บ้านโมเดิร์นทรงกล่อง
ในช่วงนี้แนวโน้มสถาปัตยกรรมของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามยังคงมาแรงไม่มีหยุด โดยเฉพาะแบบบ้านหน้าแคบและลึกที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเราที่ราาคาที่ดินแพงจนมีการเฉือนแบ่งขายเป็นไซต์เล็ก ๆ ก็น่าจะลองดูไอเดียการทำบ้านแบบนี้เผื่อมีโอกาสได้เป็นเจ้าของ ก็สามารถนำไปปรับให้มีพื้นที่อยู่สบายนะครับ อย่างบ้านทรงกล่องโมเดิร์นพื้นที่ 230 ตารางเมตรหลังนี้ ตั้งอยู่ในตรอกเล็ก ๆ ของ Vy Da Ward นี่คือที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวหนุ่มสาวที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องการความแปลกใหม่ สามารถใช้ชีวิตใช้แบบสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และสภาพอากาศ ได้ผลลัพธ์เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยลมหายใจใหม่ที่ทันสมัยและเสรี
ออกแบบ : BHA studio
ภาพถ่าย : Chimnon Studio
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านหลังนี้สร้างขึ้นสำหรับครอบครัวเล็กๆ 4 คนในหมู่บ้าน Vy Da เมืองเว้ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศที่รุนแรง การออกแบบนอกจากจะต้องตอบโจทย์การใช้งานแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับสภาพอากาศด้วย ดังนั้นสถาปนิกจึงเลือกดีไซน์ตัวบ้านเป็นกล่องทึบ จากคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 8x20x9m มีตะแกรงเหล็กด้านหน้า อิฐช่องลมด้านหลัง ที่ไม่เพียงนำแสงธรรมชาติเข้ามาในบ้านเท่านั้น แต่ยังนำอากาศผ่านช่องว่างเข้าไประบายอากาศได้ดี เพื่อให้แน่ใจว่าบ้านจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยรอบ และต้านทานต่อสภาพอากาศได้อย่างที่ตั้งใจ
เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะพบกับคำว่า “โปร่งและเบา” ต่างจากภาพที่จินตนาการไว้ว่า บ้านทรงกล่องที่ลึกเข้าไปแถมมีหลายชั้นต้องดูมืดทึบ โดยเฉพาะบ้านนี้จะมีผนังบ้านที่ติดกับเพื่อนบ้านข้างหนึ่งที่สูงหลายเมตร และอีกด้านก็สร้างขึ้นทำหน้าที่เป็นเสมือนกำแพงบ้านสร้างความเป็นส่วนตัว (จากเพื่อนบ้านในอนาคต) ประกอบข้อจำกัดของบ้านรูปทรงเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มักจะขาดแสงตรงกลาง สถาปนิกจึงขยับพื้นที่ใช้งานให้ห่างจากผนัง สร้างพื้นที่ว่างข้าง ๆ และลดพื้นที่เพดานภายในบ้าน เจาะโถงสูงหน้าบ้านและในบ้าน เพื่อเชื่อมพื้นที่แนวตั้งสร้างช่องว่างขนาดใหญ่ ให้แสงและลมเดินทางได้ง่ายๆ
ส่วนหน้าบ้านโถงสูงใช้เป็นที่จอดรถและพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้โตได้ในบ้าน ถัดเข้ามาจะมีประตูกระจกบานผลักนำทางเข้าสู่ภายในที่ชั้นล่างประกอบด้วย ห้องนั่งเล่นพักผ่อน โต๊ะทานข้าว และครัว ที่ตกแต่งง่ายๆ บนพื้นปูนเปลือยขัดมัน บริเวณกลางบ้านจะมีช่องว่างโถงสูง double space ตรงกับบันไดเหล็กสีขาวที่ทำหน้าที่แยกบ้านออกเป็นส่วนหน้าและส่วนหลังที่ลดหลั่นกันตามความสูงของบันได ซึ่งวิธีการแบบนี้จะทำให้ปัญหาเรื่องการขาดปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้นได้ดี
ที่มาของแสงไม่ได้มาจากด้านหน้าที่เต็มไปด้วยความโปร่งเบา หรือด้านข้างในที่ว่างข้างๆ ผนังบ้านเท่านั้น แต่สถาปนิกยังเสริมความสว่างด้วยช่องว่างที่เชื่อมต่อ Skylight บนหลังคา ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ตัวบ้านตรงๆ จากข้างบน
จากบันไดเหล็กสีขาวที่แยกตัวบ้านออกเป็นส่ววนหน้าและส่วนหลัง ยังสามารถแบ่งย่อยขึ้นไปในลักษณะของบ้านเล่นระดับ ค่อยๆ ไต่บันไดที่มีความสูงไม่กี่ขั้นขึ้นไปยังส่วนของห้องทำงาน ห้องนอนที่วางตำแหน่งลดหลั่นกันไป เทคนิคการแบ่งสัดส่วนใช้งานในบ้านแบบนี้ใช้งานได้ดีมากกับบ้านที่มีลักษณะแคบและลึก โดยห้องแต่ละห้องจะมีผนังเป็นกระจก จึงเชื่อมต่อสายตาไปยังจุดต่างๆ ของบ้านได้ง่าย หากต้องการความเป็นส่วนตัวก็เพียงเลื่อนผ้าม่านมาปิดบังเอาไว้
พื้นที่ห้องน้ำและห้องนอนออกแบบอย่างเรียบง่ายแต่ใช้งานได้จริง ทั้งสองจุดมีส่วนที่เหมือนกันอยู่คือ ผนังบล็อกช่องลมสูง ซึ่งโซลูชันนี้ช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ เพิ่มการระบายอากาศตามธรรมชาติ และเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้ผ่านช่องว่างรุพรุนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ภายในบ้านไม่ได้ผลกระทบจากลม ฝุ่น ฝน ผ่านช่องว่างนี้ เพราะภายในยังมีผนังกระจกซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่ง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านเล่นระดับ หรือ Split-level house เป็นการออกแบบบ้านโดยใช้รูปแบบการเล่นระดับของพื้นที่ จะเหมาะเป็นพิเศษกับบ้านที่มีพื้นที่แนวยาวและแคบ เพราะการค่อยๆ ไล่สเต็ปบันไดขึ้นไป โดยที่ระยะทางในการเดินขึ้นแต่ละชั้นไม่สูงมากเท่าบันไดบ้านปกติ วิธีการนี้จะตอบโจทย์ในเรื่องฟังก์ชันที่เป็นสัดเป็นส่วนชัดเจน ในขณะที่ทำให้เกิดพื้นที่โปร่งโล่ง ไม่ทึบตันอึดอัด และอากาศไหลเวียนได้สะดวก และทั้งบ้านยังดูเชื่อมต่อเป็นบริเวณเดียวกัน |
แปลนบ้าน