
Micro House บ้านเล็กสำหรับเมืองใหญ่
วิถีชีวิตในเมืองใหญ่ของแต่ละประเทศมีความซับซ้อนต่างกันไปตามบริบท อย่างในเมืองไทยผู้คนหลั่งไหลมากระจุกตัวในเมือง ทำให้ที่ดินราคาแพงการจะเป็นเจ้าของบ้านเดี่ยวไม่ง่ายนัก จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบอาศัยในอาคารแนวตั้งกันมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ที่แม้จะมีคนทำงานในตัวเมืองมากแต่คนที่พักอาศัยในตัวเมืองค่อนข้างน้อย เพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงจนแตะไม่ถึง จึงต้องซื้อบ้านอยู่นอกเมือง เมื่อเลิกงานก็จะเดินทางกลับ ใจกลางเมืองจึงเงียบเหงา Think City หน่วยงานที่ศึกษาด้านที่อยู่อาศัย เพื่อฟื้นฟูเมืองของมาเลเซีย และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชน ร่วมกับ DBKL หรือ KL City Hall และสถาปนิก Tetawowe Atelier จึงริเริ่มโปรเจ็คบ้านสำเร็จรูปราคาถูกขึ้น โดยมีความเชื่อร่วมกันว่า การสร้างบ้านราคาไม่แพงจับคู่ไปกับการวางแผนผังเมืองที่ดี ปรับระบบขนส่งมวลชนใหม่ จะดึงดูดผู้คนให้ย้ายกลับไปที่ใจกลางเมืองมากขึ้น
ออกแบบ : Tetawowe Atelier
เรียบเรียง : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บ้านสำเร็จรูป โครงสร้างเหล็ก ราคาไม่ถึงล้าน
บ้านต้นแบบสร้างมาเพื่อให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาด 5 x 5 เมตร เป็นบ้านสำเร็จรูปที่ประกอบเป็นชิ้นส่วนมาจากโรงงาน ใช้เวลาในการสร้าง 3 สัปดาห์แล้วค่อยขนย้ายมาประกอบหน้างาน งบประมาณ 100,000 ริงกิต หรือประมาณ 8.2 แสนบาท มีเป้าหมายเพื่อตอบสนองกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางให้สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น การออกแบบพื้นที่ใช้สอยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้คุ้มค่าทุกตารางเมตร บ้านต้นแบบนี้นำมาจัดแสดงในช่วงนิทรรศการ World Urban Forum เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ให้ประชาชนเห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้างบ้านขนาดเล็กที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้จริง
ภาพการขนย้ายส่วนต่าง ๆ ของบ้านมาประกอบพื้นที่หน้างาน
สถาปนิกออกแบบเป็นอาคารเป็นบ้าน 2 ชั้น โครงสร้างหลักเป็นเหล็ก บุผนังภายนอกด้วยเมทัลชีทซึ่งราคาค่อนข้างถูก ภายในกรุด้วยไม้อัดลายลายไม้ ชั้นล่างเปิดโล่งเป็นพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ ชั้นบนเป็นห้องนอนส่วนตัว การที่พื้นที่บ้านจัดให้อยู่ในกรอบขนาด 5 x 5 เมตร มีที่มาจากเดิมต้องใช้พื้นที่ไปกับการทำที่จอดรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาด 2.40 x 5.00 เมตร / 2คัน เมื่อเริ่มแนวคิดการปรับแผนการจราจร การใช้รถยนต์ส่วนตัวจะลดลงจนกระทั่งไม่จำเป็นต้องมีที่จอดรถสำหรับพื้นที่ในเมือง เพราะผู้คนจะหันมาใช้งาน Grab Cars มากขึ้น ก็จะเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยจอดรถมาเป็นบ้านนั่นเอง
บ้านสำเร็จรูป ดีไซน์ทันสมัย อยู่สบาย
การดีไซน์บ้านเดี่ยวขนาดเล็กแบบนี้ สิ่งที่ต้องเน้นคือการปรับรูปแบบให้สามารถใช้ชีวิตได้สอดคล้องกับสังคมและการใช้งานที่ยืดหยุ่น ชั้นล่างจึงเป็นจัดเป็นโถงโล่ง ๆ แบบ open plan กึ่งสาธารณะ (semi-public) รวมศูนย์รวมของการใช้ชีวิตทั้งหมดเอาไว้ เช่น ครัว ห้องนั่งเล่น มุมทานอาหาร สามารถเข้าถึงกันได้หมด ประตูหน้าต่างขนาดใหญ่ ทำให้บ้านมีช่องแสงช่องลมให้ระบายอากาศและรับแสง บ้านจึงดูเหมือนกว้างขึ้น
บ้านตัวอย่างจัดมุมทานอาหารไว้หน้าบ้าน ซึ่งในการใช้งานจริงเจ้าของบ้านสามารถปรับย้ายไปอยู่ที่จุดอื่น หรือปรับเปลี่ยนด้าหน้าทำเป็นหน้าร้านหนังสือ ร้านขายของเล็ก ๆ หรือร้านอาหารจานด่วน คาเฟ่ ก็ได้
จัดบ้านแบบ open plan ใช้ทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์
ภายในบ้านคิดเรื่องการจัดการพื้นที่มาอย่างดี เพื่อให้สัดส่วนการใช้งานลงตัว ไม่รู้สึกอึดอัดเกินไป อย่างเช่น ชั้นวางของบิวท์เป็นกล่อง ๆ ติดผนัง เพื่อเป็นการใช้พื้นที่แนวตั้งให้มากที่สุด ช่วยประหยัดพื้นที่แนวนอน กล่องเหล่านี้ทำจากไม้อัดแต่ก็มีความแข็งแรงสูงพิสูจน์ได้จากการรับน้ำหนักเด็กที่ปีนเล่น ส่วนห้องน้ำตั้งอยู่ที่มุมหนึ่งในพื้นที่ส่วนตัวที่ซ่อนตัวอยู่ห่างจากประตูและบันได ซึ่งจะนำไปสู่ชั้นลอยด้านบน
มุมมองห้องครัวจากชั้นบนซึ่งเจาะช่องแสงโปร่ง ๆ เอาไว้ ช่วยเชื่อมต่อพื้นที่ทางสายตาเมื่ออยู่ระหว่างชั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ชั้นไหนก็ไม่ขาดการติดต่อ
ห้องนอนจะจัดอยู่ในส่วนใต้หลังคา ซึ่งทำเป็นหลังคาจั่วสูงแบบไม่สมมาตร จึงมีพื้นที่เหลือระหว่างสันหลังคาถึงพื้นห้องใต้หลังคาค่อนข้างมาก มีช่องลมช่วยให้การระบายอากาศทำได้ดี ไม่อึดอัด ใส่ช่องแสงขนาดใหญ่ในจุดที่จำเป็นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องแสงสว่างไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
รูปแบบการใช้ชีวิตจำลองแบบใหม่ ๆ ของคนเมือง ในประเทศมาเลเซีย ดูสบาย ๆ มีความเชื่อมต่อกับสังคมตามวิถีแบบเอเชียดั้งเดิมที่ไม่ปิดกั้นตัวเองออกจากชุมชน ท่ามกลางความทันสมัยจึงยังมีกลิ่นอายไลฟ์สไตล์แบบที่คุ้นเคย แต่ไม่ต้องจ่ายมากอย่างที่คิด