เมนู

บ้านสีอิฐ ธีมสีร้อน แต่ภายในเย็นสบาย

บ้านอิฐ

บ้านโมเดิร์นทรอปิคอล

ในการออกแบบ เรามักจะกระชับพื้นที่ที่ควรจะเป็นประโยชน์และใช้ให้เต็มที่ ทุกซอกทุกมุมต้องมีค่า แต่การเผื่อพื้นที่ว่างก็สำคัญเช่นเดียวกัน เพราะในความเป็นจริงชีวิตก็ต้องการสเปซโล่งๆ ให้พักหายใจ ซึ่งจะสอดคล้องกับมุมมองทางสายตาของเราที่มักกว้างและสูงด้วย แต่คนเราเคยชินกับการจัดวางพื้นที่ใช้งานเป็นชั้นๆ อย่างตึกที่ดูเหมือนแฮมเบอร์เกอร์ สิ่งนี้แม้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ แต่ก็ตัดการเชื่อมต่อที่จำเป็นที่สายตามนุษย์สามารถเข้าถึงได้ไปพร้อมกัน ในบ้านยุคใหม่ๆ จึงพยายามขจัดอุปสรรคทางสายตาและการเข้าถึงในชั้นเดียวกันหรือระหว่างชั้นให้มากที่สุด ซึ่งบ้านสีส้มอิฐโทนร้อนหลังนี้เป็นอีกโครงการที่นำเสนอได้ดีครับ

ออกแบบ Hinz Studio
ภาพถ่าย : Guang Dam
เนื้อหาบ้านไอเดีย

บ้านโมเดิร์นโทนสีส้มอิฐ

DI House สร้างใน Củ Chi นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม เป็นบ้านสองหลังในที่ดินผืนเดียว ซึ่งสถาปนิกตั้งใจทำให้เหมือนบ้าน 1 หลัง บนพื้นที่ 650 ตร.ม. สำหรับครอบครัว 3 รุ่นที่มีสมาชิก 7 คน โครงสร้างทรงลูกบาศก์ที่สวยงาม ส่วนผนังภายนอกเลือกรูปแบบเรียบง่ายทาสีส้มตัดกับพื้นหลังสีเขียวของต้นไม้ เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับส่วนหน้าของสถาปนิกได้ผสมผสานกระเบื้องแบบดั้งเดิมของเวียดนามเข้ากับผนังสีส้ม พื้นผิวมันวาวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีที่นุ่มนวลเมื่อโดนแสงแดด รั้วอิฐช่องลมช่วยลดผลกระทบของฝุ่นละอองบนถนน แต่ยังมีลมไหลเข้าบริเวณบ้านได้

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

เจ้าของอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เป็นเวลาหลายปี ด้วยพื้นที่ไม่มากสมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถเห็นและได้ยินกันและกันได้  เมื่อมีโอกาสสร้างบ้านหลังใหญ่ก็ยังอยากเก็บความรู้สึกอบอุ่นนั้นไว้ อีกทั้งอยากให้ลูกหลานได้อยู่ใกล้ชิดตายายและธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้สถาปนิกจึงสร้างพื้นที่ขนาดใหญ่ระหว่างห้องนอนเพื่อให้ทุกคนสามารถเชื่อมต่อกันได้ในแนวนอน และยังมีช่องว่างในแนวตั้ง ในบ้านจะได้ยินเสียงหัวเราะ, เสียงฝีเท้าวิ่ง, เสียงลมพัดหรือกลิ่นของใบไม้หลังฝนตกใหม่ๆ ที่รู้สึกได้ทุกอย่างผ่านช่องว่างเหล่านี้


บันไดเหล็กสีดำเพดานคอนกรีตโค้งเป็นลอน

โครงสร้างของ DI ประกอบด้วย 3 ชั้น โดยชั้นแรกเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนกลาง เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องรับประทานอาหารแยกเป็นสัดส่วนสำหรับแต่ละครอบครัว และห้องนอนเล็กที่ส่วนท้ายของบ้าน ชั้น 2 ทั้งหมดจัดห้องนอนสำหรับสมาชิกโดยเฉพาะ ชั้นสามเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และห้องพิเศษ  สถาปนิกได้ใช้ประโยชน์จากช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างบ้านโดยออกแบบทางเดินยาวเชื่อม 2 ช่วงตึก ทำหน้าที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อเพื่อให้แน่ใจว่าทั้งสองแยกพื้นที่ใช้สอยออกจากกันเป็นสัดส่วน โดยไม่สูญเสียการเชื่อมต่อของทั้งครอบครัวนอกจากนี้การสร้างช่องว่างในบ้านยังทำให้การไหลเวียนของอากาศและแสงเดินทางได้ดี ลดความรู้สึกอึดอัดที่มักจะมีพื้นเพดานเป็นอุปสรรค

แสงผ่านช่องแสง skylight

สะพานทางเดินบนชั้นสอง

ภายในยังเน้นการสร้างวิสัยทัศน์ที่กว้างขวางและโปร่งสบาย จากแต่ละพื้นที่ของบ้านสมาชิกสามารถเพลิดเพลินกับทัศนียภาพของสวนสีเขียวได้กว้างไกลผ่านประตูกระจกบานใหญ่ หนึ่งจุดโฟกัสสายตาอยู่ที่หลังคาคอนกรีตโค้งสลับกับช่องแสง skylight เป็นรายละเอียดที่ตัดกันกับเส้นสายตรงไปตรงมาของส่วนอื่นๆ ในบ้านอย่างน่าสนใจ เมื่อแสงแดดส่องผ่านหลังคาโค้งๆ ก็จะทำให้แสงนุ่มนวลขึ้นและเกิดมิติของแสงเงาตกกระทบบนผนังและพื้นบ้านที่สวยงาม

ตกแต่งสวนในห้องอาบน้ำ

ห้องนอนใหญ่จัดค่อนข้างเรียบง่ายในโทนสีน้ำตาล ส้ม และเขียวคุมธีมให้มีอารมณ์เดียวกันทั้งบ้าน ในห้องนอนจะเชื่อมต่อกับห้องแต่งตัวและต่อเนื่องไปเป็นห้องน้ำที่ตกแต่งเอาไว้อย่างสวยงามด้วยวัสดุธรรมชาติจัดเป็นสวนขนาดเล็กมีต้นไม้ พื้นกรวด ผนังหิน เหมือนเข้าไปอาบน้ำท่ามกลางบรรยากาศป่ากลางแจ้ง ระหว่างห้องแต่งตัวไปห้องน้ำมีบานประตูกระจกฝ้า ช่วยสะท้อนแสงทำให้พื้นที่เปลี่ยนระหว่างวันให้มืดน้อยลงแต่เป็นส่วนตัวขึ้น

ผนังกระจกเปิดเชื่อมต่อสวน

ชั้นล่างผนังกระจกเปิดเชื่อมต่อสวน

เมื่อออกมานอกบ้านเดินอ้อมมาข้างๆ เลยมาถึงหลังบ้าน จะเห็นว่าพื้นที่ส่วนกลางชั้น 1 มีผนังสีเขียวที่เป็นจุดโฟกัสสายตา ดูเข้ากันได้กับสีของต้นไม้ใบหญ้า สถาปนิกออกแบบให้เปิดโล่งรับลมเย็นจากสวน ระบบประตูกระจกรอบๆ ช่วยรับแสงและเชื่อมโยงผู้คนกับธรรมชาติ สวนรอบบ้านนี้ไม่เพียงส่งเสริมการระบายอากาศ ช่วยให้อากาศภายในอาคารสดชื่นในฤดูร้อน แต่ยังสร้างความรู้สึกสงบอีกด้วย

ห้องนั่งเล่น ห้องครัว รับประทานอาหารชั้นล่าง

ไฟแขวนเล็กๆ บนเพดานดูเหมือนดาว

ในช่วงกลางวัน บ้านจะมีเอฟเฟกต์แสงที่สวยงามจากหลังคาคอนกรีตทรงโค้ง ในช่วงกลางคืน เมื่อเปิดไฟฟ้าส่องสว่างจะเห็นโคมไฟกลมๆ ที่แขวนลอยบนเพดานเปล่งประกายพร้อมกันหลายสิบดวง มองดูแล้วเหมือนเป็นดาวดวงเล็กดวงน้อยเต็มผืนท้องฟ้า ให้ความสว่างแก่โถงทางเดินในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านที่มีตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป มักจะปนะสบปัญหาใกล้เคียงกันคือ การเทพื้นเพดานที่ปิดทับระหว่างชั้นมีช่องว่างเพียงตรงบริเวณบันไดเชื่อมต่อระหว่างชั้นเท่านั้น เป็นการแบ่งพื้นที่บ้านให้แยกเป็นสัดส่วนก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็เท่ากับปิดกั้นทั้งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในบ้าน ไปจนถึงการเดินทางของแสงและลมได้ด้วย บ้านในยุคใหม่จึงเริ่มแก้ปัญหานี้ด้วยการเปิดเชื่อมต่อบ้านในแนวตั้ง ทำให้บ้านมีช่องว่างโถงสูงขนาดใหญ่ สมาชิกที่อยู่ต่างชั้นจึงสามารถมองเห็นกันได้ และยังเป็นช่องทางให้แสงและลมเดินทางในอาคารได้ดีขึ้นด้วย

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด