เมนู

เตรียมลงเสาเอก เสริมสิริมงคลบ้านแบบสายมูมืออาชีพ

เตรียมลงเสาเอก

ลงเสาเอก ต้องเตรียมอะไร

บ้านเป็นความฝันชิ้นใหญ่ที่ทุกคนเฝ้ารอ เมื่อได้เป็นเจ้าของทั้งทีก็อยากอยู่บ้านที่มีแต่ความสุขสงบ ดังนั้นอะไรที่เป็นขั้นตอนการเสริมสิริมงคลก็อยากหาทำให้สบายใจ อย่างการ “ตั้งเสาเอกเสาโท” ก็เป็นหนึ่งพิธีกรรมที่เสริมความอุ่นใจให้เจ้าของบ้านตั้งแต่เริ่มต้น หากเป็นในสมัยก่อนที่คนใกล้ชิดวัด ไม่ห่างจากผู้เฒ่าผู้รู้ การเตรียมตัวก็คงไม่ยาก แต่สำหรับเจ้าของบ้านยุคใหม่ๆ เหมือนกับผู้เขียนเองที่มีความรู้เรื่องพิธีกรรมเป็น 0 ถึงกับจับต้นชนปลายไม่ถูก จึงค่อนข้างกังวลว่าจะทำถูกต้องหรือเปล่า มีอะไรขาดเกินไหม จนวันพิธีจริงมาถึงทุกกระบวนการก็สำเร็จอย่างเรียบร้อย แม้จะไม่ยากอย่างที่คิด แต่ก็มีจุดที่ทำให้อยากมาแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อที่จะค่อย ๆ ไล่เลียงว่าต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง ให้พิธีกรรมในการลงเสาเอกนั้นราบรื่นเป็นไปด้วยดีและสวยงามครับ

เนื้อหา : บ้านไอเดีย

พิธียกเสาเอก

ภาพประกอบ : พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มช.

เสาเอกคืออะไร 

เริ่มแรกมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเสาเอก คืออะไร  เสาเอก คือเสาหลักต้นของบ้าน และเป็นเสาต้นแรกที่จะเป็นประธานในการเริ่มต้นก่อสร้างบ้าน แต่เดิมบ้านโบราณเสาจะใช้เสาไม้ ต้องมีผู้คนมาช่วยกันยกทำพิธีขึ้นเสาเอก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย อีกนัยหนึ่งก็เป็นการบอกกล่าวขอขมาต่อเจ้าที่เจ้าทาง การ “ไหว้ ” ก็เป็นการแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนฝากเนื้อฝากตัว เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ดังนั้นจริง ๆ แล้วพิธีนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อทำขวัญให้กับบ้านเท่านั้น แต่อีกกุศโลบาย คือ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทีมงานช่างด้วย

หลายคนอาจคิดในใจว่าบ้านในต่างประเทศก็ไม่มีพิธีที่ว่านี้ก็อยู่กันมาอย่างดี ไม่ทำได้ไหม คำตอบคือ “ได้” ครับ ไม่ทำก็ไม่เป็นไร เพราะทุกอย่างแล้วแต่ความสบายใจเจ้าของบ้านได้เลย แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียนนั้น ผู้รับเหมาต้องการให้ทำเพราะเชื่อว่าเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางอย่างเป็นทางการ  ดังนั้น เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ประกอบกับค่าใช้จ่ายก็ไม่สิ้นเปลือง ขั้นตอนไม่ยุ่งยากมาก การทำพิธียกเสาเอกนี้ก็ไม่เสียหายครับ

หาตำแหน่งเสาเอกจากแปลนบ้าน

เสาเอกคือต้นไหน เลือกไว้เตรียมขุดหลุม

หลังจากที่ได้ฤกษ์ยามดีมาแล้วก็เตรียมเลือกเสาเอก (และเสาโท ในกรณีที่จะทำขวัญทั้งสองเสา)  อาจศึกษาจากตำราโบราณที่ได้กล่าวถึงวิธีเลือกเสาเอกเอาไว้ แล้วเลือกเองดังนี้

ยกเสาเอกในเดือนอ้าย ยี่ สาม เสาเอก อยู่ทิศอีสาน (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ)
ยกเสาเอกในเดือน 4 – 5 – 6 เสาเอก อยู่ทิศอาคเนย์ (ทิศตะวันออกเฉียงใต้)
ยกเสาเอกในเดือน 7 – 8 – 9 เสาเอก อยู่ทิศหรดี (ทิศตะวันตกเฉียงใต้)
ยกเสาเอกในเดือน 10 – 11 – 12 เสาเอก อยู่ทิศพายัพ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ)

หากอ่านแล้วยังรู้สึกงงว่า เสาเอกควรเป็นต้นนี้ ต้นนั้น หรือต้นไหน อาจจะส่งแปลนบ้าน (หรือเฉพาะแปลนเสาก็ได้) ให้อาจารย์ที่จะทำพิธีช่วยเลือกว่าจะใช้เสาต้นใดเป็นประธาน ซึ่งบางท่านจะนำวัน เดือน ปีเกิด ไปคำนวณหาทิศมงคลให้ ถ้าไม่มีคนช่วยเลือก ก็มักจะใช้เสากลางบ้าน เสาคู่บริเวณห้องนอนของเจ้าบ้าน หรือเสาห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ แต่ที่ห้าม คือ ห้ามเป็นเสาที่เป็นส่วนหนึ่งของห้องน้ำ จากนั้นก็ส่งตำแหน่งต้นเสาที่เลือกให้ผู้รับเหมาเตรียมเคลียร์พื้นที่ ตีผังบ้าน  footing ตอม่อ ลีนหลุม ผูกตะแกรงเหล็ก ผูกเสา ให้เรียบร้อยไว้ก่อนถึงวันงานพิธี โดยมากจะตีเวลาหลวม ๆ ไว้ที่ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนทำพิธี

สำหรับบางบ้านที่ยังไม่มีแปลนฉบับสมบูรณ์ หรือยังไม่มีใบอนุญาตก่อสร้าง แต่กำหนดตำแหน่งของเสาบ้านในแปลนแน่นอนแล้ว ก็สามารถวางตำแหน่งขุดเสาทำพิธีเอาฤกษ์เอาชัยก่อนก็ได้ เพียงแต่ผู้รับเหมาและเจ้าของบ้านจะต้องมั่นใจว่าจุดที่ขุดหลุมนั้นไม่ทับเขตบ้านของผู้อื่น ต้องเว้นแนวระยะร่นถูกต้องตามหลักกฎหมาย จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลังครับ

พระ พราหมณ์ หรืออาจารย์พื้นบ้าน เลือกใครประกอบพิธี

ในส่วนของการเลือกผู้มาประกอบพิธีนั้น ในหมู่คนที่เชี่ยวชาญด้านการมูเตลู จะมีข้อมูลติดต่ออาจารย์ที่รับทำพิธีอยู่ หรือทางผู้รับเหมาอาจเป็นผู้เสาะหามาให้ โดยจะเป็นผู้รู้พื้นบ้านก็ได้ หรือเพียงนิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์ หรือติดต่อพราหมณ์มาทำพิธีให้ก็ย่อมได้ แต่พราหมณ์จะหาเชิญยากในหลาย ๆ พื้นที่ และส่วนมากรูปแบบพิธีแบบพราหมณ์จะจัดเต็ม อาจมีค่าใช้จ่ายสูงสักหน่อย สำหรับผู้เขียนที่ไม่รู้จักใครเลย เพราะย้ายมาอยู่ต่างถิ่นฐาน ก็ใช้วิธีการเลือกอาจารย์พิธีแบบง่ายที่สุดด้วยการค้นหาใน google

โดยส่วนตัวผู้เขียนอยู่ในเชียงใหม่ก็สืบค้นคำว่า รับทำพิธียกเสาเอก เชียงใหม่ ก็จะมีข้อมูลมาให้เลือกมากมาย เราก็ตามไปดูภาพหรือวีดีโอ เพื่อประกอบการตัดสินใจ จากนั้นจึงสอบถามวันที่อาจารย์ทำพิธีว่างและค่าบริการ พึงพอใจผลงานและอัธยาศัยของผู้ใดก็ตกลงตามนั้นได้เลย

พิธีลงเสาเอก

ของไหว้เตรียมอะไรบ้าง หวานดีหรือต้องคาว

เป็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควรว่าของไหว้ควรจะเป็นผลไม้ ของหวาน หรือของคาว เพราะบางบ้านจะเห็นมีของไหว้เป็นหัวหมู เป็ด ไก่ ซึ่งต้องแล้วแต่ความเชื่อถือศรัทธา แต่ส่วนมากจะเห็นการใช้ของคาวในการประกอบพิธีโดยพราหมณ์ โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนมองว่า การทำพิธีมงคลที่บ้าน การแสดงความเคารพขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดา ควรบูชาด้วยของไหว้ที่ประณีต สวยงาม โดยไม่เบียดเบียนชีวิตใคร จึงเลือกของไหว้ที่เป็นผลไม้และของหวานทั้งหมด ส่วนรายการก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านว่าจะจัดเต็มแต่ไหน แต่โดยมากจะมีรายการที่คล้าย ๆ กัน คือ

  1. จัดโต๊ะหมู่บูชา 1 ชุด หรือ โต๊ะพับธรรมดามีผ้าปูโต๊ะคลุมให้เรียบร้อย พร้อมแจกันจัดดอกไม้ 1 คู่  เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1
  2. เครื่องสักการะ (ตามความเชื่อในภาคต่างๆ ) อาทิ บายศรีถ้วย 1 คู่
  3. ผลไม้มงคล สับปะรดที่ติดจุกมาด้วย 2 ผล ,กล้วยน้ำว้าดิบ 1 หวี สุก 1 หวี, ส้ม 5 ผล,  แก้วมังกร 2 ผล, แอปเปิล 4 ผล นอกจากนั้นอาจะเพิ่มสาลี่ ทับทิม
  4. ขนมมงคล อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมถ้วยฟู
  5. น้ำดื่มสะอาด น้ำแดง หรือน้ำเขียว
  6. เครื่องไทยทานหรือสังฆภัณฑ์ (กรณีที่มีพระสงฆ์)
  7. อื่น ๆ อาทิ หมาก 1 คู่, พลู 1 คู่  ข้าวตอก, น้ำมนต์, น้ำอบ

ของมงคลใส่ในเสาเอก เสาโท

ภาพประกอบ : Lazada

รายการของสำหรับเตรียมมัดต้นเสาและใส่ในหลุมเสา

  1. ผ้าเจ็ดสียาว 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร จำนวน 2ชุด (สำหรับห่มเสาเอกและเสาโท) , ผ้าขาวม้า (ถ้ามี)
  2. ใบไม้เงิน ทอง นาก
  3. หน่อกล้วยติดใบ หรือกล้วยเป็นเครือ
  4. ต้นอ้อย
  5. อิฐมงคล ทอง เงิน นาก 1 ชุด (หรือ 2 ชุด ถ้าใส่เสาโทด้วย)
  6. ไม้มงคล 9 รายการ 1 ชุด ซึ่งไม้ที่นิยมใส่เข้าไปด้วยที่หลุมเสา ได้แก่ กันเกรา ทรงบาดาล ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ขนุน สักทอง ทองหลาง ไผ่สีสุก พะยูง
  7. มงคล 5 ชนิด
  8. แก้ว แหวน เงิน ทอง 1 ชุด
  9. แผ่นทอง นาก เงิน อย่างละ 1 แผ่นและแผ่นทองคำเปลว
  10. พวงมาลัยสำหรับห้อยเสาเอกและเสาโท
  11. อื่น ๆ อาทิ ทรายเสกมงคล, เบี้ยแก้, เบี้ยจั่น, ธัญพืช, กลีบดอกไม้สด เกล็ดไม้หอม สำหรับโปรยในหลุมเสา อาจใช้กุหลาบ ดอกพุด ดอกรัก ดอกดาวเรือง ที่ให้กลิ่นหอมและชื่อเป็นมงคล

ปล. ปัจจุบันมีชุดสำหรับทำพิธีลงเสาเอก-เสาโทขาย ซึ่งจะเป็นของแห้ง เจ้าของบ้านสามารถค้นหาทางอินเตอร์เน็ตและสั่งซื้อได้ตามต้องการ

ลงเสาเอก

ภาพประกอบ : www.amarintv.com

ในส่วนของขั้นตอนพิธีนั้นไม่ยากเลยครับ นั่นคือ แล้วแต่อาจารย์ที่เป็นผู้ประกอบพิธีจะนำทางไปทางไหน อาจจะเริ่มจากการวางสายสิญจน์จากโต๊ะบูชาไปยังโต๊ะสังเวยแล้วโยงไปบริเวณสถานที่ก่อสร้างเข้าสู่เสาเอก จากนั้นเจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานหรือสวดมนต์ ก็ให้ว่าไปตามท่านจนจบ ขั้นตอนต่อไปการนำต้นกล้วย อ้อย ใบไม้มงคล ดอกไม้และผ้าสี ผ้าขาวม้ามัดที่ต้นเสาเตรียมไว้ แล้วนำสิ่งของมงคลต่างๆ ที่นำมาปักหรือโปรยลงไปในหลุม จากนั้นก็นำเสามาวางใจกลางหลุม ต่อด้วยการเทปูนทับ เท่านี้ก็เรียบร้อย หากมีพระสงฆ์มาร่วมพิธีด้วยอาจจะการสวดพระพุทธมนต์ และจบด้วยการถวายสังฆทาน

สำหรับบ้านที่ทำเองง่าย ๆ ไม่มีอาจารย์ ไม่เชิญพราหมณ์ หรือพระสงฆ์ ก็สามารถกำหนดขั้นตอนได้ตามสะดวก และหากต้องการกล่าวคำอฐิษฐาน ก็ใช้บทคำกล่าวสังเวยเทวดา (ในวาระการก่อสร้างบ้าน) ดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ ครั้ง)
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน ทีเป รัฏเฐ จะ คาเม ตรุวะนะ
คะหะเน เคหะวัตถุมหิ เขตเต ภุมมาจายันตุ เทวาชะละถะละ วิสะเม ยักขะคันธัพพะนาคาติฏฐันตา
สันติเก ยัง มุนิวะระวะจะนัง สาธะโว เม สุณันตุ อายาจนะกาโล อะยัมภะทันตา อายาจนะกาโล อะยัมภะทันตา อายาจนะกาโล อะยัมภะทันตา

ข้าพเจ้าขอนอบน้อมสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงไว้ซึ่งพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พร้อมด้วยพระธรรมและพระสงฆ์ ผู้เป็นมงคลในโลก
ด้วยวันนี้เป็นศุภวารดิถีอันเป็นมงคล เพื่อเริ่มก่อสร้างบ้านของข้าพเจ้า จึงได้จัดอาหารคาว หวาน และผลไม้ ถวายแด่ภุมมเทวดาผู้สิงสถิต ณ สถานที่อาณาบริเวณแห่งนี้ จึง ณ โอกาสอันเป็นมิ่งมงคลนี้ ข้าพเจ้าได้จัดเครื่องสังเวยเป็นเทวตาพลีไว้แล้ว จึงขออัญเชิญเทวดาทั้งหลาย พระภูมิเจ้าที่ ตลอดถึงเทวดาผู้สถิตทั่วแว่นแคว้นแดนภูเขา พื้นปฏพี มวลนที และท้องนภากาศ ทุกแห่งหน โดยโปรดมารับเครื่องสังเวยที่ได้จัดถวายไว้นี้

และข้าพเจ้าขอขมาต่อเจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา ผีสางนางไม้ และแม่ธรณี ที่ข้าพเจ้ามารบกวนขอพื้นที่ปลูกสร้างบ้าน และโปรดคุ้มครองดูแลให้การก่อสร้างบ้านของข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรค สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และปกป้องคุ้มครองให้ข้าพเจ้าอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์โศก โรคภัยและอันตรายใดๆ หากเหล่าข้าพเจ้าได้กระทำการใดๆ ที่เป็นการล่วงเกินต่อท่านทั้งหลายโดยไม่ได้เจตนา ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ขอท่านทั้งหลายอโหสิกรรมให้ข้าพเจ้าด้วย ด้วยเดชะบารมีแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อันเป็นมิ่งมงคลของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังที่ได้เอ่ยนามมานี้ ได้โปรดอภิบาลรักษา และอำนวยอวยชัยให้ข้าพเจ้าพร้อมทั้งบริวาร มีความสุขเกษมสันต์ และสำราญชื่นบานตลอดไปด้วยเทอญ

เตรียมฟุตติ้งก่อนลงเสาเอก

ส่งท้าย : สิ่งควรรู้ให้กระบวนการลงเสาเอกราบรื่น 

  1. การยกเสาเอกจะต้องเลือกเสาต้นที่จะเป็นประธานและขุดหลุมเตรียม ซึ่งตำแหน่งควรถูกต้องแน่นอน ดังนั้นก่อนจะถึงวันพิธี เราควรต้องมีแปลนบ้านที่เสร็จสมบูรณ์ก่อน
  2. ก่อนฤกษ์สัก 1-2 วัน อยากให้เจ้าของบ้านลองเข้าไปสังเกตหลุมที่ผู้รับเหมาขุดด้วยก็จะดีนะครับ เพราะความเป็นมงคลที่แท้จริงจะอยู่ที่รากฐานบ้านที่ก่อสร้างอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม (และแบบบ้าน) ง่ายๆ คือ หลุมที่ขุดต้องมีความลึกมากพอ ประมาณ 1.50 เมตร – 1.80 เมตร ไม่ควรต่ำกว่า 1.25 เมตร ไม่ควรใช้วัสดุบล็อกคอนกรีตในการตั้งแบบฟุตติ้ง เนื่องจากจะไม่สามารถถอดแม่แบบออกมาเช็คฟองอากาศหลังเทคอนกรีตได้ เหล็กที่ใช้ถักเป็นตารางมีความถี่และระยะเท่ากัน ทุกช่องต้องมีลวดผูกมัดด้วย ไม่ใช่การวางทับเฉย ๆ ระยะเหล็กงอฐานเสาต้องงอมากพอ หากพบสิ่งที่ไม่พึงประสงค์จะได้แก้ไขทันทีครับ
  3. สิ่งที่สำคัญที่ลืมไม่ได้ คือ การนัดหมายเวลาและพิกัดไซต์งานกับผู้ทำพิธีและรถปูนให้เข้าใจตรงกัน เพราะบางบ้านเป็นพื้นที่ใหม่ไม่มีเลขที่ ไม่มีแผนที่ที่ GPS เข้าถึง จึงต้องสื่อสารเรื่องพิกัดให้ดีก่อน อย่างไรก็ตาม
  4. ระหว่างลงเสาสังเกตว่าตัวเสาได้ดิ่งไม่เอียงไปด้านในด้านหนึ่ง ก็เป็นอันเสร็จพิธี

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด ความรู้ คู่บ้าน


โพสต์ล่าสุด