บ้านทรอปิคอลหลังคาจั่ว
บ้านกลางทุ่มนาเขียว ๆ ดูแล้วสดชื่นหลังนี้ สร้างในคูรูเนคลาเป็นเมืองใหญ่ในประเทศศรีลังกา ที่ยังหลงเหลือพื้นที่ธรรมชาติและเกษตรกรรมอยู่ไม่น้อย สำหรับที่นี่ก็เช่นเดียวกันมองไปทางไหนก็มีไร่ นา และภูเขา จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่สถาปนิกจะได้แรงบันดาลใจในการออกแบบ และการเลือกวัสดุมาจากความประทับใจในภูมิทัศน์ของทิวเขาแนวนอนสูงตระหง่าน ที่มองเห็นได้ผ่านทุ่งนาเขียวขจี ได้ผลงานออกมาเป็นบ้านวัสดุธรรมชาติหลังคาจั่วสูงล้อไปกับสัณฐานของแนวเขา ส่วนภายในก็ดีไซน์ให้บ้านเปิดออกสู่ทุ่งนาขึ้นไปจนสุดขอบฟ้า
ออกแบบ : SAHA Architects
ภาพถ่าย : Ganidu Balasuriya
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้าน 2 ชั้นพื้นที่ 300 ตารางเมตรหลังนี้ มองจากภายนอกบ้านมีรั้วรอบขอบชิดและค่อนข้างสูงจึงมีความเป็นส่วนตัวจากถนน หลังจากเปิดประตูบ้านเข้ามาจึงเห็นทางเข้าโรงรถอยู่ตรงหน้า ขยับไปข้างๆ เป็นพื้นที่ open space เปิดโล่งออกสู่ท้องฟ้าเป็นลานสวน ทำให้รู้สึกถึงพื้นที่เปิด ใส่ความสดชื่นที่แทรกตัวอยู่ภายใน ลักษณะการวางตำแหน่งของบ้านจะไม่ใช่อาคาร 2 ชั้นก้อนเดียวใหญ่ ๆ แต่จะแบ่งเป็นอาคารหลังคาจั่วแหลม 2 ก้อน หันข้างตั้งฉากกัน จึงเห็นบ้านในหลากหลายมุมมอง
จากภายนอกเราจะเห็นว่าตั้งแต่หลังคาลงมาถึงรั้ว สถาปนิกเลือกชุดสีของตัววัสดุไม่ว่าจะเป็นอิฐ ไม้ คอนกรีต ที่ดูกลมกลืนเข้ากันได้กับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการออกแบบบ้านที่จะไม่แข่งขันกับธรรมชาติ เท่านั้นไม่พอ ยังมีลานสวนที่เป็นเสมือนกันชนสีเขียวก่อนเข้าถึงตัวบ้านอีกชั้น และปลูกต้นไม้รากอากาศเป็นกำแพงที่ช่วยกรองแสง กันฝุ่น ลดความแข็งกระด้างของตัวบ้านไปพร้อมกัน
ภายในมีผนังอิฐเปลือยและประตูไม้สูงเปิดออกสู่ทางเข้าแคบ ๆ นำไปสู่ห้องนั่งเล่นที่มีความสูงสองเท่าและกว้างขวาง หน้าต่างไม้กระจกบานใหญ่ช่วยให้ภายนอกเข้ามาได้ ผสมผสานภูมิทัศน์ธรรมชาติเข้ากับตัวบ้านได้อย่างลงตัว
ในชั้นแรกฟังก์ชันการใช้งาน ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ห้องทานอาหาร ครัว ล็อบบี้ดูทีวี ห้องนอน 2 ห้อง ห้องออกกำลังกายแบบเปิด และบาร์ขนาดเล็ก ที่เชื่อมกับทุ่งนาสีเขียวผ่านพื้นที่กึ่งกลางแจ้งขนาดใหญ่ เป็นเฉลียงที่มีชายคายื่นยาวออกมาปกคลุม การตกแต่งโดดเด่นสะดุดตากับการเลือกชิ้นงานศิลปะ โคมไฟ และองค์ประกอบของภาพเขียน มาเติมเอกลักษณ์ให้กับตัวบ้านที่สะท้อนถึงบุคลิกของผู้อยู่อาศัย ในขณะที่สถาปนิกสามารถสร้างรูปแบบการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายด้วยการใส่ความรู้สึกของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของศรีลังกาลงไปควบคู่กัน
สิ่งใหม่ที่เราได้พบในสถาปัตยกรรมนี้คือ การจับภูมิทัศน์รอบ ๆ มาอยู่ในกรอบสายตา และการออกแบบบ้านให้มีจังหวะของช่องว่าง ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างอาคารที่แทรกด้วยคอร์ทยาร์ด หรือจังหวะการเปิดภายในบ้าน อย่างเช่น ในห้องนั่งเล่นที่เจาะเป็นโถงสูงสองเท่าแบบ Double Space เชื่อมต่อชั้นลอยในแนวตั้ง ในขณะที่ผนังสามารถเปิดได้กว้างด้วยการติดตั้งประตูบานเฟี้ยมหลายๆ บาน ช่วยให้ภายนอกเข้ามาได้ ผสมผสานภูมิทัศน์ธรรมชาติเข้ากับตัวบ้านได้อย่างลงตัว
ตามความตั้งใจของสถาปนิก คือ สร้างพื้นที่ที่สะดวกสบายและมีชีวิตชีวาในขณะที่ผสมผสานกับภูมิทัศน์ธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เป็นการท้าทายที่จะจัดการกับส่วนหน้าของบ้าน เนื่องจากอาจสามารถมองเห็นได้ทั้งหมดผ่านภูมิทัศน์โดยรอบ หน้าบ้านจึงมีระดับความสูงของรั้วมากและตัวบ้านค่อนข้างปิด เพื่อจำกัดการมองเห็นของแถบที่อยู่อาศัยที่พลุกพล่านหนาแน่น ให้ได้ระดับความเป็นส่วนตัวสูงสุด ในขณะที่ด้านหลังเปิดออกได้ตลอดแนวผนังและใส่พื้นที่กระจกสูงจนมองเห็นถึงวิวขอบฟ้า
เดินขึ้นบันไดมาเรื่อย ๆ จนถึงชั้นบน จะพบกับระเบียงทางเดินที่นำทางแยกและเชื่อมต่อไปยังห้องนอนส่วนตัว ทีมงานจัดตำแหน่งห้องนอนใหญ่ตั้งอยู่ด้านติดกับห้องนั่งเล่น แม้จะแยกชั้นกันเพื่อไม่ให้มีการรบกวนจากกิจกรรมทั่วไปที่ชั้นล่างส่งผลกระทบต่อการพักผ่อนที่ชั้นบน แต่สมาชิกที่อยู่ระหว่างชั้นก็ยังมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชชิดต่อกันได้ผ่านช่องว่างแนวตั้งขนาดใหญ่นี้
โครงสร้างหลังคาทำชายคายื่นออกมาขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ใช้งานแบบกึ่งเอาท์ดอร์อย่างระเบียงและเฉลียงหลังคาบางส่วน ทำให้พื้นที่ใช้งานได้แม้ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเลวร้าย ระเบีงและชานที่ทำจากไม้ธรรมชาติให้ความสะดวกสบายมากขึ้น และทำหน้าที่เป็นตัวกลางแบ่งเขตหลักของโครงสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ในขณะที่เชื่อมต่อพื้นที่หลักทั้งหมดเอาไว้ในแนวนอนตามทิวเขา
แม้แต่ในห้องน้ำก็ไม่หนีไปจากธรรมชาติ ลองนึกภาพว่าจะสุขใจแค่ไหน หากได้ใช้งานห้องน้ำท่ามกลางต้นไม้เขียวๆ ล้อมรอบด้วยแผ่นหิน และแสงอาทิตย์ที่สาดส่องลงมาจากด้านบน เหมือนยกพื้นที่กลางแจ้งมาเก็บไว้ในบ้าน ให้ร่างกายได้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอย่างแนบสนิท
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านในเขตร้อนชื้น สิ่งที่สำคัญในการสร้างบ้าน คือ ต้องคำนึงถึงการปกป้องบ้านจากลม ฝน และแสง รวมไปถึงระบายอากาศ การลดความร้อนสะสมภายในบ้าน ซึ่งรูปแบบหลังคาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ หลังคาที่เหมาะสมต้องมีความสูงค่อนข้างมากอย่างเช่น หลังคาทรงจั่วสูง เพื่อให้ความร้อนลอยขึ้นสู่ที่สูงและระบายออกจากตัวอาคารได้ดี ในส่วนของชายคาบ้านนั้นจำเป็นต้องมี เพราะจะเป็นองค์ประกอบที่ปกป้องตัวบ้านจากแสงแดดและฝนได้ดีกว่าบ้านโมเดิร์นไร้ชายคา |