บ้านสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอล
‘บ้าน’ เป็นคำที่มีความหมายชัดเจน ให้ความรู้สึกอบอุ่นเช่นเดียวกับคำว่า ‘โชลา’ แปลได้คร่าวๆ ว่าที่เป็นร่มเงา เป็นที่พักพิง ลำธาร ในภาษามลายาลัม เจ้าของบ้านในอินเดียก็ต้องการที่จะเป็นเจ้าของสถานที่ที่สื่อถึงคำเหล่านี้ จึงมองหาพื้นที่ร่มรื่น เงียบสงบ แต่เป็นเมืองที่ห่างไกลจากชีวิตการทำงานที่วุ่นวาย เพื่อสร้างบ้านแบบที่ฝันไว้ เนื้อหานี้เราจะพาไปชมบ้านที่เปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างทางหลวงอันพลุกพล่านและทุ่งนาในหมู่บ้านเล็กๆ โดยเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับสภาพแวดล้อม แต่ไม่ลืมที่จะใส่โซลูชั่นที่เพิ่มสภาวะสบายให้บ้านเขตร้อนชื้น
ออกแบบ : Arton Architecture
ภาพถ่าย : Prasanth Mohan
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
“โชลา” คือชื่อโครงการบ้านของคู่รักซึ่งมีเพื่อนและสมาชิกครอบครัวมาเยี่ยมเยียนบ่อยๆ ที่ดินแปลงนี้เป็นแปลงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เข้าออกได้จากทางหลวงฝั่งตะวันตก มีชุมชนอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ ฝั่งตะวันออกมีทุ่งนาและพื้นที่สีเขียวขจีอยู่โดยรอบ บริบทของไซต์ซึ่งตั้งอยู่ที่ Chalissery ยังมีอาคารแบบดั้งเดิมของแคว้นเกรละมากมาย โดยมีกำแพงศิลาแลงที่เปิดโล่ง รูปร่างหลังคาที่โดดเด่น และรายละเอียดไม้อันวิจิตรบรรจงเป็นลักษณะเด่น ทีมงานจึงนำมาเป็นหลักในการออกแบบ โดยปรับสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
การผสมผสานวัสดุดั้งเดิมเข้ากับรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่ เห็นได้ชัดตั้งแต่หลังคา ซึ่งมีรูปหลังคาแบบเพิงหมาแหงนหันสลับด้านกัน ส่วนประกอบจะมีทั้งหมด 3 ชั้น คือ กระเบื้องดินเผา แผ่นฉนวนอลูมิเนียม และกระเบื้องฝ้าเพดานดินเผา พร้อมจันทันและแปเหล็ก GI ฝ้าเพดานจะใช้แบบมีรูพรุนเล็ก ๆ สำหรับปกป้องบ้านจากความร้อน ช่วยระบายอากาศ และป้องกันหนู
สำหรับโจทย์ของบ้าน นอกจากจะต้องทำให้ภูมิทัศน์กลมกลืนไปกับการตกแต่งภายในได้อย่างลงตัว ยังต้องการให้มีอาคารรับรองแขกแยกออกมาพร้อมห้องโถงเป็นโฮมสเตย์ในอนาคต เผื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้หลังเกษียณอายุ บ้านนี้จึงค่อนข้างใหญ่มีส่วนประกอบสองอาคารหลังที่คั่นด้วยลาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งจุดที่เชื่อมต่อและแยกสัดส่วน
ในชั้นล่างบางส่วนจะโล่งโปร่งเหมือนมีใต้ถุน เพื่อการเชื่อมต่อทางสายตาและการระบายอากาศ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ ‘โชลา’ โดยมีฉากช่วยพรางตาในส่วนที่ต้องการ ทำให้ไม่กระทบต่อความต้องการความเป็นส่วนตัวขั้นพื้นฐาน หากมองจากถนนภายนอกจะดูเก็บตัวและเปิดกว้างด้านเข้าออกทางทุ่งนา เพื่อเปิดให้ทิวทัศน์ผสานเข้ากับการตกแต่งภายในและมองเห็นทิวทัศน์อันเงียบสงบของสระน้ำพร้อมความเขียวขจีด้านหลัง สถาปัตยกรรมจึงทำหน้าที่เป็นฉากในการเพลิดเพลินกับความงามของธรรมชาติ โดยมีตัวอาคารเป็นรอง
พื้นที่นั่งเล่นมีผนังศิลาแลงและเพดานคอนกรีต ให้สมาชิกในบ้านและผู้มาเยือนได้ฉาบแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า และเดินสำรวจบริเวณโดยรอบผ่านทางเดินที่ทำเอาไว้รองรับ ในช่วงที่อยากพักสักนิดก็แวะมานั่งแกว่งชิงช้าไม้ไปมา ชวนรำลึกถึงความหลังที่แต่ละบ้านมักจะมีชิงช้ามัดติดใต้ถุนให้เด็ก ๆ เล่นกันเป็นประจำ
ในทางเข้าตัวบ้านหลักจะเดินขึ้นบันไดที่สูงไม่กี่ขั้น เพื่อเชื้อเชิญให้คนเข้าไปที่ระเบียง นั่งพูดคุยกับเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักแบบสั้นๆ โดยไม่รบกวนพื้นที่ส่วนตัวข้างใน จุดนี้จะมีม้านั่งคอนกรีตบิลท์ในตัวเป็นรูปตัวแอล ซึ่งมีฟังก์ชันสำหรับวางชั้นวางรองเท้าและสิ่งของอื่นๆ ไว้ด้านล่างได้ด้วย
ความน่าสนใจของการตกแต่งภายใน เริ่มจากผนังปูนเปลือยมุมโค้งมน ลดความแหลมคมและความแข็งกระด้างของวัสดุลง เมื่อเดินเข้ามาอีกเล็กน้อยจะพบกับพื้นสีเหลืองสลับเทาเหมือนเกมหมากรุกในใจกลางบ้าน กระดานหมากรุกนี้เล่นได้จริงๆ โดยใช้ตัวหมากขนาดใหญ่กว่าปกติ อีกจุดหนึ่งคือ พื้นไม้ใต้บันไดบิลท์เป็นที่นั่งในตัวสร้างฟังก์ชันเสริมให้กับบันได เหนือบริเวณนี้จะเชื่อมต่อในแนวตั้งขึ้นไปเป็นโถงสูง จากห้องนั่งเล่นจะมองเห็นห้องใต้หลังคาด้วย การเพิ่มช่องว่างแบบนี้ยังช่วยให้อากาศร้อนลอยตัวขึ้นและระบายออกจากอาคารได้ดี
ร่องรอยของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นก็ยังคงซ่อนเร้นอยู่ภายใน เห็นได้จากโทนสีวัสดุจากธรรมชาติ อย่าง เพดานดินเผา ผนังกั้นไม้ไผ่ พื้นหิน ผนังที่เปลือยด้วยศิลาแลง ผนังซีเมนต์ขัดเงา คานไม้เป็นวัสดุรีไซเคิลถูกนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างองค์ประกอบที่ใช้งานได้ในสภาพแวดล้อมร่วมสมัย พร้อมด้วยเครื่องทอผ้ามือของรัฐเกรละสำหรับตกแต่งภายใน เป็นการขับขานเพลงแห่งอดีตด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่า ซึ่งยังคงแนวคิดของการนำสุนทรียศาสตร์แบบวินเทจมาปรับให้ทันสมัย
การเล่นของแสง เป็นหนึ่งวิธีการทางสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ที่ใส่ลงไปในบ้าน ทั้งแสงจากประตูหน้าต่างโดยตรง หรือแสงจากสกายไลท์ รวมถึงแสงที่ลอดผ่านระหว่างซี่ไม้ไผ่ที่ใช้เป็นม่านบังตาให้กับบ้าน ซึ่งจะให้มิติของแสงและเงาแตกต่างไปตามการเดินทางของแสงในแต่ละช่วงของวัน
สระน้ำแบบไร้ขอบที่นี่ ได้รับอิทธิพลจากสระน้ำแบบดั้งเดิมเช่นกัน ในส่วนเฉลียงจะทำมุม 45 องศา ให้นั่งทำสมาธิอย่างสงบ สบาย ท่ามกลางสีสันอันเขียวขจีที่เพิ่มความสดชื่นให้กับดวงตาที่เหนื่อยล้าจากชีวิตในเมือง บ้านแห่งนี้จึงบรรลุคำนิยามของ Chola คือ เป็นทั้งร่มเงา เป็นที่พักพิง และเป็นสายธารแห่งความรัก เมื่อรวมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันก็กลายเป็น “บ้านของเรา” ในที่สุด
แปลนบ้าน