ออกแบบบ้านด้วยตนเอง
ตอนที่ 2 ทิศของบ้านกับการออกแบบ
เนื่องด้วยเนื้อหาการออกแบบบ้านด้วยตนเองได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในหัวข้อทิศทางแสงแดดและลม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บ้านของเราอยู่สบาย อีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงานได้อีกมากด้วยครับ เมื่อการใช้พลังงานไฟฟ้าลดน้อยลงธรรมชาติย่อมถูกทำลายช้าลง การออกแบบบ้านที่ดีจึงจำเป็นต้องออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นับเป็นวิธีการที่ยั่งยืนอย่างยิ่งครับ สำหรับวันนี้ “บ้านไอเดีย” ขอพูดคุยเรื่องทิศทางกันต่อ โดยจะแนะนำกันว่า ทิศไหน ออกแบบให้มีลักษณะอย่างไรดี
บทความโดย : บ้านไอเดีย
ภาพประกอบ : Archipelag.pl
ทิศเหนือ : จุดเด่นของทิศเหนือ เป็นทิศที่มีกระแสลมในช่วงเดือนตุลาคม – มกราคม อีกทั้งยังมีจุดเด่นด้านร่มเงา เนื่องด้วยลักษณะการโครจรของพระอาทิตย์ ขึ้นในทิศตะวันออกและจะอ้อมไปทางทิศใต้เป็นส่วนมาก โดยเฉลี่ยตลอดทั้งปีทางทิศเหนือจึงได้ร่มเงาจากตัวอาคาร ดังนั้นการออกแบบผังภายในบ้าน เพื่อให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัย ทิศเหนือเหมาะกับใช้เป็นห้องนอน ห้องทำงาน หรือห้องที่อยู่อาศัยมากที่สุดในช่วงกลางวัน การออกแบบห้องต่างๆในทางทิศเหนือ ควรออกแบบให้ปลอดโปร่งเพื่อให้แสงสว่างเข้าถึง เพราะหากปิดทึบด้วยผนังปูนจะทำให้ดูมืดเกินไป
ข้อเสีย ด้วยลักษณะเงาทำให้แสงสว่างเข้าไม่ถึง อาจก่อให้เกิดความอับชื้นได้ การออกแบบจึงต้องเน้นความโปร่ง มีหน้าต่างบานกว้าง เลือกใช้วัสดุที่ช่วยให้แสงจากภายนอกเข้าถึงได้ง่าย เช่น วัสดุกระจก เป็นต้น อีกทั้งกระแสลมที่เข้ามาทางทิศเหนือในช่วงปลายปีนั้น ตรงกับช่วงฤดูหนาว ทางทิศเหนือจึงไม่เหมาะกับการวางบ่อน้ำ สระน้ำ เพราะจะทำให้เกิดความหนาวเย็นมากเกินไป และเกิดตะไคร่น้ำได้ง่ายยิ่งขึ้นครับ
ทิศตะวันออก : จุดเด่นของทิศดังกล่าวให้แสงแดดอ่อนๆในยามเช้า ให้ร่มเงาในยามเย็น ลักษณะแดดยามเช้าให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย เป็นแดดที่ร่างกายต้องการ ช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ผังห้องทางทิศตะวันออกจึงเหมาะกับห้องนอน ห้องทำงาน ระเบียงนั่งเล่น หรือมุมสวนนอกบ้าน โดยรวมแล้วเป็นทิศที่มีลักษณะดี เหมาะสมกับการอยู่อาศัยตลอดทั้งวัน สำหรับข้อเสียทางทิศตะวันออก แม้จะมีแสงแดดกำลังดีแต่เป็นด้านที่ไม่มีลมเข้า ทำให้ลักษณะการอยู่อาศัยอาจรู้สึกอบอ้าว การออกแบบจึงควรให้รู้สึกปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
ทิศตะวันตก : จุดเด่นของทิศตะวันตก คือแสงแดดในช่วงบ่าย แดดช่วยฆ่าเชื้อ ลดกลิ่นอับภายในบ้าน ให้แสงสว่างอย่างทั่วถึง เหมาะอย่างยิ่งกับการออกแบบไว้สำหรับห้องน้ำ ห้องซักล้าง ห้องครัว โถงบันได โรงจอดรถ แต่ทั้งนี้แสงแดดที่แรงเกินไปย่อมส่งผลให้บ้านได้รับความร้อน ผนังด้านทิศตะวันตกควรเน้นผนังหนาอาจก่ออิฐสองชั้น หรือติดตั้งวัสดุอื่นๆเสริม เพื่อเป็นเกราะป้องกันแสงแดดให้มีอุณหภูมิต่ำลง เช่น ระแนงบังแดด ชายคาบ้าน เฉลียง เป็นต้น นอกจากนี้แสงแดดที่สาดส่องลงพื้น ยังเป็นเหตุให้เกิดแสงกระทบเข้าสู่ตัวบ้าน พื้นภายนอกควรเลือกวัสดุที่ไม่ดูดความร้อนมากนัก เช่น สนามหญ้า , อิฐบล็อก , ตัวหนอน ควรหลีกเลี่ยงการเทพื้นคอนกรีต เพราะเป็นเหตุให้เกิดความร้อนสะสมมากยิ่งขึ้น
ทิศใต้ : จุดเด่นของทิศใต้ มีกระแสลมที่พัดเข้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม ซึ่งจะตรงกับฤดูร้อนและฤดูฝน การออกแบบบ้านทางทิศใต้ควรออกแบบให้สามารถรับกระแสลมได้ดี แต่ในขณะเดียวกันต้องออกแบบให้ผนังบังแดดได้ด้วย เหมาะกับใช้เป็นห้องน้ำ ห้องครัว ห้องซักล้าง สำหรับบ้านใครที่ต้องการทำสระน้ำ บ่อน้ำ เหมาะอย่างยิ่งในการจัดวางไว้ทางทิศใต้ เนื่องด้วยกระแสลมในช่วง กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม เป็นลมฤดูร้อน หากลมได้พัดผ่านกระแสน้ำจะช่วยให้บ้านเย็นขึ้นได้ครับ และหากจำเป็นต้องออกแบบห้องนอนไว้ทางทิศใต้ ควรติดตั้งระแนงบังแดด หรือปลูกต้นไม้เพื่อให้เกิดร่มเงา รวมทั้งพื้นภายนอกให้ทำในลักษณะเดียวกับทางทิศตะวันตก
ข้อควรระวังการออกแบบทางทิศใต้ ช่วงฤดูฝนประมาณเดือน มิถุนายน – ตุลาคม ลมจะพัดพาฝนเข้าสู่ทางทิศใต้ เพราะฉะนั้นควรออกแบบให้มีชายคาบังฝน ติดตั้งกันสาดบริเวณหน้าต่างห้อง ช่วยป้องกันฝนสาดเข้าสู่ตัวบ้านครับ
ทั้งหมดนี้เป็นหลักการเบื้องต้นในการออกแบบบ้านให้อิงตามหลักธรรมชาติ โดยนำข้อดีของลมและแสงแดดมาใช้งาน รวมทั้งป้องกันแก้ไขข้อด้อยให้ลดลงไป เพื่อให้การอยู่อาศัยบ้าน สุขสบายตลอดทั้งปี นอกจากนี้บ้านที่ออกแบบอิงตามหลักธรรมชาติ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆโดยเฉพาะค่าไฟ ลดลงได้อย่างมากเลยหละครับ เมื่อใช้พลังงานลดลง ธรรมชาติย่อมถูกทำลายน้อยลง เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อย่าลืมส่งต่อเรื่องราวดีๆให้เพื่อนๆได้อ่านกันด้วยนะครับ ผู้อ่านท่านใดมีคำถามใด สามารถสอบถามพูดคุยกันได้นะครับ
อ่านตอนที่ 1 : 5 ขั้นตอนออกแบบบ้านด้วยตนเอง http://www.tb-credit.ru/microzaim.html