
บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล
แนวคิดของ The Window House เริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐานสองข้อ คือ เมื่อบ้านที่ตั้งอยู่ริมป่าสงวนการเชื่อมต่อระหว่างบ้านกับธรรมชาติจะกลายเป็นสิ่งสำคัญของการออกแบบ ในทางตรงกันข้ามจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้าของบ้านต้องการเพิ่มความเป็นส่วนตัวภายในให้มากที่สุด ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบด้วย สถานการณ์ที่ดูขัดแย้งกันนี้ถูกท้าทายและเปลี่ยนเป็นความคิดที่สร้างแรงบันดาลใจในทางบวก เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ดีไซน์ของบ้านจึงแปลกใหม่กว่าบ้านทุกหลังที่เราเคยพบ
ออกแบบ : Formzero
ภาพถ่าย : Ronson Lee – Twins Photography
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านที่มีหน้าต่างเป็นพระเอก
The Window House ตั้งอยู่ในพื้นที่เชิงเขาริมป่าในเมืองหลวงของมาเลเซีย จากคำถามเบื้องต้นที่ดูจะขัดแย้งคือ เราจะคืนความสัมพันธ์กับพื้นที่กลางแจ้งได้อย่างไรโดยไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัว และให้ประสบการณ์ที่ดีในการอยู่อาศัยภายในควบคู่กัน วิธีแก้ปัญหาที่นำเสนอทำโดยการทำเปลือกหุ้มบ้านด้วยคอนกรีตป้องกันที่ล้อมรอบอาคารทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก และให้หน้าต่างเป็นองค์ประกอบที่กำหนดความสัมพันธ์ของบ้านกับพื้นที่กลางแจ้ง เมื่อบ้านหลังนี้ถูกล้อมรอบไปด้วยบ้านหลังอื่นก็เพียงแค่ปิดม่านลง เท่านี้ก็ตอบจุดมุ่งหมายสูงสุดของการเชื่อมต่อบ้านกับบริบทที่มีอยู่ได้เต็มประสิทธิภาพ
โมเดลของเปลือกบ้านที่มีความเชื่อมต่อกันระหว่างผนังกับหลังคา เหมือนกำลังสวมหมวกใบใหญ่ครอบให้บ้านอีกชั้นหนึ่ง
เปลือกคอนกรีตครอบคลุมตัวบ้าน
ผนังคอนกรีตไม่ได้ทำเส้นตรงแบบกล่องสี่เหลี่ยมเหมือนบ้านธรรมดาทั่วไป แต่มีรูปทรงเรขาคณิตแบบเหลื่อม เบี่ยง รูปแบบเหลี่ยมเพชร เพื่อตอบสนองต่อการวางแนวของอาคารและความสัมพันธ์กับป่าไม้ ตัวอาคารข้างในจะถูกครอบด้วยหมวกอีกชั้นหนึ่งเหมือนเปลือกหอย เปลือกคอนกรีตนี้ทำหน้าที่ป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ที่เต็มไปด้วยช่องว่างสี่เหลี่ยมขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างเป็นจังหวะทั่วทุกด้าน ด้วยการระบายอากาศแบบแนวนอน (Cross Ventilation) ให้ลมเดินทางเข้า-ออกผ่านหน้าต่าง และยังทำหน้าที่ควบคุมความเป็นส่วนตัวด้วย
ช่องรับแสงที่จัดวางอย่างระมัดระวังช่วยให้แสงและอากาศเข้าสู่อาคารได้ แทนที่จะใช้ผ้าม่านเพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัว ความตั้งใจคือการออกแบบหน้าต่างเหล่านี้ในลักษณะที่สามารถเปิดทิ้งไว้ได้ในบางจุด บางช่องใหญ่ขนาดสูงกว่าตัวคนและกว้างมาก ทำให้บ้านใช้งานได้ดีแถมยังแปลกตา
WINDOWS ทำตามฟังก์ชั่น
จำนวนช่องเปิดและตำแหน่งจะพิจารณาจากข้อกำหนดการใช้งานของแต่ละห้อง ด้วยความคิดที่ว่าห้องที่มีฟังก์ชั่นต่างกันควรมีหน้าต่างที่แตกต่างกันไม่ใช่การสร้างเพื่อสร้างความงามตามใจ แต่เป็นความตั้งใจในการสร้างประสบการณ์การรับชมสำหรับแต่ละห้อง หน้าต่างแต่ละบานจะแสดงมุมมองที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นสัดส่วน รูปลักษณ์ และตำแหน่งของหน้าต่างแต่ละบานจะไม่เหมือนกัน เช่น การสร้างมุมลึกเข้าไปในกรอบหน้าต่างคอนกรีตขนาดยักษ์เพื่อมองออกไปยังป่า หน้าต่างสี่เหลี่ยมล้อมด้วยกรอบเหล็กสีดำ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพของมุมมองแล้ว ยังสร้างมิติของหน้าต่างที่ให้ความรู้สึกต่าง ๆ กันโดยยังมีคุณสมบัติในการปกป้องบ้านจากแดดฝน
ในระหว่างตัวบ้านกับเปลือกคอนกรีตมีการทำที่ว่างแนวนอนและแนวตั้งหลายระดับ มีช่องทางรับแสงสว่างหลาย ๆ ด้านแล้วแทรกด้วยต้นไม้ใบเขียว สร้างภูมิทัศน์ภายในให้ดูเหมือนมีพื้นที่ธรรมชาติกลางแจ้งในตัวอาคาร
ภายในบ้านเต็มไปด้วยความโปร่งและสว่างจากผนังกระจก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนห้องนั่งเล่น หรือมุมนั่งเล่นข้างหน้าต่างที่พับบานเก็บเข้าด้านข้างได้หมด การใช้วัสดุกระจกเป็นตัวแบ่งขอบเขตบ้านทำให้บ้านสามารถรับแสงได้ในปริมาณที่บ้านต้องการในช่วงกลางวัน บางส่วนของบ้านเหมือนมีผนัง 2 ชั้น คือ หน้าต่างชั้นในที่เปิดรับลมได้ และมีผนังคอนกรีตด้านนอกพร้อมกับแนวต้นไม้ช่วยกั้นกรองแสงอีกชั้น
แทรกตัวตนที่น่าสนุกในบางมุม
การตกแต่งภายในเน้นความเรียบง่ายสไตล์โมเดิร์นไปจนถึงความดิบแบบอุตสาหกรรม เช่น บันไดโมเดิร์นทำจากโลหะสีดำออกแบบให้ลูกตั้งและลูกนอนเป็นวัสดุโปร่งใส ทำให้เห็นโครงสร้างบันไดเหมือนเป็นโครงกระดูกที่โดดเด่นท้าทายสายตา นำทางขึ้นจากห้องเล่นเกมไปยังระเบียงดาดฟ้า กรอบบันไดที่เปิดโล่งช่วยเติมเต็มความรู้สึกแบบ Industrial ของการตกแต่งภายใน ซึ่งมีผนังคอนกรีตและอิฐโชว์แนวดิบ ๆ ผสมผสานด้วย
ผนังชั้นบนเจาะให้มองเห็นทิวทัศน์ป่าในตำแหน่งต่าง ๆ กันดูน่าสนุก ส่วนหลังคาลาดเอียงของอาคารในชั้นบน ถูกเจาะเป็นช่องทำเป็นสกายไลท์ที่ช่วยให้ดึงแสงแดดจากด้านบนให้ส่องถึงพื้นที่ภายในรวมถึงบันไดที่จะนำไปสู่ชั้นบน บ้านจึงเต็มไปด้วยความรู้สึกของ outdoor แม้จะอยู่ใต้หลังคาที่คลุมอยู่ก็ตาม
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การระบายอากาศเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านเขตร้อนอยู่ในสภาวะสบาย โดยทั่วไปการระบายอากาศตามธรรมชาติจะให้ผลยั่งยืนกว่าการระบายอากาศโดยใช้เครื่องจักรกลหรือเทคโนโลยีช่วย ทำได้สองแนวทาง คือ Cross Ventilation การระบายอากาศโดยให้ลมเดินทางเข้ามาในพื้นที่ห้องผ่านประตูหรือหน้าต่าง และช่วยพาความร้อนและความชื้นออกไปนอกห้องในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งขนาดและตำแหน่งช่องลมเข้าและลมออกสำคัญมาก เพราะถ้าอยู่ในตำแหน่งและขนาดไม่เหมาะสม ลมอาจไม่เข้าหรือไม่สามารถระบายอากาศได้เต็มที่ และ Stack Ventilation เป็นการระบายอากาศโดยออกแบบบ้านเอื้อให้มวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นที่สูงและระบายออกจากตัวบ้านได้ดี |
แปลนบ้าน