปัญหาในงานก่อสร้างได้เยอะเลยครับ ฝากติดตามเพจใหม่ด้วยนะครับ > The Owner เจ้าของบ้านเล่าเรื่อง

1. กำหนดงบก่อสร้างผิดตั้งแต่ต้น

นับเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ที่มาที่ไปของการคำนวณงบประมาณผิดตั้งแต่ต้น มักเกิดจากการดูข้อมูลรีวิวสร้างบ้านราคาถูกจากเพจหรือเว็บไซต์ใด ๆ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้ทำเพจออนไลน์ส่วนใหญ่ ต้องการปั่นกระแสให้เกิดยอดผู้ชมมาก ๆ และราคาบ้านที่ต่ำกว่าปกติ มักเชิญชวนให้เกิดการคลิกเข้าชม กดไลค์ กดแชร์กันมากกว่าบ้านราคาทั่วไป ข้อมูลเหล่านี้จึงถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อได้เสาะหาข้อมูลที่แท้จริงแล้ว กลับพบว่า ราคาดังกล่าวยังไม่รวมหลาย ๆ อย่างครับ เช่น ไม่รวมสุขภัณฑ์ ไม่รวมงานกระเบื้อง ไม่รวมงานไฟฟ้า เป็นเพียงราคาโครงสร้างหลักเท่านั้น หรือแม้แต่บางหลังกลับพบว่า เจ้าของบ้านคุมงานก่อสร้างด้วยตนเอง จึงเป็นปกติที่จะลดต้นทุนต่าง ๆ ไปได้ แต่คนส่วนใหญ่มักไม่ได้สืบหารายละเอียด จดจำแค่เพียงว่า บ้านลักษณะนี้ ค่าก่อสร้างประมาณ 9,000 – 12,000 บาท/ตร.. เท่านั้น เมื่อคิดวางแผนมีบ้านเป็นของตนเอง จึงประเมินงบตามพื้นที่ใช้สอยแบบคร่าว ๆ ยิ่งใครสร้างบ้านโดยไม่มีที่ปรึกษาใด ๆ ติดต่อผู้รับเหมาโดยตรง หากคุณพบกับผู้รับเหมาในข้อถัดไป งบสร้างบ้านย่อมบานปลายอย่างแน่นอนครับ

สำหรับงบก่อสร้างที่แนะนำในปี 2564-2565 พอจะเฉลี่ยคร่าว ๆ ได้ดังนี้

  • 14,000 – 16,000 บาท/ตร.ม. คุณจะได้บ้านทั่วไป ประมาณบ้านในโครงการจัดสรร ไม่เน้นดีไซน์หรือวัสดุตกแต่งมากนัก
  • 16,000 – 20,000 บาท/ตร.ม. บ้านที่เริ่มมีดีไซน์ มีงานตกแต่ง เช่น งานกรุผิวผนัง, มีงานฟาซาด ระแนง
  • 20,000 – 25,000 บาท/ตร.ม. หากคุณอยากได้บ้านประมาณ บ้านที่ลงนิตยสาร เว็บไซต์ บ้านที่ออกรายการทีวี มักเริ่มต้นด้วยเรทราคานี้ โดยจะเน้นงานดีไซน์ที่พอเหมาะ พอดี เลือกใช้วัสดุเกรดดี มักต้องทำงานร่วมกับผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์
  • 25,000 – 35,000 บาท/ตร.ม. บ้านที่เน้นออกแบบพิเศษ มีความยูนีคสูง ผิววัสดุแทบจะไม่เห็นงานฉาบทาสีเลย แต่เต็มไปด้วยการเล่นกับวัสดุ หลายหลังที่ออกนิตยสาร ทีวี ที่มีคนแชร์กันมาก ๆ เช่น บ้านคุณหนึ่ง ณรงค์วิทย์, บ้านคุณบอย พิษณุ ก็เรทราคาก่อสร้างประมาณนี้ครับ

เห็นราคาแล้วตกใจกันใช่ไหม มันไม่เหมือนที่คิดไว้เลยรึเปล่า แต่นั่นหละครับ คือ ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับ อย่าหลงเชื่อข้อมูลลวงจากใครง่าย ๆ เพราะผู้นำเสนอราคาต่ำเกินจริง มักมีผลประโยชน์แอบแฝงด้านใด ด้านหนึ่งเสมอ บ่อยครั้งที่พบว่า เจ้าของบ้านบางหลังออกแบบบ้านเสร็จแล้ว แต่ปักใจเชื่อว่าเรทก่อสร้างต่ำ ๆ จะทำได้จริง ท้ายที่สุดหาผู้รับเหมาในเรทดังกล่าวไม่ได้ บ้านที่คิดฝันไว้จำเป็นต้องพับโครงการไปทันที

แบ่งค่างวด ในงานก่อสร้าง

2.โดนผู้รับเหมายั่ว ด้วยราคาก่อสร้างที่ถูกเกินจริง

ผู้รับเหมาดี ๆ นั้นมีครับ แต่จากประสบการณ์แล้วมีน้อยมาก ๆ แทบจะงมเข็มในมหาสมุทรก็ว่าได้ แต่ก็คงไม่แปลกอะไรเพราะกฎหมายบ้านเราไม่ค่อยคุ้มครองผู้บริโภคเท่าไหร่นัก เมื่อมีปัญหากัน ผู้รับเหมามักลอยตัวไม่ได้รับโทษใด ๆ กลโกงต่าง ๆ จึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่ใครก็สามารถเข้ามารับงานในสายอาชีพนี้ได้

ผู้รับเหมาที่ตั้งใจมาโกงจะรู้จุดอ่อนดีว่า เจ้าของบ้านส่วนใหญ่อยากได้บ้านราคาถูก และส่วนใหญ่เพิ่งสร้างบ้านหลังแรก จึงขาดความรู้ ขาดประสบการณ์สรุปโดยรวม คือ หลอกง่ายนั่นเองครับผู้รับเหมาเหล่านี้จะใช้วิธีเสนอราคาต่ำเพื่อให้ได้งานก่อน แต่ในราคาที่เสนอมานั้น ยังไม่รวมรายการต่าง ๆ ที่จำเป็นอีกมากมาย ในมุมเจ้าของบ้าน เห็นผู้รับเหมาทำ BOQ มาให้ มีรายการต่าง ๆ นับร้อยรายการจึงคิดไปเองว่าเขาคงรวมทุกอย่างมาให้แล้ว และด้วยใจที่หลงรักตัวเลขยอดรวมของราคาที่เสนอไว้ จึงไม่คิดที่จะตรวจรายละเอียดรายการใด ๆ เมื่องานก่อสร้างดำเนินไปถึงขั้นที่จำเป็นต้องมีสิ่งที่ยังไม่มีใน BOQ ผู้รับเหมาจะค่อย ๆ เผยความจริงมาว่า ยังไม่รวมรายการนั่นนี่สาระพัด หากเจ้าของบ้านไม่ยอมจ่ายเพิ่มก็พร้อมที่จะไป ก่อนตัดสินใจว่าจ้างผู้รับเหมารายใด อย่าดูแค่ว่าเขามี BOQ มาให้หรือไม่ แต่ต้องตรวจสอบให้ละเอียดว่า BOQ มีรายการต่าง ๆ ครอบคลุมแล้วหรือยัง และหากตรวจเองไม่ได้ ควรหาที่ปรึกษาช่วยตรวจสอบให้ครับ (เอาไว้ จะเขียนวิธีตรวจ BOQ มาให้อ่านกันครับ)

3.เสียดายตังค์ ไม่ยอมจ้างสถาปนิก

ผมมักแนะนำผู้ที่กำลังสร้างบ้านเสมอว่าผู้ที่จะอยู่เคียงข้างเจ้าของบ้านได้ดีที่สุด คือ สถาปนิกคำว่าสถาปนิกในที่นี่ หมายรวมทั้งบริษัทรับออกแแบบ นักออกแบบ หรือแม้แต่วิศวกรที่ออกแบบบ้านได้ เหตุผลเพราะ สถาปนิกหรือนักออกแบบ ไม่ได้เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมในงานก่อสร้าง และเขามักปกป้องงานออกแบบของเขาเอง เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานก่อสร้าง ตรงตามแบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตามจะต้องมีข้อแม้ตรงที่ สถาปนิกหรือทีมออกแบบดังกล่าว จะต้องออกแบบอย่างเดียว ไม่ได้รับสร้างนะครับ

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า สถาปนิกทำหน้าที่เพียงแค่ออกแบบ และยังเข้าใจไปอีกว่า แบบบ้านไม่เห็นจะมีอะไรมากมายแค่ขีด ๆ เขียน ๆ ความจริงแล้วแบบบ้านที่ดีสามารถช่วยลดงบประมาณไปได้มาก ลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในงานก่อสร้างได้ดี และเมื่อคุณได้รู้จักสถาปนิกแล้ว ก็เท่ากับว่า คุณได้ที่ปรึกษาที่มีความรู้ มีประสบการณ์ อย่างน้อยการสร้างบ้านหลังนี้ เจ้าของบ้านจะไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพียงลำพัง หากมีปัญหาใดในงานก่อสร้าง มีปัญหากับผู้รับเหมา คุณยังสามารถปรึกษาพวกเขาได้ตลอดแม้งานออกแบบจะเสร็จสิ้นแล้วก็ตาม การจ้างสถาปนิกออกแบบ จึงไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่แพงเลย ในทางกลับกัน ค่าออกแบบในประเทศไทยนับว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับเรทราคาออกแบบจากประเทศอื่น ๆ เผลอ ๆ ถูกกว่าค่ากระเบื้องปูพื้นอีกครับ

หาสถาปนิก ออกแบบบ้าน

4.แบบก่อสร้างไม่เคลียร์ ดีเทลตกหล่น

แม้ผู้เขียนจะแนะนำให้จ้างสถาปนิก แต่ก็ไม่ใช่ว่าสถาปนิกทุกคนจะเก่งหรือมีประสบการณ์เสมอไป และบ่อยครั้งพบว่า งบประมาณที่บานปลายอาจเกิดจากข้อผิดพลาดในงานออกแบบหรือความไม่ชัดเจนในแบบก่อสร้างได้เช่นกัน การหาสถาปนิกนักออกแบบจึงจำเป็นต้องเลือกบริษัทที่ผ่านงานออกแบบมามาก ยิ่งมีประสบการณ์มากยิ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้จากงานจริงได้ดี พวกเขาจะเข้าใจดีว่า แบบก่อสร้างที่ดี จำเป็นต้องมีรายละเอียดใดประกอบลงในแบบบ้าง

เพราะหากแบบก่อสร้างขาดรายละเอียดงานบางอย่างหรือขาดความชัดเจนในการระบุสเปคต่าง ๆ อาจทำให้ผู้รับเหมาเข้าใจงานนั้น ๆ ผิดได้ จึงเป็นที่มาของการทุบรื้อทำใหม่ ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้เช่นกันครับ

5.แบบไม่นิ่ง ไม่ชัดเจนในความต้องการ

บ่อยครั้งที่พบว่า แม้แบบบ้านจะเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ผู้เป็นเจ้าของบ้านยังมีความลังเลในความต้องการบางอย่าง ส่งผลให้ “แบบไม่นิ่ง” ความลังเลนี้มักเกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนในความต้องการตั้งแต่ต้น หรือไปเห็นไอเดียใหม่ ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนใจกะทันหัน จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนงานบางอย่างขณะดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะมีผลทั้งค่าใช้จ่ายส่วนต่างในงานวัสดุ ค่าแรง และระยะเวลาก่อสร้างที่สูญเสียไป

ความจริงแล้วการปรับเปลี่ยนแบบขณะก่อสร้างเป็นเรื่องปกติที่พบเจอได้บ่อยครับ แต่หากมีจุดปรับแก้มากเกินไปก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่บานปลายเพิ่มขึ้นมา จุดที่ต้องระมัดระวังคือการปรับเปลี่ยนขนาดสัดส่วนต่าง ๆ เช่น ขั้นตอนแรกเริ่มในงานก่อสร้าง เจ้าของบ้านเริ่มเห็นสัดส่วนของห้องต่าง ๆ จากขั้นตอนการวางผังหรือขั้นตอนการทำคานพื้น เมื่อเห็นของจริงอาจทำให้รู้สึกว่า ห้องดูเล็กหรือแคบเกินไป แต่การมองเห็นเพียงเส้นแบ่งที่ไร้ผนังกั้น มักจะหลอกตาให้ดูแคบลงกว่าความเป็นจริงได้

ก่อนลงมือก่อสร้างใด ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบความต้องการของตนเองให้ชัดเจนแต่ต้น เพราะการปรับเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงบางจุด อาจมีผลกระทบไปถึงห้องอื่น ๆ ชั้นอื่น ๆ หรือมีผลกับความสวยงามของตัวบ้าน และนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่อาจต้องเพิ่มงบมากถึงหลักล้านก็เป็นได้ครับ

ค่าจ้างสถาปนิก บ้านทั่วไป

6.ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดมาก่อน

การสร้างบ้านหนึ่งหลัง ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวบ้านเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ ที่เจ้าของบ้านเพิ่งรู้ภายหลังว่าต้องมี ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้

  • ค่าเจาะสำรวจดิน เพื่อทดสอบชั้นดิน ใช้ในการสเปคเสาเข็มในงานออกแบบโครงสร้าง
  • ค่าดินถม ปรับหน้าดินก่อนก่อสร้าง กรณีที่หน้างานต่ำกว่าพื้นที่ใกล้เคียงมาก
  • ค่าเช่าที่ดิน สำหรับจัดเก็บวัสดุก่อสร้าง กรณีหน้างานก่อสร้างคับแคบ
  • ค่าทำรั้ว มักเป็นส่วนที่เจ้าของบ้านลืมคิด ยิ่งที่ดินกว้างเป็นไร่ ค่ารั้วอาจสูงถึงหลักล้านบาท
  • ค่าวิศวกรตรวจสอบงานโครงสร้าง กรณีต้องการให้มีการตรวจสเปคงานโครงสร้าง
  • ค่าสถาปนิกตรวจงาน กรณีต้องการให้สถาปนิกตรวจงานก่อสร้างตามแบบ โดยปกติจะคิดแยกจากค่าออกแบบ
  • ค่าคอนเซาท์ กรณีต้องการทีมบริหาร ควบคุมงานก่อสร้าง
  • ค่าโง่ อาจดูเป็นคำหยาบ แต่เป็นปกติที่คุณจะต้องเผชิญคำว่า “รู้งี้” “ไม่น่าเลย” มันคือค่าประสบการณ์ครับ

รายการเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นครับ แต่หากคุณได้ผู้รับเหมาที่ไม่สุจริตใจในการเสนอราคา คุณอาจพบว่า ยังมีค่าเดินท่อปลวก, ค่าน้ำค่าไฟในงานก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ก่อนตัดสินใจว่าจ้างผู้รับเหมารายใด จึงจำเป็นต้องตรวจสอบให้ละเอียด จะได้ไม่มีปัญหากันภายหลังครับ

7. ซินแสหรือเพื่อนบ้านทัก

อีกหนึ่งสาเหตุที่เจอได้บ่อย เมื่อสร้างบ้านไปแล้วคนรู้จักเข้ามาทัก “จุดนี้ไม่ดีนะ” “ทำแบบนี้ไม่ได้นะ” หรือบางท่านเชื่อในฮวงจุ้ย หลังจากสร้างบ้านเสร็จแล้วให้ซินแสมาดู ซินแสรับงานมาแล้วแม้จะไม่มีจุดใดผิดฮวงจุ้ย แต่หากไม่มีอะไรให้ปรับเปลี่ยนเลยก็อาจดูไร้ค่า ต้องสั่งทุบรื้อแก้งานใหม่มากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละงาน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ บอกได้คำเดียวว่า ไม่มีคนทำงานที่ไหน อยากทำงานร่วมกับเจ้าของบ้านครับ

หากคุณเชื่อในศาสตร์ฮวงจุ้ย สิ่งที่สามารถทำได้คือ จ้างซินแสตั้งแต่ขั้นตอนแรกเริ่มในงานออกแบบครับ เพราะหากมาหลังออกแบบเสร็จแล้วผู้ออกแบบมีสิทธิ์ที่จะคิดค่าออกแบบใหม่ทั้งหมดได้ โดยให้ซินแสกำหนดตำแหน่งทิศทางสำคัญต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น เพราะการให้ซินแสมาหลังจากบ้านสร้างเสร็จแล้วแทบจะไม่เกิดประโยชน์ด้านดีเลย มีแต่มาสร้างปัญหาให้เจ้าของบ้านต้องเดือดร้อนทุบสร้างกันใหม่วุ่นวาย

ส่วนกรณีคนรู้จักทักนั่น ทักนี่ ส่วนใหญ่จะเกิดจากคนใกล้ตัว แม้ตามมารยาทแล้วเราไม่ควรพูดถึงบ้านใครในด้านลบ เพราะจะทำให้เจ้าของบ้านหรือผู้อยู่อาศัยรู้สึกกังวลใจได้ แต่ก็ยากยิ่งที่จะห้ามปากคนไม่ให้พูด เจ้าของบ้านจึงจำเป็นต้องแน่วแน่ ชัดเจนในสิ่งที่ตัดสินใจทำ ใครจะพูดอะไรก็ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญครับ “บ้านของเรา เราอยู่อาศัยเอง ตัดสินใจเลือกเอง เก็บเงินสร้างเอง จงภูมิใจเถิด”

8.วัสดุก่อสร้างขึ้นราคา

หากใครได้ติดตามข่าวสารแวดวงก่อสร้าง จะทราบดีว่า ปี 2564 นี้ ค่าเหล็กปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 40% และโดยปกติเมื่อราคาเหล็กปรับตัวขึ้น วัสดุก่อสร้างอื่น ๆ มักปรับขึ้นตามอัตโนมัติ ดังนั้น แม้จะทำตามข้อต่าง ๆ ที่แนะนำไว้ข้างต้นแล้ว ก็อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดใด ๆ ส่งผลให้งบก่อสร้างบานปลายได้ การสร้างบ้านจึงจำเป็นต้องเผื่องบสำรองเผื่อไว้ด้วยเสมอครับ มิเช่นนั้น หากขาดสภาพคล่องทางการเงิน งานก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้วอาจจำเป็นต้องหยุดชะงัก การหาผู้รับเหมาใหม่มาเริ่มงานภายหลังต่อจากงานเดิมที่ทิ้งค้างไว้ ย่อมต้องจ่ายแพงกว่าเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้เลย

วิศวกร ตรวจงานโครงสร้าง

9. งบก่อสร้างยิ่งบาน เมื่อเริ่มงานตกแต่ง

งานตกแต่งในที่นี้ ยังไม่ได้รวมถึงงานตกแต่งภายในนะครับ แต่หมายถึงงานปูพื้น กรุผนัง งานสุขภัณฑ์ห้องน้ำ วัสดุตกแต่งเหล่านี้โดยส่วนมากเจ้าของบ้านเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง เพราะเป็นวัสดุที่มองเห็นได้ สัมผัสได้ มีผลต่อรสนิยมความสวยงาม แตกต่างจากงานโครงสร้างบ้านที่เจ้าของบ้านส่วนใหญ่จะไม่ได้ให้ความสำคัญใด ๆ เมื่อมีโอกาสได้เลือกเอง การเสาะหาวัสดุสวยงามจึงเกิดขึ้น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของงบก่อสร้างบานปลาย

วัสดุเหล่านี้มีราคาแตกต่างกันมากครับ เช่น ชักโครก มีให้เลือกตั้งแต่ 4,000 – 200,000 บาท, กระเบื้องปูพื้น มีให้เลือกตั้งแต่ ตร.ม.ละ 300 – 3,000 บาท ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อได้เห็น ได้สัมผัสในสิ่งที่สวยกว่า ดีกว่า มักจะรู้สึกติดตา ติดใจ ดังนั้นก่อนไปเลือกวัสดุใด ๆ ให้กำหนดวงเงินไว้ก่อนครับ วงเงินดังกล่าวให้เทียบเคียงจากรายการวัสดุใน BOQ จะช่วยให้การเลือกซื้อมีขอบเขตการเลือกที่ชัดเจน ช่วยป้องกันงบก่อสร้างบานปลายได้ดีครับ

10 . เร่งด่วนกับเวลามากเกินไป

ความรวดเร็วดูเหมือนจะดี แต่หากรีบเร่งเกินไปอาจส่งผลให้ความรอบคอบถูกลดทอนไปได้ โดยส่วนใหญ่เจ้าของบ้านจะเข้าใจว่า เมื่อได้สถาปนิกออกแบบแล้ว อีก 1-2 เดือนก็เริ่มสร้างได้เลย แต่ในด้านของการทำงานจริง หากคุณต้องการแบบบ้านที่ละเอียด ได้มาตรฐาน กว่าจะออกแบบ กว่าจะจัดทำแบบก่อสร้างเสร็จ อย่างน้อยใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 เดือน นี่ยังไม่รวมถึงคิวงานกรณีบริษัทดังกล่าวมีคิวงานก่อนหน้าเยอะนะครับ การออกแบบจึงควรเผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 6 เดือน หรือหากต้องการใช้บริการบริษัทที่มีชื่อเสียง ควรพูดคุยกันล่วงหน้าประมาณ 1 ปี และระหว่างออกแบบ ให้ทำการบ้านด้วยการตามหาผู้รับเหมามืออาชีพ ค่อย ๆ หา ค่อย ๆ ดูผลงาน ค่อย ๆ พูดคุย โดยให้คัดผู้รับเหมาไว้ในใจประมาณ 3 เจ้า เมื่อแบบบ้านเสร็จแล้วจึงนำแบบให้ผู้รับเหมาเสนอราคา โดยให้เผื่อระยะเวลาเสนอราคา พูดคุย ตรวจสอบ BOQ อีกประมาณ 2-3 เดือน

ปัญหานี้ผมเจอด้วยตนเอง ด้วยภาระการงานที่เยอะส่งผลให้มีเวลาว่างน้อย แผนการสร้างบ้านที่ตั้งใจไว้จึงถูกเลื่อนมาต่อเนื่อง  3 ปี กระทั่งถึงปีที่รู้สึกว่า ต้องลงมือสร้างจริงจังแล้ว จึงได้ดูฤกษ์ยามรอไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ฤกษ์เป็นตัวกำหนดวันที่ชัดเจนจะได้สร้างจริงสักที และเมื่อล่วงเลยมาหลายปี โจทย์ความต้องการ บริบทแวดล้อมของที่ดินมีความเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แบบบ้านชุดเดิมที่เคยทำไว้แล้ว จำต้องออกแบบใหม่ จึงต้องเร่งรีบทำแบบและหาผู้รับเหมาให้ทันต่อฤกษ์ยาม ซึ่งเหลือระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ผู้รับเหมาที่ตัดสินใจเลือก เป็น 1 ใน 3 ผู้รับเหมาที่เคยเห็นผลงานกันมาหลายปีแล้วครับ แต่ชะล่าใจตรงที่ เห็นเพียงงานที่สร้างเสร็จแล้ว ไม่เคยเห็นกระบวนการทำงานจริง ไม่เคยเข้าไปดูมาตรฐานการทำงานขณะก่อสร้าง เห็นแค่เพียงภายนอกจึงมั่นใจว่าเขาจะทำงานตามที่เราต้องการได้ สิ่งที่เห็นจึงเป็นเพียงเปลือกนอกที่ปกปิดข้อบกพร่องไว้แล้ว หากเป็นเจ้าของบ้านทั่วไปอาจจะพึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้ แต่สำหรับคนที่พอจะมีความรู้ มีประสบการณ์อยู่บ้าง จะค่อย ๆ เห็นจุดบกพร่องต่าง ๆ ตั้งแต่งานโครงสร้าง ตั้งแต่มาตรฐานการทำงาน เป็นเหตุให้งานก่อสร้างบานทั้งงบ บานทั้งระยะเวลาก่อสร้างจริง ซึ่งจะนำมาบอกเล่าใน “The Owner เจ้าของบ้านเล่าเรื่อง” ในตอนต่อ ๆ ไป ติดตามอ่านกันนะครับ

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด The Owner เจ้าของบ้านเล่าเรื่อง


โพสต์ล่าสุด