ต่อเติมอาคารเก่าเป็นคาเฟ่ใหม่
ความต้องการบริการคาเฟ่สำหรับคนหนุ่มสาวยุคใหม่ยังมีอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีร้านหายไปมากมายแต่ก็มีผุดใหม่มาแทนที่เสมอ ในแหล่งท่องเที่ยวของจีนก็เช่นกัน อย่างโครงการนี้ ตั้งอยู่เชิงเขาเทียนฮัวในเมืองชิงซานปูอำเภอฉางซา มณฑลหูหนาน พื้นที่ท่องเที่ยวจุดนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสีแดงระดับ 4A (สูงสุดคือ A5) แต่สิ่งอำนวยความสะดวกที่รองรับในปัจจุบันยังไม่สมบูรณ์แบบและขาดความน่าดึงดูดใจ ดังนั้นรัฐบาลท้องถิ่นจึงเข้ามาปรึกษาสถาปนิก เพื่อให้จัดการออกแบบตกแต่งร้านกาแฟและร้านหนังสือให้สวยงามและมีต้นทุนต่ำ ซึ่งทีมงานทำได้ดีอย่างน่าทึ่งทีเดียว
ออกแบบ : ZhiXing Architects
ภาพถ่าย : Shanxi Architectural Photography
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่หลักของพื้นที่ท่องเที่ยวสีแดง ซึ่งเกณฑ์นี้รวมถึงปัจจัยด้านคุณภาพและการจัดการ อาทิ ความสะดวกในการคมนาคม, การจัดการการเที่ยวชมสถานที่, ความปลอดภัยของสถานที่, ความสะอาด และอื่นๆ โดยที่รูปลักษณ์ของโครงการจะต้องสอดคล้องกับที่อยู่อาศัยในท้องถิ่น ซึ่งเป็นความท้าทายหลักในการออกแบ ว่าจะสร้างสมดุลระหว่างข้อกำหนดสไตล์ดั้งเดิมของพื้นที่ท่องเที่ยว “สีแดง” ได้อย่างไร ในขณะที่ต้องดึงความสนใจของ “คนดังทางอินเทอร์เน็ต” ให้แวะเข้ามาเช็คอินได้
ด้วยข้อกำหนดต่างๆ ที่ว่ามา ทีมงานจึงสำรวจพื้นที่เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจ จนพบอาคารเก่าทรุดทรมหลังนี้ที่นำมาปรับประยุกต์ได้ โดยใช้วัสดุที่เรียบง่าย จึงยังเหลือกลิ่นอายเค้าโครงเดิมในลุคที่ทันสมัยขึ้น
อาคารที่ปรับปรุงแล้วเสร็จมีสองชั้น แต่มุมมองทุกด้านจะมีความแตกต่างกันทั้งหมด เริ่มจากทางเข้าถึงไซต์ทางด้านตะวันตก จากระดับที่จอดรถจะเห็นเป็นอาคารชั้นเดียว แต่ถ้าเข้ามาด้านใน มองจากด้านข้างจะเห็นเป็นอาคารสองชั้นหลังคาจั่วเอียงแบบไม่สมมาตร ส่วนอีกด้านที่ติดแม่น้ำจะกลายเป็นอาคารที่มีระเบียง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะไซต์เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าถนนหลักของพื้นที่ชมวิวประมาณสองเมตร ดังนั้นอาคารดั้งเดิมจึงเหมือนซ่อนอยู่ลึกลงไป ทำให้มองไม่เห็นเมื่อขับรถผ่านไปมา ดังนั้นจึงต้องเพิ่มชั้นบนขึ้น เพื่อสร้างการ “มองเห็นได้” ที่ชัดเจน แค่เห็นหลังคาก็น่าเข้ามาแวะ
ด้านหน้าอาคารหันไปทางทิศใต้ มีความรู้สึกถึงขนาดในระดับหนึ่ง และนำผู้คนให้ไหลเข้ามาที่อาคาร ส่วนด้านเหนือของอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมไม้ไผ่ ที่สร้างขึ้นในส่วนที่มีภูมิประเทศสูงกว่า นักท่องเที่ยวจึงสามารถข้ามพื้นที่ที่ต่ำนี้และมองไปยังพื้นที่ชมวิวหลักของภูเขาเทียนฮัวได้
ในส่วนของวัสดุก่อสร้าง เป็นแบบผสมผสานระหว่างอิฐและไม้แบบดั้งเดิม ซึ่งมีที่มาจากการที่ทีมงานต้องเผชิญกับปัญหาคลาสสิค คือ ความขัดแย้งระหว่าง “ต้นทุน” และ “ผลลัพธ์” แม้ว่าพื้นที่ก่อสร้างจะมีเพียง 190 ตารางเมตร แต่เจ้าของมีงบประมาณ500,000 ถึง 800,000 หยวน (ประมาณ 3.8 ล้านบาท) หลังจากหักการออกแบบภูมิทัศน์และอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ยังไม่พอก่อสร้างและตกแต่ง ทีมงานจึงได้ตัดสินใจไม่ทำโครงสร้างแบบหล่อในที่ตามที่วางแผนไว้แต่แรก และหันมาใช้วิธีการก่อสร้างแบบผสมอิฐคอนกรีต+ไม้ ที่ใช้กันทั่วไปในบ้านในท้องถิ่นของหูหนานแทน
เมื่อเทียบกับหลังคาคอนกรีตหล่อในที่ หลังคาไม้มีน้ำหนักเบากว่า ช่วยลดน้ำหนักของโครงสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องใช้กระบวนการที่ซับซ้อน เช่น การเสริมเหล็ก การหล่อแบบ การหล่อในที่ และการปรับระดับ นอกจากนี้ หลังคาไม้สามารถใช้เป็นพื้นผิวที่มองเห็นได้โดยตรง ไม่ต้องฉาบหรือตกแต่งมาก ช่วยประหยัดต้นทุนในรายละเอียดอื่นๆ ได้มาก
ภายใน coffee bookstore นี้ เป็นห้องเจาะโถงสูงสองเท่าโชว์โครงสร้างหลังคาไม้ แม้จะใช้ระบบโครงสร้างที่ค่อนข้างดั้งเดิม แต่กลับนำเสนออารมณ์ที่สดใหม่และทันสมัยกว่า ซึ่งต้องใช้นวัตกรรมในรายละเอียดของรูปแบบ และการเลือกใช้วัสดุที่ราคาถูกกว่าแต่ได้ประสิทธิภาพและลุคใหม่ๆ อาทิ การนำไม้อัด OSB มาใช้กรุผนัง ทำชั้นหนังสือ หรือแม้กระทั่งเป็นลูกนอนบันไดที่ออกแบบให้โปร่งๆ ไม่มีลูกนอน เมื่อมารวมกับเส้นสายของเหล็กสีดำ และใช้กระจกในบริเวณกว้าง ทำให้ภาพรวมดูโมเดิร์นขึ้น
ไม้อัด OSB (Oriented Strand Board) แผ่นบอร์ดที่ผลิตจากการนำชิ้นไม้ขนาดเล็ก (Strand) มาอัดรวมกันด้วยความร้อนและแรงดัน โดยใช้กาวชนิดต้านทานความชื้นเป็นตัวประสาน มีความเหนียว ยืดหยุ่นสูง รับแรงเฉือนแรงดัดได้ดี และแข็งแรงกว่าไม้อัดชนิดอื่น 3 เท่า
หลังคาทั้งสองด้านของอาคารแบบดั้งเดิม ชายคาจะยื่นออกมา 60-80 เซนติเมตร เพื่อป้องกันผนังจากความเสียหายจากน้ำฝน อย่างไรก็ตามปัจจุบันวัสดุผนังภายนอก สามารถกันน้ำและป้องกันการกัดกร่อนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นชายคาอาคารใหม่จึงไม่จำเป็นต้องกว้างเท่าเดิม ส่วนวัสดุหลังคาแบบดั้งเดิมมักใช้ดินเผาหรือเซรามิก ซึ่งมีน้ำหนักค่อนข้างมากและแก้ปัญหาเรื่องน้ำรั่วตรงจุดเชื่อมต่อของหลังคาได้ยาก ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้แอสฟัลต์ที่เบากว่าและเรียบ ควบคู่กับการใช้ไม้ OSB สำหรับใช้ทำ Sub Roof แล้วเพิ่มแผ่นระบายน้ำที่ชายคาเพื่อนำทางน้ำและปกป้องชายคาได้ดีขึ้น
บรรยากาศของโครงการยามค่ำ ชวนให้มา
แปลนอาคาร