
Modern House
A House is a machine for living in แปลเป็นไทยก็น่าจะได้ความประมาณว่า บ้านที่อยู่อาศัยควรสนองประโยชน์ใช้สอยอย่างแท้จริง ประโยคนี้เป็นคมความคิดดี ๆ จากสถาปนิกชื่อเลื่องในช่วงทศวรรษที่ 20 เลอกอร์บูซีเย ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานก่อสร้างบ้านในแบบโมเดิร์น เขาเห็นว่าอาคารไม่เหมาะกับคนและควรทำคนให้เหมาะสมกับอาคาร จึงต้องกำหนดสัดส่วนการใช้งานของอาคารให้เหมาะสมแทน จากแนวคิดแบบนี้เราจึงได้เห็นการออกแบบบ้านที่ต้องใช้ความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก แล้วออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับการใช้งาน ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ถ้าเป็นยุคนี้คงต้องเพิ่มเรื่องงบเข้ามาเกี่ยวด้วย อย่างบ้านหลังนี้ในบราซิลที่เน้นเรื่องการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะกับตัวเองในงบประมาณ 6 แสนกว่าบาท ที่เห็นแล้วรู้สึกได้เลยว่า นี่แหละบ้านแบบที่ใช่
ออกแบบ : Alexandra Demenighi, Rodrigo Vargas Souza
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านนกฮูก คือชื่อของบ้านคอนกรีต 2 ชั้นหน้าตาเรียบง่ายในบราซิลหลังนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าบ้านก็ดูไม่เหมือนนกฮูกแต่ทำไมถึงตั้งชื่อนี้ ที่มาของชื่อไม่ได้มาจากรูปร่างของบ้าน แต่เป็นเพราะแถบนี้อยู่ใกล้ชายหาด Moçambique ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกฮูกหรือนกเค้าแมวจำนวนมาก และมันมักจะแวะเวียนมาเยี่ยมบ้านคนบ่อย ๆ จึงได้หยิบยืมมาเป็นสัญลักษณ์ของบ้านนั่นเองครับ
บ้านโมเดิร์นทรงกล่องเส้นสายเรียบง่าย พื้นที่ใช้สอย 94 ตารางเมตร ออกแบบโดยหนุ่มสาวสถาปนิกคู่หนึ่งที่ตั้งใจสร้างบ้านบรรยากาศดี ๆ เอาไว้พักผ่อน ซึ่งการออกแบบก็มีข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกับบ้านหลังอื่น ๆ ในเรื่องงบประมาณในการก่อสร้าง ทั้งสองคนตั้งงบไว้ที่ 60,000 เรียล หรือประมาณ 654,000 บาทเท่านั้น ในขณะที่มีงบน้อยแต่ต้องการบ้านที่มีตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้ คือมีห้องนั่งเล่น ครัว ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องซักรีด พื้นที่ทำงาน ห้องสมุด และมุมพักผ่อนกลางแจ้ง ดูเผิน ๆ ก็คงจะคิดเหมือนกันว่าพื้นที่ขนาดนี้จะบรรจุสิ่งที่ต้องการได้ทั้งหมดได้ยังไง แต่บ้านหลังนี้ทำได้ด้วยการใช้วัสดุที่หาง่าย ราคาไม่แพง วิธีการก่อสร้างไม่ยุ่งยากไม่เปลืองค่าแรงและเวลา ภายในจัดสัดส่วนพื้นที่ให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานเต็มประสิทธิภาพในทุกจุด ทำให้บ้านเล็ก ๆ เต็มไปด้วยความสะดวกและไม่รู้สึกอึดอัด
ด้วยความตั้งใจที่จะให้ตัวบ้านดูเรียบง่ายแบบ minimal ลดทอนส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป จึงยึดหลักการออกแบบตาม Le Corbusier สถาปนิกผู้คิดค้นการวางพื้นเป็นแผ่นคอนกรีต เปิดโล่ง เจาะช่องหน้าต่างทั้งแนวตั้งและแนวนอน โครงสร้างบ้านจึงดูเบา หลังคาทำเป็นพื้นว่างๆ เพื่อให้ใช้งานเป็นชั้นดาดฟ้า ทุกอย่างที่ออกมาเป็นบ้านหลังนี้ผ่านการคิดมาอย่างดีไม่มีความบังเอิญ ตัวอย่างเช่นเฉลียงด้านหน้า และระเบียงบนชั้นสองที่ไม่ต้องมีผนังเป็นตัวรองรับน้ำหนักอาคาร ทำให้กลายเป็นกรอบสี่หลี่ยมเปิดกว้างรับทัศนียภาพโดยรอบได้เต็มที่ทั้งวิวภูเขาสวย ๆ ยามเช้าและดื่มด่ำกับบรรยากาศพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงาม
ตัวบ้านสีขาวดูโดดเด่นขึ้นทันทีเมื่อใส่ประตูบานเลื่อนสีเหลืองสด ตัดกับกรอบหน้าต่าง พื้นบ้าน กรอบบริเวณเฉลียงหน้าบ้านที่ทำจากคอนกรีต ปูนเปลือยขัดมันสีเทาเย็น ๆ
พื้นที่รอบตัวบ้านทั้งภายนอกภายใน จัดวางการใช้พื้นที่ให้ลื่นไหลเชื่อมต่อกันได้ แนบสนิทไม่ว่าจะเป็น indoor หรือ outdoor
บันไดทางขั้นดาดฟ้า
กาารตกแต่งภายในบ้าน เน้นพื้นที่ให้เปิดมากที่สุด ห้องนั่งเล่นทำโถงสูงแบบ Double Volume เพื่อช่วยบูรณาการตัวบ้านให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ผนังสูงทำให้บ้านดูโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และมีระยะห่างของพื้นที่แนวตั้งมากพอที่จะใส่ฟังก์ชั่นห้องสมุดลงบนผนัง ให้สามารถเก็บหนังสือได้เต็มที่ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน โดยไม่ต้องรบกวนพื้นที่แนวนอนจุดอื่น ๆ ของบ้าน
ระบบการก่อสร้างที่ใช้ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผนังก่ออิฐฉาบปิดทับหน้าทำให้มองไม่เห็นเนื้อวัสดุชัดๆ แต่ส่วนที่โชว์สีและผิวสัมผัสของวัสดุแบบตั้งใจเปลือย คือ คอนกรีตเสริมแรง (reinforced concrete) ที่ใช้บริเวณบันได ผนัง คาน และกรอบไม้สีอ่อนที่วิ่งจากเฉลียงและพื้นด้านหน้า ซึ่งถูกเบรคโดยแผ่นลูกฟูกโลหะ (เมทัลชีท) และแผ่นเกล็ดไม้อัดเรียงเสี้ยน OSB ทาสีส้มสุดแจ่ม
ชั้นล่างรวมครัว พื้นที่ทานอาหาร ห้องสมุดเอาไว้ด้วยกัน โดยใช้คานและสีที่ตัดกันสุดขั้วของผนังเป็นขอบเขตพื้นที่ การตกแต่งใช้วัสดุที่เรียบง่ายอย่างโต๊ะขัดสีเก่า ๆ ตู้ไม้เข้าชุดกัน หรือกรอบรูปที่ดูย้อนยุค
พื้นที่ว่างใต้บันไดวางฟูกและหมอนเอาไว้เป็นอีกหนึ่งมุมพักผ่อนสบาย ๆ ในบ้าน
บริเวณอาคารด้านหลัง เห็นจังหวะการเปิดของอาคารทั้งด้านล่างและชั้นบนที่ทำให้บ้านถ่ายเทอากาศได้ดี ประตูเมทัลชีทสีเหลืองเด่นชัดอยู่บนตัวอาคารสีขาวเรียบ ๆ มองเห็นบันไดขึ้นดาดฟ้าที่น่าสนุก รอบอาคารเจาะช่องแสงหลายขนาดทั้งแนวตั้งและ ribbon window หรือช่องหน้าต่างเจาะยาวแนวนอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ในการออกแบบของ Le Corbusier
บ้านโมเดิร์นหลังนี้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการใช้ชีวิตที่สมดุลย์ตามไลฟ์สไตล์ผู้อยู่เท่านั้น แต่ยังออกแบบระบบการบำบัดน้ำให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้สำหรับรดน้ำต้นไม้ได้อีก การจัดแสงช่องแสง ช่องลม ที่ทำให้บ้านอยู่สบายแม้จะมีพื้นที่ไม่มากนัก
แปลนบ้าน