
บ้านญี่ปุ่นโดดเด่นที่หลังคา 2 ชั้น
สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นหรือจีนแบบดั้งเดิมมีจุดเด่นเฉพาะตัว องค์ประกอบหนึ่งที่เด่นชัด คือ หลังคา ซึ่งมักเรียกกันว่าเป็นด้านหน้าที่ห้าของอาคาร การอ้างอิงถึงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของประเทศญี่ปุ่นนั้นสามารถพบเห็นได้ทุกที่แม้แต่ในปัจจุบัน แต่ก็มีไม่น้อยที่แปลความหมายของหลังคาแบบสมัยใหม่ที่แตกต่างไป จากที่มีหลังคาเดียวคลุมบ้านทั้งหลังอาจแยกย่อยแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ในรูปร่างหน้าตาที่ไม่คุ้นตา ในขณะที่ฟังก์ชันหลักยังคงเป็นการคุ้มครองป้องกันพื้นที่และผู้อยู่อาศัยเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ออกแบบ : UID Architects
ภาพถ่าย : Nacasa & Partners Inc.
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
สถาปนิกชาวญี่ปุ่นUID Architects ออกแบบบ้านไม้หลังคาเฉียงสูงหันสลับทิศทางไปมา คล้ายกระดาษที่ถูกพับไปมาเป็นรอยชัดเจน โดยตีความแนวคิดของชายคา หลังคา และเอนกาวะใหม่ พร้อมกับเพิ่มพื้นที่ที่อิสระในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ผสมผสานเข้ากับสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นเข้ากับความโมเดิร์น ทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นกลุ่มบ้าน 7 หลัง ซึ่งแต่ละหลังมีหลังคาแยกกันทั้งหมดรวมเจ็ดหลังคา ที่ผสมผสานเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างอิสระ สร้างเส้นขอบฟ้าใหม่ที่กลมกลืนไปกับทัศนียภาพของเมืองโดยรอบ
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
หากมองจากภาพ Bird’s-eye view จะเห็นว่าพื้นที่ก่อสร้างค่อนข้างใหญ่สำหรับบ้านหนึ่งหลัง แต่ด้วยการแบ่งพื้นที่ออกเป็นอาคารแยกกัน 7 หลัง ทำให้งานง่ายขึ้นและดูสวยกว่าการสร้างหลังคาขนาดใหญ่หลังเดียวที่ดูเทอะทะ
หลังคารูปแบบนี้ไม่เพียงปกป้องบ้านเท่านั้น แต่ยังให้ความเป็นส่วนตัว แสง และการระบายอากาศที่แตกต่างกันได้ โดยการเปลี่ยนแปลงความลาดเอียง ความสูง และทิศทางของหลังคา ทีมงานยังรวมพื้นผิวหลังคาที่ดูแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ด้วยการใส่วัสดุกระเบื้องมุงหลังคาทั้งแบบเป็นลอนและแบบเรียบเหมือนมีหลังคาสองชั้นซ้อนกัน นอกจากนี้ลาดเอียงยังทำหน้าที่เป็นตัวรวบรวมน้ำฝน เอาไว้ใช้ในบ้านได้อีก
สะดุดตากับหลังคาข้างบนแล้ว มาดูที่ด้านล่างกันต่อกับกำแพงกันดิน ที่มีลักษณะคล้ายป้อมปราการช่วยแยกบ้านออกจากบริเวณโดยรอบ และมีทางเข้าเป็นเหมือนตรอกเล็ก ๆ เอียงเฉียงนำทางเข้าไปสู่ตัวบ้าน
ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านมีสเต็ปบันไดยกพื้นให้สูงกว่าลานเล็กน้อย ต้อนรับการมาด้วยพื้นบ้านปูงานไม้แสนประณีตผสมผสานกับวัสดุอื่นๆ เช่น คอนกรีต กระจก ใส่ม่านมู่ลี่สีขาวเหมือนประตูโชจิได้บรรยากาศสงบสบาย ส่วนโถงหน้าบ้านรวมถึงระเบียงที่ปรับประยุกต์จาก “เอ็งกาวะ” (Engawa) ระเบียงหรือเฉลียงที่ยื่นออกมาด้านนอกตัวบ้านญี่ปุ่นดั้งเดิม ให้คนในบ้านได้ออกมานั่งผ่อนคลายใกล้ชิดธรรมชาติได้
การจัดวางรูปแบบหลังคาที่มีทิศทางต่างกันนี้ ทำให้หลังคาและผังพื้นใต้หลังคาแยกจากกัน แต่ภายในบ้านทั้งหลังจะถูฏจัดวางเพื่อให้ความรู้สึกถึงจังหวะ และมีความต่อเนื่องภายในที่เข้าถึงกันได้หมดผ่านทางเดินเล็ก ๆ ส่วนประกอบของอาคารใต้หลังคาเป็นโครงสร้างไม้ที่ตีเป็นแนวเฉียงอย่างมีจังหวะสวยงาม โดยไม่มีฝ้าเพดานมาปกปิด ช่วยกำหนดบรรยากาศที่อบอุ่นและมี Texture ลงในบ้าน หลังคาทรงมุมสามเหลี่ยมที่สะดุดตา ไม่เพียงแต่สร้างบรรยากาศแบบไดนามิกเท่านั้น แต่ยังช่วยให้มีพื้นที่ทำหน้าต่างแนวตั้งใส่กระจกรับแสงเข้าบ้านในมุมสูงได้ด้วย
ห้องบางส่วนทำหน้าที่เป็นห้องทำพิธีชงชา แต่แม้จะเป็นเพียงโซนเดียวก็ยังตกแต่งบรรยากาศโดยรวมทั้งหมดให้เหมือนกัน ด้วยการใช้วัสดุและของตกแต่งในโทนเดียวกัน
ผนังและประตูกระจกขนาดใหญ่ตามห้องต่างๆ รวมถึงทางเดินที่ล้อมสวนอยู่ เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยสามารถสังเกตและมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ของแต่ละฤดูกาล
ภายใน แสงแดดส่องผ่านต้นไม้เล็กๆ เพื่อสร้างรูปแบบเงาตามธรรมชาติลงบนพื้นและสวนหิน ในขณะเดียวกัน ในเวลากลางคืน ใต้หลังคาจะได้รับแสงเพื่อให้กลายเป็นพื้นผิวที่เรืองแสงอันอบอุ่นในความมืด
แปลนบ้าน