บ้านเล่นระดับตามพื้นที่ลักษณะเนิน
สถาปนิกชาวอเมริกัน หลุยส์ คาห์น กล่าวไว้ว่า “สถาปัตยกรรมเป็นพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่ ควรเป็นเหมือนแม่ที่ให้ความอบอุ่นและความปลอดภัยแก่ผู้คน” บ้านจึงไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ที่มีประโยชน์ใช้สอย เช่น การใช้ชีวิต แต่ยังควรเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณด้วย ดังนั้นแน่นอนว่าทุกคนในบ้านจะตั้งตารอคอยที่จะได้พบกับบ้านในรูปแบบที่ต้องการ บ้านนี้ที่ชื่อ “Slope House” ก็เช่นเดียวกัน เป็นบ้านของครอบครัวใหญ่ 3 รุ่น 9 คน ภายใต้หลังคาเดียวกันนี้ต้องให้ทั้งความรู้สึกปกป้อง พร้อมกับตอบโจทย์การใช้งานประจำวัน บนพื้นฐานความแตกต่างของวัย ซึ่งสถาปนิกออกแบบได้อย่างชาญฉลาด
ออกแบบ : Chaoffice
ภาพถ่าย : Yumeng ZHU
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านนี้อยู่ในที่ราบหน้าภูเขาของหมู่บ้าน Heizhai ทางเหนือของเมืองปักกิ่ง หน้าบ้านติดกับถนนสายหลักที่ตัดผ่านใจกลางหมู่บ้านยาว 16 ม. พื้นที่นี้มีความลาดชันจากตะวันตกไปตะวันออกในความสูงที่กันต่างประมาณ 1 เมตร ในความทรงจำของครอบครัว ค่ำคืนฤดูร้อนจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขง่ายๆ ขณะที่ผู้คนมารวมตัวกันริมถนนเพื่อดื่มด่ำกับสายลม เมื่อมองไปทางทิศตะวันออกจะเห็นแสงไฟของเมืองฉางปิงที่ส่องประกายระยิบระยับจากระยะไกลถึง 20 กม. สถาปนิกจึงนำจุดนี้มาเป็นหนึ่งแนวคิดในการออกแบบให้สอดรับกับลักษณะธรรมชาติของไซต์ด้วย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
แทนที่จะดีไซน์บ้านที่แปลกตาโดดเด่น สถาปนิกกลับคำนึงถึงคำว่า “ปกป้องและอบอุ่น” มาก่อน อาคารจึงมีลักษณะที่ดูสูงและปิดจากถนน ยึดตามความสูงของชายคาอยู่ที่ 7.2 เมตร หากสังเกตด้านข้างจะเห็นหลังคาว่าเป็นจั่วลาดเอียงสองปริมาตร ซึ่งจะมีลานโล่งจัดเป็นสวนวางอยู่ระหว่างนั้น วิธีนี้ทำให้อาคารถูกแยกออกเป็นสามส่วนโดยธรรมชาติ ซึ่งทำให้เกิดความโปร่งโล่ง และสามารถใส่ลำดับการเปลี่ยนแปลงภายในได้มาก
เมื่อก้าวเข้าไปในบ้าน จะพบกับเบาะนั่งใส่รองเท้า ตู้ไม้สั่งทำพิเศษที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นฉากแบ่งสัดส่วนทางเข้าและห้องครัวแบบเปิดด้านหลัง ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวภายในเท่านั้น แต่ยังวางแผนพื้นที่จัดเก็บและการใช้งานต่างๆ ตามพื้นที่ทั้งสองด้านอีกด้วย หลังจากเดินตามทางเดินขึ้นสเต็ปบันไดเตี้ยๆ ก้าวไปข้างหน้า ภาพของบ้านที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาก็จะค่อยๆ เผยออกมา ซึ่งแตกต่างจากภาพลักษณ์ภายนอกอย่างสิ้นเชิง
ด้านหลังตู้ทางเข้าเป็นห้องครัวแบบเปิดที่หันหน้าไปทางลานบ้าน ออกแบบและสร้างสำหรับคุณยายผู้ชอบทำอาหารโดยเฉพาะ ห้องครัวแม้จะดูมีฟังก์ชันทันสมัยแต่ก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกแปลกแยกเพราะวัสดุหลักยังคงเป็นไม้สร้างบรรยากาศที่คุ้นเคย และยังหยิบจับใช้งานได้ง่ายด้วย ลองนึกภาพว่าทุกครั้งที่แสงแดดส่องผ่านหน้าต่างกระจก แล้วเห็นเงาของคุณยายที่กำลังง่วนกับการทำอาหารอร่อยๆ ในครัวโปร่งๆ จะเป็นภาพที่ชวนให้อมยิ้มแค่ไหน
ด้วยลักษณะบ้านที่อยู่บนเนิน ทำให้สถาปนิกออกแบบภายในแบบเล่นระดับ เป็นจัดระดับพื้นภายในให้ตรงตามการเปลี่ยนแปลงความสูงของความลาดชันภายนอกอาคาร ส่งผลให้มีพื้นที่ใช้สอยหลายชั้น เกิดเส้นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจสำหรับเด็กๆ เลย์เอาต์ของบ้านไม่ใช่แบบรวมศูนย์ที่บ้านอื่นใช้กันทั่วไป แต่เป็นการวางตัวหลักของอาคารไว้ตรงกลางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของพื้นที่ เหลือลานกลางแจ้งไว้ ความลึกของห้องที่ค่อนข้างน้อย ช่วยให้ได้รับแสงสว่างในเวลากลางวันและการระบายอากาศจากทิศเหนือ-ใต้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีส่วนเชื่อมต่อกันตรงกลางของพื้นที่ซึ่งแบ่งลานออกเป็นสองส่วน
ภาพ: โมเดลการจัดเลย์เอาต์อาคารที่แยกออกเป็นสองส่วน โดยมีลานบ้านคั่นอยู่ตรงกลาง
ฝั่งตรงข้ามทางเดินมีห้องพักแขกเล็กๆ ทางด้านขวาซึ่งใช้เป็นห้องนั่งเล่นสำหรับเจ้าของบ้านด้วย โซฟาบิลท์อินแบบ 2 ชั้นช่วยให้เด็กๆ นั่ง นอนเล่น และคนในครอบครัวก็คุยกันได้ และชมภาพยนตร์ได้ที่นี่ จากจุดนี้ยังสามารถมองเห็นต้นเมเปิลที่ถูกนำมาเป็นฉากหลังที่มีชีวิตชีวาในชีวิตประจำวัน ที่น่าสนุกอีกจุดคือ ช่องแสงแนวนอนที่อยู่ติดกับพื้น ปกติจะอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา แต่หากนั่งลงก็จะสร้างความต่อเชื่อมกับแนวสายตาไปยังลานได้พอดี
โต๊ะกลม สัญลักษณ์ความกลมเกลียวของชาวจีน ที่โอบล้อมด้วยผนังกระจกกลมๆ เช่นกัน จัดให้อยู่ตรงส่วนกลางของบ้านติดกับลานสวน ซึ่งแสดงออกเป็นนัยว่าเจ้าของบ้านให้ความสำคัญกับการมารวมตัวกันทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา พูดคุยแบ่งปันเรื่องราวที่พบมาระหว่างวัน เป็นหัวใจของบ้านที่รวมความอิ่มพุงและอิ่มใจของทุกคนในครอบครัวเอาไว้ด้วยกัน
ใกล้กับโต๊ะกลม เป็นโซนบันไดสำหรับขึ้นไปที่ชั้นบน จะเห็นว่าพื้นที่ภายในที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางของไซต์จะสูงกว่าจุดอื่นๆ ส่วนที่มีเพดานสูงเหล่านั้นบางจุดก็กลายเป็นห้องใต้หลังคา บางจุดก็กลายเป็นทางเดินขึ้นไปบนหลังคา และบางครั้งก็กลายเป็นห้องกิจกรรมครอบครัวที่เต็มไปด้วยแสงแดดใต้กำแพงที่เหมือนผืนม่านขนาดใหญ่ เมื่อรวมกับความสูงที่แตกต่างกันของชั้นล่างซึ่งเกิดจากภูมิประเทศที่ลาดเอียง จึงได้ห้องหลายห้องที่มีความสูงต่างกันออกไป
บันไดแบ่งออกเป็นสองฝั่งทางด้านตะวันออกและตะวันตก นำทางไปยังห้องใช้งานต่างๆ กัน มีผนังกันตกบันไดลักษณะเหมือนวนคล้ายอักษรจีน แต่ละระดับจะทำช่องเปิดให้สอดคล้องกัน เมื่อเดินขึ้นไปตามขั้นบันไดก็จะเห็นวิวในบริเวณที่ต่างกันตามไปด้วย อีกทั้งยังรับแสงสว่างจากธรรมชาติเข้ามาได้ตลอดทั้งวัน เพิ่มวิสัยทัศน์ในการมองเห็นและความปลอดภัยเมื่อเด็ก ๆ วิ่งขึ้น-ลง
ห้องสำหรับครอบครัวขนาดใหญ่บนชั้น 2 มีความสูงของห้องสูงสุด เนื่องจากการจมลงของพื้นที่ด้านล่าง จุดสูงสุดใต้เพดานนี้คือสูง 6 เมตร บนเพดานจะกรุด้วยไม้เรียงเป็นเส้นๆ ตามแนวของหลังคาที่มีองศาต่างจากบ้านหลังอื่นๆ อย่างชัดเจน สีและเส้นของไม้ตัดกันกับพื้นหลังสีครีมและเทา ยิ่งเน้นความสูงและเส้นสายตาให้ยิ่งโดดเด่น นอกจากนี้ส่วนหน้าอาคารกระจกใสสูง 3.6 เมตรทางด้านทิศใต้ และเสื่อทาทามินุ่มๆ ที่ปูกว้างๆ อยู่บนพื้น ทำให้ที่นี่กลายเป็นสวรรค์ที่ไร้ข้อจำกัดสำหรับเด็กๆ
ห้องอ่านหนังสือและระเบียงบ้านจะถูกแบ่งด้วยประตูบานเลื่อน ในช่วงที่อากาศดีจะเปิดประตูบานเลื่อนเชื่อมต่อภายในและภายนอกได้ดีขึ้น เหมือนห้องนั่งเล่นกลางแจ้งเล็กๆ เมื่อมองจากไกลๆ จะเห็นระเบียงนี้เป็นช่องเปิดแนวนอนยาว ซึ่งเป็นจุดเดียวของส่วนหน้าที่เปิดกว้างที่สุด สามารถมองเห็นผู้คนที่สัญจรไปมา มองดูบ้านบนทางลาด และเลยไปจับวิวเมืองฉางผิง ซึ่งอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออกได้อย่างที่ตั้งใจ
ผลงานทางสถาปัตยกรรมนี้สะท้อนถึงซิมโฟนีแห่งการเปลี่ยนแปลงและความหลากหลาย เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสามรุ่น ครอบครัวที่มีสมาชิกเก้าคน แม้ว่าที่อยู่อาศัยนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุสองคนเป็นหลัก แต่ในช่วงสุดสัปดาห์ เทศกาล และฤดูร้อนที่สดใส ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวา ต้อนรับเสียงหัวเราะของเด็กๆ ตอบโจทย์เป้าหมายของการออกแบบที่มุ่งสร้างความพื้นที่ความทรงจำ เหมือนฉากอันซับซ้อนที่ปรากฏในภาพวาดของปีเตอร์ บรูเกล ที่ทอเรื่องราวของชีวิตที่มีความหลากหลายตลอดระยะเวลาของการเติบโต
แปลนบ้าน