
บ้านโชว์แนวอิฐ
วัสดุสุดคลาสสิคที่อยู่คู่บ้านมาหลายยุคสมัย ต้องยกให้ “อิฐ” ซึ่งมีใช้ทั่วทุกมุมโลก ด้วยเสน่ห์บางอย่างที่หาไม่ได้ในวัสดุอื่น ๆ จึงยังมีเจ้าของบ้านนำไปใช้สร้างบ้านในฝันกันตลอด บ้านหลังนี้ก็เช่นกัน เจ้าของบ้านเป็นคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะชื่นชอบสไตล์โมเดิร์น วัสดุใหม่ ๆ แต่กลับเลือกดึงวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาตีความเป็นบ้านที่ใส่มุมมองหลากหลาย ในความทันสมัยก็มีจิตวิญญาณของความอบอุ่นปนอยู่ทุกอณู
ออกแบบ : Primer Piso Arquitectos
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
อิฐ คอนกรีต เหล็ก เติมเต็มบ้านรูปแบบใหม่
อาคารที่ออกแบบก่อสร้างด้วยวัสดุหลักบ้าน ๆ อย่างอิฐนี้ชื่อ Martínez 3458 ที่ดินกว้าง 9.5 เมตรและลึก 28 เมตร ตั้งอยู่ในเขตสถานีรถไฟเก่าของเมือง Mendoza ประเทศอาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นต่ำผู้คนไม่พลุกพล่าน พื้นที่สร้างไม่แออัดจึงยังความเป็นส่วนตัวและสร้างบ้านแบบหลวม ๆ ได้ แปลนอาคารประกอบด้วยอาคารที่อยู่อาศัยแบ่งออกเป็นสี่หน่วยโดยแต่ละจุดคำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ และลักษณะการใช้งานของผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
แม้ว่าโซนนี้จะเป็นเขตที่อยู่อาศัยที่ไม่ค่อยหนาแน่น แต่ใช่ว่าจะไม่มีเพื่อนบ้าน จึงต้องกำหนดมุมมองของบ้านที่ต้องการ แล้วเลือกเปิดในจุดที่ควรเปิด ปิดทึบในมุมที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ด้วยแนวคิดนี้ทำให้นักออกแบบเลือกขยับตัวบ้านเข้ามาข้างในห่างออกมาจากถนนด้านหน้า เกิดช่องว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้าขนาดใหญ่สำหรับจอดรถ และใช้เป็นกันชนระหว่างบ้าน ถนน และเพื่อนบ้านไปในตัว
วัสดุหลักใช้อิฐที่หาได้จากท้องถิ่น โชว์แนวและสีที่ไม่เหมือนกันแม้แต่ก้อนเดียว บางส่วนนำเสนอเส้นโครงสร้างคอนกรีตดิบ ๆ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็จับอารมณ์ทันสมัยได้
ต้อนรับเข้าสู่ตัวบ้านด้วยความสดชื่นจากต้นไม้ที่จัดอยู่บนผนัง บริเวณที่ว่างรอบบ้านถูกปูด้วยแผ่นหินแกรนิตสีดำจนเกือบไม่มีพื้นที่ลานดินสำหรับปลูกต้นไม้ อาจจะด้วยเหตุผลเรื่องการดูแลที่ยากกว่า แต่ก็สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวได้บนผนังแนวตั้ง
ผนังอิฐต่างแบบให้อารมณ์หลากหลาย
เราจะสังเกตเห็นองค์ประกอบโค้ง ๆ ของผนังอิฐที่เหมือนโอบบ้านอยู่ ช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของเส้นและวัสดุลง และยังถูกใช้เป็นคุณสมบัติที่เน้นเส้นทาง ซึ่งสถาปนิกทำไว้จุดแรกส่วนผนังทางเข้าและทำซ้ำบนผนังภายนอกติดกับบันได ในอาคารคุณสมบัติของผนังแบบนี้ใช้เพื่อสร้างช่องว่างที่แตกต่างกัน บางช่วงก็เป็นการวางแพทเทิร์นให้มีส่วนที่นูนออกมา การเว้นช่องว่างระหว่างช่อง ซึ่งทำให้เกิดผลต่อความรู้สึกและการใช้งานต่าง ๆ กัน
อาคารที่อยู่เรียงตัวเข้าไปข้างในจะมีช่องว่างขนาดใหญ่บนผนังและที่ว่างเปิดออกสู่ท้องฟ้า (open space) ให้ระดับความเป็นอิสระ และมีการระบายอากาศตามธรรมชาติและแสงที่ดี ใส่ความเป็นส่วนตัวในระดับที่ต่าง ๆ กัน แต่ทั้งหมดมีสะพานเหล็กเชื่อมต่อไปยังหน่วยอื่น ๆ ดังนั้นจึงมีการต่อเนื่องของลานส่วนตัวและลานสาธารณะที่ไม่ถูกตัดขาดออกจากกัน
มิติของแสงเงาที่ลอดผ่านผนังอิฐ
ทุกห้องมีรายละเอียดการตกแต่งเฉพาะที่เป็นลักษณะของเจ้าจองห้องแต่ละคน แต่พื้นที่ใช้งานร่วมกันยังคงใช้อิฐ เหล็ก ไม้ เป็นองค์ประกอบ เน้นการเปิดกว้างโดยการใช้แผ่นกระจกขนาดใหญ่ ประตูกระจกบานสไลด์เพื่อขยายขีดจำกัดของแต่ละหน่วยอาคาร เพื่อใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ สร้างเงื่อนไขความเป็นส่วนตัวด้วยการก่อผนังอิฐเว้นช่องว่าง เกิดผนังที่เป็นทั้งช่องแสงและช่องลม ทำหน้าที่กรองแสงและให้คุณภาพกับพื้นที่ที่มีความรู้สึกปลอดภัยจากสายตาของบุคคลภายนอก
มิติของแสงเงารูปร่างสี่เหลี่ยมที่ตกกระทบบนพื้นและผนังห้องนั่งเล่น เกิดขึ้นจากการเดินทางของแสงลอดส่องผ่านช่องสี่เหลี่ยม ทำให้บ้านมีลูกเล่นโดยไม่ต้องเพิ่มอะไรเลย
ทุกพื้นที่มีสวนเล็ก ๆ แม้แต่ครัว
ห้องครัวที่อยู่บริเวณเดียวกับห้องนั่งเล่น บิลท์บานด้วยไม้ลายธรรมชาติ ออกแบบเคาน์เตอร์ติดผนังด้านเดียวยาวจากด้านหนึ่งเกือบจรดผนังอีกด้าน จึงเพียงพอกับการใช้งานอย่างดี ประตูกระจกบานสไลด์ขนาดใหญ่รับแสงและเปิดออกเชื่อมต่อสวนเล็ก ๆ สร้างบรรยากาศที่สบาย ชวนให้ทำอาหารทุก ๆ วัน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : อิฐแดงมีคุณสมบัติอมความร้อน หากบ้านอยู่ในเขตร้อนแนะนำให้ก่อผนัง 2 ชั้นในทิศตะวันตกและทิศใต้ ที่แสงแดดรุนแรงในช่วงกลางวัน การก่อ 2 ชั้นจะต้องเว้นช่องว่างระหว่างผนังอย่างน้อย 5 ซม. เพื่อให้เกิดช่องว่างช่วยระบายความร้อนและถ่ายเทความร้อนจากผนังด้านนอกมาถึงชั้นในได้ช้าลง บ้านเขตร้อนยุคใหม่ยังนิยมทำผนัง 2 ชั้น (Double Skin) ซึ่งต่างจากการก่อผนัง 2 ชั้น คือ ชั้นนอกเป็นฟาซาดหรือเปลือกผนังที่มีช่องว่างโปร่ง ๆ ทำให้บ้านยังสามารถรับลม ระบายอากาศผ่านช่องว่าง ในขณะที่มีความเป็นส่วนตัวจากผู้คนที่ผ่านไปมา ส่วนชั้นในเป็นประตูบานกระจกเลื่อนไปมากันฝุ่น ลม ปกป้องบ้านอีกชั้น |
แปลนบ้าน