
บ้านหน้าแคบลึกไม่มีปัญหาขาดแสงและลม
นอกจากญี่ปุ่นแล้วประเทศที่กำลังตามมาติด ๆ ในเรื่องของบ้านหน้าแคบ และความกล้าที่จะดีไซน์รูปทรงบ้านแปลก ๆ คงจะเป็นเวียดนาม นั่นเป็นเพราะการพัฒนาเมืองกำลังพัฒนาอย่างมากจากเมืองไปสู่พื้นที่ชนบทในเวียดนาม ทำให้บ้านสไตล์เมืองเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างหนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ภาพลักษณ์บ้านพื้นถิ่นที่อบอุ่นสงบสุขแบบดั้งเดิมค่อยๆ จางหายไปตามเวลา บ้านเดียนคานห์หลังนี้จึงเป็นโปรเจ็คที่พยายามรักษาความคุ้นเคยจากบ้านในชนบทเข้ากับความทันสมัยให้มากที่สุด
ออกแบบ : 6717 studio
ภาพถ่าย : Hiroyuki Oki
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
6717 Studio ได้ออกแบบ้านขนาด 130 ตารางเมตร ในชุมชน Dien Phu อำเภอ Dien Khanh จังหวัด Khanh Hoa ประเทศเวียดนาม เมื่อเห็นครั้งแรกก็สามารถทำให้เราประหลาดใจและทึ่งกับวิธีการเปิดและปิดพื้นที่ที่ยืดหยุ่นและไม่เหมือนใคร โดยใช้วัสดุกระเบื้องคลุมบ้าน และจัดฟังก์ชันรวมทั้ง ลม แสง สร้างสภาพแวดล้อมที่สดชื่นใกล้ชิดกับธรรมชาติภายใน ให้ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ผนังด้านข้างถูกปิดทึบสูงเท่ากับความสูงของหลังคา ซึ่งเป็นข้อกำหนดของบ้านในเวียดนาม บ้านที่มีความยาวมากเอื้อให้ระยะ setback ค่อนข้างลึก จึงเป็นส่วนตัวออกจากถนน
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เนื่องจากบ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตอนกลาง ซึ่งมักมีพายุฝนที่รุนแรง รูปร่างและวัสดุจึงได้รับการศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศแบบในท้องถิ่น จากมุมมอง birdview จะเห็นว่าโครงการนี้ทั้งความแปลกและคุ้นเคยในคราวเดียว อย่างเช่น การผสมผสานหลังคากระเบื้องดินเผาสีแดงเป็นลอนคลื่น ที่นิยมใช้งานมาตั้งแต่เก่าก่อน เมื่อเข้าใกล้อาคารก็ยิ่งรู้สึกเหมือนคุ้นกันมาก่อน ทั้งยังช่วยปกป้องบ้านจากอากาศร้อน ฝน ลม ในขณะที่ดูกลมกลืนกับทิวทัศน์อันสวยงามของภูเขาและแม่น้ำในดินแดนเดียนคานห์
หลังคาคอนกรีตขนาดใหญ่มีความลาดเอียงสูงมาก โดยขยายคลุมพื้นที่จากชั้นบนไปยังชั้นล่างของอาคารรวมทั้งระเบียงกว้าง องค์ประกอบเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อป้องกันห้องนั่งเล่นจากแสงแดดในฤดูร้อนและฝน รูปทรงหลังคาของบ้าน Duyen Khanh เหมาะสำหรับการป้องกันพายุ เพราะหลังคาลาดเอียงและช่องเปิดที่ออกแบบไว้จะช่วยให้ลมพัดผ่านตัวอาคารได้ดี ลดความเสียหายจากการโจมตีของพายุได้มากกว่าการทำบ้านเป็นทรงกล่องปิดทึบ
โซลูชันการออกแบบพื้นที่เปิดและปิดในบ้าน จะทำให้ผู้มาเยือนประหลาดใจได้อย่างแน่นอน จากลานบ้านวิวจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเมื่อเราเข้าไปในบ้าน ผนังหน้าบ้านที่มีลูกเล่นของช่องแสงก็เริ่มสร้างความประทับใจแล้ว ต่อมาจะพบกับการสร้างความน่าสนใจของสเปซที่มีพื้นที่บ้านแบบ open plan เปิดเชื่อมแนวนอนในชั้นล่าง และพื้นที่แนวตั้งขยายสูงขึ้นเชื่อมต่อกับชั้นลอย จากนั้นความสูงเพดานจะค่อย ๆ ลดลงตรงโซนครัวและแคบลงเมื่อผ่านทางเดินเชื่อมไปยังหลังบ้าน การออกแบบตกแต่งภายในเน้นความเรียบง่าย ความสะดวกสบายที่ทันสมัยของชีวิตร่วมสมัย เลือกใช้สีขาวและไม้เนื้ออ่อนทำให้พื้นที่ภายในกว้างขวางและสว่างสดใส องค์ประกอบที่มักพบในบ้านชนบทเวียดนามถูกรวมเข้ากับพื้นที่ภายในอย่างชาญฉลาด เช่น โซฟาไม้ในห้องนั่งเล่น เบาะนั่งในลานซึ่งมักพบในพื้นที่ที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิม
บันไดเป็นไฮไลท์ของบ้าน สถาปนิกออกแบบบันไดโค้งตรงจุดที่เป็นมุมหักของที่ดินรับกันได้พอดี วัสดุตกแต่งบันไดและตัวอาคารทำด้วย Terrazzo หรืองานหินขัด ที่ใช้เกล็ดหินขนาดต่างๆ ผสมกับซีเมนต์ขาวหรือเปลือกหอยมาสร้างพื้นผิวอาคาร ซึ่งเป็นหนึ่งในชนิดวัสดุที่บรรพบุรุษชาวเวียดนามเคยใช้ในอดีต จึงสร้างความคุ้นเคยและใกล้ชิดกับบรรยากาศเก่าๆ ได้ไม่ยาก
จากทางเดินหลังบ้านจะขยายและเชื่อมต่อพื้นที่ห้องครัวที่มีประตูกระจกและช่องเปิดมองเห็นมุมทำงานในห้องนอน คอร์ทยาร์ดเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกับห้องนอนได้ ด้วยระบบประตูกระจกใสรอบด้าน ทำให้พื้นที่บ้านเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ ให้ทัศนียภาพสวยงาม มองเห็นพื้นที่สีเขียวเย็นสบายแม้กำลังอยู่ในห้องทำอาหารหรือห้องนอน
INSIDE-OUT HOUSE เป็นแนวคิดการจัดฟังก์ชันในบ้านที่เสมือนโลกกลับด้าน จากที่สวนต้องอยู่นอกบ้านก็จับสเปซภายนอกมาไว้ในบ้าน เห็นได้จากคอร์ทยาร์ดที่จัดไว้ภายในตัวอาคาร เป็นส่วนที่ทั้งแยกและเชื่อมห้องนอนพ่อแม่จากส่วนนั่งเล่นและห้องครัว สวนที่จัดติดชิดผนังบล็อกช่องลม ทำให้บ้านรับลมเข้ามาระบายอากาศภายใน เหนือสวนเป็นช่องแสง skylight จำลองบรรยากาศสวนกลางแจ้งมาใกล้ชิดบ้าน เป็นการลดข้อจำกัดของบ้านที่ขาดแสงและพื้นที่จัดสวนได้ดี
หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ขณะที่เจ้าของบ้านเดินผ่านสวนนั้นมีเงาสะท้อนซ้อนอยู่ นั่นเป็นเพราะที่ผนังด้านหนึ่งติดตั้งกระจกเงาเอาไว้ เพื่อช่วยพรางตาให้เหมือนมีสวนจัดอยู่สองด้านและทำให้บ้านดูกว้างขึ้นกว่าที่เป็นจริง
หลังคากระจกทรงสามเหลี่ยมสร้างความโดดเด่นให้กับภายนอกอาคาร ที่มองว่าสวยแล้วในช่วงลกางวัน แต่เมื่อเปิดไฟส่องสว่างในเวลากลางคืน ระบบไฟส่องสว่างที่ติดตั้งอย่างชาญฉลาด “แสง” จะช่วยเน้นความโดดเด่นและความสวยงามของเส้นสายสถาปัตยกรรมให้ยิ่งชัดเจนต่างจากกลางวันอย่างสิ้นเชิง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การดีไซน์บ้านที่มีพื้นที่แคบลึกและมีผนังบ้านติด ๆ กัน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่มีมาให้ชมเรื่อย ๆ บ้านแบบนี้จะมีปัญหาคล้ายกันคือ การขาดพื้นที่รับแสงช่วงกลางอาคาร เนื่องจากเปิดช่องแสงด้านข้างไม่ได้ บ้านจึงอับ มืด และชื้น ยิ่งถ้าเป็นบ้านสูงหลายชั้นก็จะเพิ่มปัญหาเรื่องการระบายอากาศร้อน การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชั้น ซึ่งวิธีที่สถาปนิกมักใช้แก้ปํญหาด้วยลดพื้นเพดาน เจาะบ้านเป็นโถงสูงให้สามารถระบายอากาศพร้อมมองเห็นระหว่างชั้นได้ การใส่ช่องแสง skylight รับแสงจากด้านบน และการแบ่งบ้านออกเป็นสองส่วน ใส่ที่ว่าเปิดออกสู่ท้องฟ้าตรงกลางเพื่อรับแสงและลม เป็นต้น |
แปลนบ้าน