เมนู

บ้านพื้นถิ่นประยุกต์ ปรับวิถีให้ผสานกับคนยุคใหม่

บ้านอิฐพื้นถิ่น

บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล

บ้านสำหรับบางคนไม่ใช่เพียงที่อยู่อาศัยหลบแดดฝน แต่ยังคาดหวังให้เป็นพื้นที่ชีวิตที่จะใช้ร่วมกันอย่างมีความสุข บ้านนี้ในอินเดียก็เช่นกัน เจ้าของเป็นครอบครัวที่มีเด็กหญิงตัวน้อยสองคน จึงต้องการบ้านที่สามารถให้ทุกคนได้หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ ได้เติบโต และสร้างความทรงจำร่วมกัน บ้านแห่งความเรียบง่ายที่ได้รับการตกแต่งโดยชูวัสดุพื้นถิ่นที่คุ้นเคยเป็นหลัก  เพื่อรวมกันเป็น Akam ( അകം -ภาษามาลายาลัม แปลว่า แกนกลาง/ ภายใน/ จิตใจ/ จิตวิญญาณ) ของครอบครัว ซึ่งสถาปนิกก็ทำผลงานออกมาได้ดีอย่างที่ตั้งใจ

ออกแบบ : Ishtika
ภาพถ่าย : Prahlad Gopakumar
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านสไตล์เขตร้อนโชว์แนวอิฐ

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านหลังนี้มีพื้นที่ 213 ตารางเมตร เป็นหนึ่งในหลาย ๆ แปลงที่สร้างอยู่บนที่เนินเขาเล็ก ๆ ในเขตชานเมือง ของเมือง Thiruvananthapuram รัฐ Kerala ประเทศอินเดีย มีถนนทางเข้ากว้าง 3.3 เมตร ตัวบ้านสร้างจากวัสดุบ้านๆ ง่ายๆ อย่างอิฐที่มีใช้ในท้องถิ่นอยู่แล้ว นำมาผสมผสานกับเทคนิคการก่อสร้างใหม่ๆ ให้ออกมาเป็นบ้านซ้อนกันหลายชั้นดูมีมิติ ชั้นบนสามารถมองเห็นหุบเขาทางทิศตะวันออก ส่วรภายในแตกต่างด้วยพื้นที่เปิดโล่งและกึ่งเปิดโล่งที่จะค่อยๆ เผยออกเมื่อเดินลัดเลาะจากทางเข้าไปยังแกนกลางของบ้าน

ลานจอดรถหน้าบ้าน

ทางเดินในบ้านสไตล์ธรรมชาติ

หน้าบ้านจะมีประตูรั้วเตี้ย ๆ สีน้ำตาล ในขณะที่ผนังภายนอกใช้สีขาวเป็นหลัก ดูเหมือนบ้านร่วมสมัยทั่วไป ก็ถูกตัดอารมณ์ด้วยหลังคากันสาดกระเบื้องพื้นถิ่น ซึ่งเป็นความพยายามที่จะนำไม้เก่าและกระเบื้องมุงหลังคาเก่า กลับมาใช้ใหม่และเพิ่มเสน่ห์ให้กับบ้าน พื้นทางเดินปูด้วยแผ่นหิน มีโถงทางเดินปูกระเบื้องดินเผาสีแดงอมส้มนำเข้าสู่ตัวบ้านอย่างอบอุ่น และได้กลิ่นอายแบบเขตร้อน

ทางเดินรอบบ้านโรยกรวด

บ้านปูนเปลือยผสมอิฐแดงโชว์แนว

ผนังฉาบปูนสีขาวที่เป็นกรอบภายนอก เปรียบได้กับมุมมองของบ้านที่สายตาคนภายนอกมองเห็นได้ มาถึงโรงจอดรถเป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เปิดโล่ง แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นเฉลียงกึ่งเปิดโล่งที่ค่อยๆ ใส่ระดับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จากลานเปิดด้านหน้าเข้าไปใน Poomukham (പൂമുഖം- ภาษามาลายาลัม แปลว่าระเบียงสำหรับนั่ง-ออก) ที่หน้าบ้านสำหรับรับแขกและผู้ใหญ่ของบ้าน ที่สามารถจัดงานชุมนุมเล็กๆ หรือกิจกรรมหลายอย่างของผู้พักอาศัย เช่น การเต้นรำ โยคะ หรือให้เด็กๆ นั่งเล่นได้

บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล

ห้องนั่งเล่นมีสวนภายใน

จากพื้นที่นั่งเล่นต้อนรับแขก จะเชื่อมต่อกับคอร์ทยาร์ดสูงสองชั้นในบ้าน ที่มีผนังอิฐแดงและอิฐช่องลมเป็นฉากหลัง จุดนี้เต็มไปด้วยความสดชื่นของแสงธรรมชาติ สวนที่มีต้นไม้ กรวด หิน ทราย เป็นพื้นที่ที่แสนสบายรองรับการนั่ง การหยุดพัก ความสงบสักครู่ ก่อนที่จะขยับไปสู่พื้นที่ใช้ชีวิตประจำวัน ภายในจึงดูเหมือนอยู่กลางแจ้งภายนอกแบบ Inside out-outside in ซึ่งเป็นแนวคิดในการจัดบ้านใหม่ ๆ ที่สอดรับกับสภาพอากาศร้อนชื้นได้เป็นอย่างดี

ช่องว่างโถงสูงมี skylight

ช่องแสงสกายไลท์บนคานคอนกรีต

เหนือคอร์ทยาร์ดจะเป็นโถงสูงวางคานคอนกรีตเรียงตัวเป็นช่องๆ ด้านบนเป็น skylight ที่ดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้ จึงมีส่วนอย่างมากในการสร้างบรรยากาศแบบกลางแจ้งทำให้บ้านสว่างโดยแทบไม่ต้องเปิดไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และยังช่วยให้ต้นไม้ที่ปลูกได้รับแสงเพียงพอกับการเติบโตด้วย เป็นหนึ่งในรายละเอียดของบ้านที่ตั้งใจออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

ครัวคอนกรีตตกแต่งอิฐและไม้

ห้องนั่งเล่นและรับประทานอาหารของครอบครัวจะอยู่ติดกับคอร์ท ส่วนประตูบานเฟี้ยมที่ติดกับระเบียงอีกด้านหนึ่งมาพร้อมวิวหุบเขา แปลนชั้นถูกสร้างขึ้นในรูปทรง ‘T’ ที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ครอบครัว/พื้นที่ส่วนกลาง จึงทำเป็นโถงกว้างๆ รวมครัว ห้องทานอาหาร และนั่งเล่นเป็นจุดเดียวกัน เพื่อให้แน่ใจว่ามีเวลาครอบครัวมากขึ้น ส่วนโซนส่วนตัว เช่น ห้องนอน จะตั้งอยู่ที่ปลายสุดของโถงทางเดิน มีบันไดที่นำไปสู่ชั้นบน ห้องนอนสำหรับแขกและห้องสุขาส่วนกลางในอีกด้านหนึ่ง ชั้นบนมีห้องนอน 2 ห้องบนแขนทั้งสองข้างและมีห้องนั่งเล่นอยู่ตรงกลาง

มุมนั่งเล่นพักผ่อนในบ้าน

ช่องหน้าต่างไม้ติดบันไดปูนเปลือย

มั่นใจได้ว่าแสงและอากาศจะไหลเวียนทั่วบ้านอย่างอิสระ โดยใช้บานกระทุ้ง ไม้เลื้อย ไม้ระแนง ช่องลม และหน้าต่างบานเกล็ด ทั้งนี้สถาปนิกยังหลีกเลี่ยงการเปิดบ้านโดยตรงไปทางทิศตะวันตกเพื่อลดความร้อนที่จะทำให้การอยู่อาศัยไม่สบาย

มุมนั่งทำงานและเบย์วินโดว์

ผนังห้องนอนชั้นบนที่อยู่ด้านทิศตะวันตก ออกแบบให้เป็นผนัง 2 ชั้น ด้านนอกเป็นคอนกรีตเปลือยบาง ๆ  ด้านในก่ออิฐ มีช่องลมตรงกลาง และช่องลมบนหลังคา ทั้งหมดนี้เพื่อลดความร้อนของบ้านจากแสงที่สาดเข้ามาทางทิศนี้ได้มากตลอดทั้งวัน

สวนในห้องน้ำ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การก่ออิฐมอญแบบทั่วไปปกติจะทำการก่อเพียง 1 ชั้น ซึ่งในทิศที่ผนังได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรงอย่างทิศตะวันตกจะรู้สึกว่าบ้านร้อน การแก้ไขสามารถทำได้โดยการก่อผนังอิฐ 2 ชั้น ชั้นแรกก่อตามขอบนอกของเสาบ้าน จากนั้นเว้นระยะห่างประมาณ 5 เซนติเมตร จึงก่อชั้นที่ 2 วิธีนี้จะช่วยลดทอนความร้อนจากแสงแดดได้ เพราะแสงแดดจะส่องโดยตรงไปที่ผนังชั้นนอก ส่วนผนังชั้นในจะไม่ได้รับความร้อนโดยตรง ช่องว่างระหว่างชั้นยังช่วยลดความร้อนสะสมที่จะถ่ายเทเข้าสู่ตัวบ้านด้วย

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด