ผลกระทบอาคารกระจก
ศาลสั่งปรับ เจ้าของอาคารกระจก ส่งผลกระทบผู้อยู่อาศัยรอบข้าง
แสงแดดที่แผดเผาก่อให้เกิดความร้อนสูงทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลให้บางอาคารบ้านเรือนที่ต้องการใช้วัสดุกระจกเป็นส่วนประกอบของอาคาร ต้องหาวิธีลดความร้อนด้วยการติดฟิล์มกรองแสง หากเป็นฟิล์มดำทั่วไปอาจไม่มีปัญหานัก แต่หากเป็นฟิล์มปรอทมักส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนใกล้เคียง ซึ่งเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์สาดส่องไปยังอาคาร ทำให้เกิดแสงกระทบ ส่งผลให้ผู้อยู่ใกล้เคียงเดือดร้อนโดยตรง อยากให้คุณผู้อ่านนึกถึงหลักการวิทยาศาสตร์ที่เคยได้ทดลองกันในวัยประถม การนำกระจกเงาส่องไปยังวัตถุต่างๆในช่วงแดดจ้า เช่น กระดาษ สำลี เมื่อแสงกระทบกับวัตถุเป็นเวลานาน ส่งผลให้วัตถุเกิดความร้อนสูงจนกระทั่งเกิดการเผาไหม้ กระจกฟิล์มปรอทก็เช่นกันครับ
ข่าวโดย : สำนักข่าวมติชน
ล่าสุดมีกรณีศึกษาให้เราได้เรียนรู้กัน กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เมื่อ ศาลฎีกา มีคำพิพากษา ให้บริษัทเจ้าของโครงการอาคารชุดอยู่อาศัยขนาดใหญ่กลางกรุงเทพมหานคร ที่ใช้กระจกติดตั้งรอบตัวอาคาร ชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของบ้านใกล้เคียงที่ฟ้องคดี ระบุว่า ต้องเจอปัญหา ๖ เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน ของทุกปี เกิดภาวะตะวันอ้อมข้าว แสงสะท้อนจากอาคารชุดสาดใส่บ้าน เกิดความร้อนจนอยู่ไม่เป็นสุข จนกว่าจะแก้ไขลดแสงสะท้อนให้สิ้นไป
(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๗๗๒/๒๕๕๗ ในคดีที่ประชาชนผู้มีบ้านอยู่อาศัยใกล้กับโครงการอาคารชุด ที่ระบุว่าได้รับผลกระทบจากโครงการอาคารชุดขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาคารที่ติดตั้งกระจกรอบตัวอาคาร แสงสะท้อนจากกระจก ก่อให้เกิดความร้อนจนไม่สามารถใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างปกติสุขฟ้องคดี ขอให้แก้ไขความเดือดร้อน และเรียกค่าสินไหมทดแทนจนกว่าจะแก้ไขความเดือดร้อนให้ลุล่วงไป)
คดีนี้ ผู้ได้รับความเดือดร้อน เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง เจ้าของอาคารเป็นจำเลย โดยบรรยายฟ้องว่า ระหว่างเวลา 15.30 – 18.00 น. ของทุกวัน แสงแดดซึ่งกระทบกับกระจกอาคารของจำเลย จะสะท้อน สาดส่องเข้าไปในบ้านของโจทก์ ทำให้เกิดแสงสว่างและอุณหภูมิในบ้านสูงขึ้นมาก จนไม่สามารถพักอาศัยได้อย่างปกติสุข
ฟากจำเลยก็สู้ว่า แสงแดดช่วงตะวันอ้อมข้าวเป็นเหตุทางธรรมชาติ และแปรเปลี่ยนตามฤดูกาลในแต่ละปี มิได้เกิดจากการที่จำเลยทำละเมิดโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จึงไม่ต้องรับผิด
แต่ศาลเห็นว่า กรณีบุคคลใดใช้สิทธิของตน เป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคาดคิดหรือคาดหมายได้ แม้สิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป บัญญัติให้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่การที่โจทก์ อาศัยอยู่ในบ้านและได้รับผลกระทบจากแสงสว่างที่สะท้อนจากอาคารของจำเลย สาดส่องเข้าในบ้านด้วย การกระทำของจำเลย ย่อมถือได้ว่า เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
คดีนี้ต่อสู้กันมาถึง 3 ศาล
สุดท้ายศาลฎีกาพิพากษา ให้เจ้าของโครงการจ่าย ค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจ ค่าตรวจสุขภาพรายปี ค่าเสียโอกาสใช้สอยพื้นที่หน้าบ้าน โดยมีคำพิพากษา ให้ชดใช้ดังนี้
ให้เจ้าของโครงการอาคารชุด ใช้ค่าเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจ ตลอดจนค่าตรวจสุขภาพแก่โจทก์ทั้งสี่ คนละ 1๐,๐๐๐ บาทต่อปี (คดีนี้ มีโจทก์ยื่นฟ้อง 4 คน)
ค่าเสียโอกาสใช้สอยพื้นที่หน้าเรือนแถวทั้งสามหลังรวม 7,๐๐๐ บาทต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าเจ้าของโครงการนี้จะแก้ไขความเสียหายได้สำเร็จ หรือหมดสิ้นไปด้วยเหตุอื่น
นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคดีในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในทางที่ดีขึ้น ช่วยให้ผู้สร้างอาคารบ้านเรือนตระหนักถึงความสำคัญ กับผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน ต่อชุมชน ตลอดจนสังคม หากท่านใดกำลังคิดสร้างบ้าน อาคาร ตึก ที่ต้องติดฟิล์มปรอท อ่านข่าวนี้จบแล้ว อาจต้องพิจารณากันใหม่นะครับ http://www.tb-credit.ru/dengi-na-kartu.html