บ้านชั้นครึ่งหน้าแคบลึกบนเนิน
“ไม่มีบ้านหลังใหญ่ ไม่มีรูปลักษณ์พิเศษ แต่ตราบใดที่บ้านเป็นสถานที่ที่น่ากลับบ้าน เป็นสถานที่ที่คุณรู้สึกสบายใจและไม่อยากไปที่อื่น มันก็เป็นสถานที่ที่คุ้มค่าแก่การอยู่อาศัย” นี่เป็นแนวคิดของเจ้าของบ้านหลังนี้ที่มีพื้นที่เพียง 80 ตารางเมตร ด้วยที่ตั้งอยู่บนเนินพื้นที่มีลักษณะแคบยาว ในขณะที่ต้องการใช้ประโยชน์สูงสุดจากทุกพื้นที่ในบ้าน จึงเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะสร้างสรรค์ให้พื้นที่ภายในอาคารมีความรู้สึกใหญ่กว่าพื้นที่จริงและเต็มไปด้วยแสงสว่างอยู่เสมอ ซึ่งทีมงานได้ใช้เวลา 4 เดือนในการออกแบบพร้อมลงมือสร้างให้เป็นรูปเป็นร่าง
ออกแบบ : Q&A Architect
ภาพถ่าย : Paul Phan Photos
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านหลังคากระเบื้องสีแดหลังนี้ชื่อ PTH House เป็นของครอบครัวสมาชิก 4 คน ในฟานราง นิงถ่วน เวียดนาม เจ้าของบ้านต้องการผสมผสานความทันสมัยเข้ากับความเรียบง่าย พร้อมด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามาทั่วพื้นที่อยู่อาศัย แต่ปัญหาของไซต์นี้นอกจากภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงชันแล้ว รูปร่างที่ดินยังมีความพิเศษอีกด้วย จึงต้องออกแบบด้วยความพิถีพิถัน ซึ่งเจ้าของบ้านได้ติดตามการออกแบบอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีส่วนในการเลือกวัสดุและสไตล์ สัมผัสการก่อสร้างแต่ละขั้นตอนด้วยตัวเองเอง
บทสรุปหลังตากใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการก่อสร้าง ออกมาเป็นบ้าน 1.5 ชั้น เมื่อมองจากภายนอก จะเห็นว่าด้านหน้าของบ้านที่มีขั้นบันไดอิฐเปลือย และหน้าต่างกระจกสี่เหลี่ยมและทรงกลมสร้างบุคลิกของตัวเองมีส่วนหน้าที่ดูเรียบง่าย คงไม่มีใครคิดว่าพื้นที่เพียง 80 ตารางเมตร และความกว้างเพียง 3.5 เมตร ก็สามารถสร้างบ้านที่ ‘กว้างขวาง’ ได้ สถาปนิกจึงเลือกแนวทางการออกแบบส่วนหน้าอาคารด้วยหน้าต่างกระจกเน้นๆ ช่วยให้เจ้าของบ้านสังเกตภูมิทัศน์บริเวณหน้าบ้านได้ง่าย
จากทางเข้าเป็นพื้นที่นั่งเล่น การตกแต่งภายในให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่เรียบง่ายได้ฟีลร่วมสมัยบ้านๆ และขนาดกะทัดรัด เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านจัดวางในแนวตั้งและวางชิดผนังเพื่อประหยัดพื้นที่ ลดการก่อผนังทึบแยกส่วนใช้งานสร้างความรู้สึกของพื้นที่บ้านที่กว้างขวาง ภายในมีมุมนั่งเล่นมองเห็นวิวได้หลายๆ ด้าน เลือกได้ตามใจชอบว่าช่วงเวลาไหนต้องการใช้พื้นที่ตรงไหน
พื้นที่ส่วนกลางเป็นห้องโถงขนาดใหญ่แบบ open plan รวมทั้งห้องนั่งเล่นเชื่อมต่อกับห้องครัวแบบเปิดและห้องรับประทานอาหาร ระหว่างวันทุกคนในบ้านสามารถใช้พื้นที่ร่วมกันได้ ทำให้บ้านเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและความอบอุ่น ในส่วนครัวรูปร่างเคาน์เตอร์ร่างเป็นตัว L เรียงตามพื้นที่ผนัง เชื่อมต่อกับโต๊ะทานข้าวเป็นส่วนเดียวกัน ส่วนผนังกันเปื้อนตกแต่งด้วยกระเบื้องสีเทาอมฟ้าและไม้สีอ่อนๆ เส้นสายเรียบๆ ที่ให้ความรู้สึกแบบโมเดิร์น
แสงสามารถลอดผ่านทุกมุมของหน้าต่างที่รายล้อมในบ้านหลังนี้ เปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นเรื่องราวของแสงตะวันและสายลมในแต่ละเดือนที่แตกต่างไปในทุกฤดูกาล นอกจากนี้สถาปนิกยังใส่ลูกเล่น Skylight ที่รับแสงเข้าสู่บ้านจากด้านบนเพิ่มเติม ใส่ระแนงเหล็กเป็นเส้นๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เมื่อแสงแดดสาดส่องบ้านจะสร้างเส้นสายของแสงเงาที่ตกกระทบราวกับภาพวาดศิลปะ
หนึ่งจุดที่น่าสนใจคือ การออกแบบให้มีลานบ้านมีช่องแสงสกายไลท์ตั้งอยู่ติดกับห้องนอนหลัก ช่วยให้แสงธรรมชาติและลมเข้าสู่แกนกลางอาคาร และเป็นการเติมความสดชื่นของสวนให้บ้าน คน และธรรมชาติยังมีความใกล้ชิดกัน
ด้วยระบบสกายไลท์ทำให้บ้านได้รับแสงธรรมชาติเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างครัวกับห้องนอนที่อยู่ในช่วงหลัง บ้านยังใช้บล็อกแก้วเพื่อช่วยนำแสงเข้าสู่ภายในอีกทาง บ้านจึงไม่ขาดแสงในช่วงกลางอาคาร ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สุดของบ้านที่มีลักษณะลึกยาว
ห้องนอนหลักมีการออกแบบที่เรียบง่าย ลดการใช้เฟอร์นิเจอร์ จัดลำดับความสำคัญของแสงและการระบายอากาศได้เป็นอย่างดี จากหน้าบ้านเข้ามาด้านใน ขึ้นไปถึงห้องนอน ห้องน้ำ ชั้นใต้หลังคา ยังไม่รู้สึกเลยว่าบ้านหลังนี้พื้นที่น้อยมากและมีหน้ากว้างเพียงสามเมตรกว่า ๆ เท่านั้น
หลังคาที่เฉียงสูงขึ้นไป ช่วยทำให้บ้านรู้สึกถึงพื้นที่สูงโปร่งด้านบน แทนการโฟกัสไปที่ด้านข้าง นอกจากนี้ยังช่วยเอื้อต่อการระบายอากาศ ให้ความร้อนลอยตัวขึ้นสู่ด้านบนและระบายออกได้ดี แม้บ้านเวียดนามส่วนหนึ่งจะไม่มีฝ้าเพดาน แต่วัสดุมุงที่เป็นดินเผาก็ทำหน้าที่ปกป้องบ้านจากความร้อนได้ดี
แปลนบ้าน