สัญญาสร้างบ้าน
บังคับใส่รายละเอียด BOQ แก้ปัญหาลดสเป็กวัสดุ
นำข่าวคราววงการก่อสร้างมาให้อ่านกันครับ เป็นข่าวคราวที่ผู้บริโภคที่ได้สร้างบ้านหรือซื้อบ้านกับโครงการจัดสรรได้ร้องเรียนกันมามากที่สุด ถึงการโกงวัสดุของโครงการและบริษัทรับสร้างบ้าน ทาง สคบ. จึงได้มีมาตรการควบคุมซึ่งหากผ่านการอนุมัติแล้วจะช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเรา ได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีบ้านจัดสรรที่มักให้ชมบ้านตัวอย่างสวยงาม แต่เมื่อสร้างจริงกลับใช้วัสดุที่แตกต่างกัน ขนาดที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่การควบคุมงานของผู้รับเหมา การบังคับสัญญาเพื่อให้มีรายละเอียดการก่อสร้าง จึงน่าจะเป็นอีกหนทางที่ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีครับ
ข้อมูลโดย : ประชาชาติธุรกิจ
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สคบ.เตรียมออกประกาศให้การว่าจ้างก่อสร้างบ้านและอาคารอยู่อาศัยเป็นธุรกิจ ที่ต้องควบคุมข้อความในสัญญา สาระสำคัญคือจะควบคุมว่าในสัญญาต้องระบุข้อความอะไรบ้าง เพื่อลดข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการว่าจ้างก่อสร้างบ้านและอาคาร ตามขั้นตอน คาดว่าเตรียมเสนอให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาพิจารณาตัวร่างภายในเดือนธันวาคม นี้ หากได้รับการอนุมัติ จะเสนอสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ต่อไป
นายอำพล กล่าวว่า จุดเน้นของสัญญาควบคุมคือบีโอคิว (Bill of Quantity-BoQ) หรือบัญชีแสดงปริมาณวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง เช่น คุณสมบัติวัสดุ ปริมาณการใช้วัสดุแต่ละประเภท เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการบางรายไม่ได้ระบุในสัญญาอย่างละเอียด ส่งผลให้เกิดปัญหาร้องเรียนมีการลดสเป็กวัสดุภายหลัง ส่วนรายการวัสดุที่จะกำหนดในสัญญาควบคุมต้องรอสรุปในที่ประชุมคณะกรรมการว่า ด้วยสัญญาอีกครั้ง
ทั้งนี้ สถิติปีงบประมาณ 2557 สคบ.รับเรื่องร้องเรียนบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และบ้านที่ก่อสร้างโดยบริษัทรับสร้างบ้านและผู้รับเหมาในกรุงเทพฯและปริมณฑล ประมาณ 1,200 ราย ในจำนวนนี้ 40-50% หรือ 500-600 รายร้องเรียนวัสดุก่อสร้างไม่ได้คุณภาพ ปรับลดสเป็กวัสดุ และถูกทิ้งงาน ตามลำดับ
“ถ้า สคบ.ไม่ทำอะไร แนวโน้มข้อร้องเรียนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ 2-3 ปีนี้อสังหาฯใน ต่างจังหวัดขยายตัวมาก ส่วนกรณีที่ทำสัญญาไปแล้ว และผู้บริโภคขอเปลี่ยนสเป็กวัสดุระหว่างก่อสร้าง ผู้ประกอบการสามารถทำสัญญาใหม่กับลูกค้าได้” นายอำพลกล่าว
แหล่งข่าว จาก สคบ.เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจรับจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ….ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการพิจารณากลางเดือนธันวาคมนี้ มีสาระสำคัญของรายละเอียดที่จะต้องระบุในสัญญา 7 ข้อ ได้แก่
- บัญชีแสดงปริมาณวัสดุที่ใช้และราคา (บีโอคิว)
- สถานที่ วัน-เดือน-ปีที่ทำสัญญา รูปแบบอาคาร
- ต้องระบุราคาค่าก่อสร้างรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และหน้าที่จัดหาวัสดุตามกำหนดอายุสัญญา
- งวดงานกับการชำระเงินตามเนื้องานที่ได้สัดส่วนกันในแต่ละงวด
- กรณี ผู้ประกอบการยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างแทนลูกค้า จะต้องระบุกำหนดเวลายื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายในกำหนด นับตั้งแต่วันทำสัญญา
- ระบุเวลารับจ้างสร้างบ้านแล้วเสร็จ นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน กทม.หรือท้องถิ่นตามกฎหมาย และ
- ผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องของอาคาร แยกเป็นโครงสร้างอาคาร รับประกันขั้นต่ำ 5 ปี และส่วนควบอาคาร (เช่น ประตู หน้าต่าง หลังคา ฯลฯ) 2 ปี
นายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า สมาคมได้ติดต่อขอเข้าพบเลขาธิการ สคบ. เพื่อหารือร่างสัญญาใหม่ โดยสมาคมไม่ขัดข้องที่จะควบคุมสัญญาจ้างก่อสร้างบ้าน เพราะหลักการถือเป็นผลดีกับผู้บริโภค และช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการ เพียงแต่มีความเป็นห่วงว่าอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ ถ้าบังคับให้ต้องระบุรายละเอียดบีโอคิวตั้งแต่รายละเอียดปริมาณวัสดุ ค่าวัสดุ ค่าแรง ค่าดำเนินการ โดยต้องคำนวณปริมาณการใช้เหล็ก-ปูนซีเมนต์กี่กิโลกรัม แสดงราคาต่อหน่วย ฯลฯ ในทางปฏิบัติสัญญาจะจ้างแบบเหมารวมทั้งออกแบบและก่อสร้าง ส่วนใหญ่มีข้อตกลงให้ลูกค้าสามารถปรับแบบสเป็ก-รุ่นวัสดุระหว่างก่อสร้างได้ บ้าง แต่ถ้าหากระบุรายละเอียดบีโอคิวในสัญญาแล้วมีการปรับสเป็กวัสดุภายหลัง อาจจะกลายเป็นการผิดสัญญา
หากผลคืบหน้า หรือได้เริ่มใช้กันเมื่อไหร่แล้ว บ้านไอเดียจะนำมาอัพเดทให้ทราบกันนะครับ http://www.tb-credit.ru/zaimy-online.html