
บ้านสองชั้น โปร่งสบาย ระบายร้อนระบายชื้น
“บ้าน” ที่น่าอยู่สำหรับบางคนฟังก์ชั่นต้องมาก่อนความสวย ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งตัดสินบ้านเพียงแค่เปลือกนอก เพราะหากรูปลักษณ์สวยงาม สร้างด้วยวัสดุราคาแพง แต่ไม่อาจตอบโจทย์ชีวิตทั้งด้านงบประมาณ สภาพภูมิอากาศ และรูปแบบการใช้ชีวิตได้ บางครั้งก็เหมือนเราเทเงินทิ้งไปฟรี ๆ ต้องตามแก้ไขปรับปรุงต่อเติมไม่รู้จบ เหมือนเช่นบ้านหลังนี้ในอินโดนีเซีย ที่พื้นที่อยู่ในเขตร้อนชื้น ตัวบ้านเดิมต้องเผชิญกับแดด ฝน และปลวก จนต้องปรับปรุงใหม่ให้อยู่สบายขึ้นในงบที่มีจำกัด ทีมงานออกแบบเลือกใช้เหล็ก ไม้เก่า คอนกรีต และเพิ่มช่องแสง ใส่พื้นที่ว่างเพื่อให้บ้านระบายร้อนและชื้นได้ดี หน้าตาบ้านอาจจะดูโทรมๆ แต่ไม่มีปัญหาในการอยู่อาศัย
ที่มา : dwell
เรียบเรียง : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพใด ๆ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บ้านงบน้อย ฟาซาดบานไม้เก่าโครงเหล็ก
Bekasi เป็นเมืองที่ไม่ได้แน่นขนัดเท่ากับจาการ์ตา ซึ่งมีประชากรมากกว่าสองล้านจนแทบไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับอยู่อาศัย ผู้คนจึงขยับออกมานอกเมืองกันมากขึ้น เมื่อมีโอกาสในการสร้างบ้านสักหลังที่นี่เจ้าของก็ยังต้องควบคุมงบประมาณให้จ่ายน้อยที่สุดแต่ได้ประโยชน์มากที่สุด สถาปนิก Ahmad Djuhara ได้ Nugroho Wisnu จึงได้ร่วมมือกันปรับปรุงบ้านเก่าโดยใช้จากวัสดุง่าย ๆ แต่ตอบโจทย์สภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี อย่างเช่น โครงสร้างเหล็ก คอนกรีต และไม้ มาประกอบเป็นบ้าน หน้าตาอาจจะดูไม่สวยนักแต่ฟังก์ชั่นการใช้งานยอดเยี่ยม
บ้านเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างโปร่งโล่ง ส่วนชั้นบนมีฟาซาดที่ทำจากโครงเหล็กกรุไม้เป็นบานประตูไม้ 3 บานซ้อนกัน ความพิเศษคือทุกบานติดรางลูกล้อด้านล่างเพื่อให้สไลด์ปิดเปิดได้ได้ ฟาซาดไม้เก่านี้จึงทำหน้าที่เป็นปราการกันแดดในส่วนห้องนอนหลัก ปกป้องบ้านให้มีความเป็นส่วนตัวจากถนน และเป็นช่องแสงช่องลมในยามที่เจ้าของบ้านต้องการ
ประตูบ้านและด้านข้างทุบผนังทึบเดิมออก แล้วแทนที่ด้วยระแนงเหล็กโปร่ง ๆ เพื่อให้บ้านสามารถต่อเชื่อมกับชุมชนได้ โดยที่ยังคงความเป็นส่วนตัวและมีความปลอดภัย
บ้านโครงสร้างคอนกรีตและเหล็กลดปลวก เปิดช่องว่างโปร่ง ๆ ลดร้อน
โครงสร้างภายในอาคารเน้นวัสดุคอนกรีตและเหล็กเป็นหลัก เพื่อลดปัญหาเรื่องความชื้นจากฝนที่ทำลายบ้าน และปัญหาเรื่องปลวก ซึ่งหลาย ๆ บ้านในอินโดนีเซียที่นิยมสร้างด้วยไม้มักจะประสบปัญหานี้กันมากรวมทั้งบ้านนี้ด้วย ส่วนชั้นล่างของบ้านนี้เปิดผนังโล่งเพื่อให้บ้านระบายอากาศร้อนและชื้นได้เต็มที่ พื้นที่นั่งเล่นด้านในเจาะทำเพดานสูงกว่าปกติเล็กน้อย ทำให้มีช่องว่างเป็นโถงสูงเล็ก ๆ สถาปนิกจึงเพิ่มการใช้งานพื้นที่นี้ให้เป็นห้องทำงานบนชั้นลอย ทำให้บ้านมีช่องทางหายใจ ขยายพื้นที่ใช้งาน และให้คนในบ้านสามารถเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กันได้ง่าย
ทุกพื้นที่ของบ้านต้องฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ผนังข้างบันได บิวท์เป็นตู้เก็บของบานไม้ตลอดทางเดินบันไดได้หลายตู้
ครัวคอนกรีตเรียบง่าย เป็นห้องโปร่ง ๆ โล่ง ๆ ที่กั้นระหว่างภายในและภายนอกด้วยแผ่นกระจก ผนังที่เปิดกว้างรับแสงเข้ามาภายในช่วยลดภาระการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ทำให้ระบายควัน กลิ่น ในระหว่างทำอาหารได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดวิสัยทัศน์ครัวให้เชื่อมต่อกับสวนภายนอกได้ไม่ถูกแยกออกจากส่วนอื่น ๆ ของบ้านเหมือนแต่ก่อน
บ้านมีใต้ถุน เหมาะกับเขตร้อนชื้น
ด้วยความเป็นบ้านในเขตร้อนชื้น สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกต้องคำนึงถึงคือ การออกแบบบ้านให้เข้ากับสภาวะอากาศที่มีทั้งความร้อนและความชื้น แล้วสรรค์สร้างที่อยู่อาศัยที่จะช่วยแก้โจทย์เหล่านี้ได้ (โดยที่ความงามอาจจะตามมาทีหลัง) บ้านหลังนี้จึงมีพื้นที่หลังบ้านบริเวณชั้นล่างในส่วนครัวที่สร้างความเชื่อมต่อจากสวนมาที่ครัว ซึ่งไม่มีผนัง ไม่มีหน้าต่าง ประตู เหมือนมีใต้ถุน ลมจึงพาดผ่านเข้าไปสะดวก ก่อนเข้าถึงโซนครัวจะปูด้วยกรวดเพื่อซับน้ำฝนไม่ให้น้ำฝนกระเซ็นเข้าด้านใน
ทางลาดที่เป็นเหมือนสะพานวางจากพื้นในสวนยาวขึ้นมาถึงบริเวณชั้นสองของบ้าน ทำให้เด็ก ๆ สนุกกับการใช้งาน เพราะสามารถลื่นไถลลงมาได้ และค่อย ๆ ไต่ขึ้นไป และยังสามารถปรับใช้เป็นทางสำหรับรถเข็นได้ในอนาคต
ชั้นสองของบ้านดูเหมือนเป็นพื้นที่โล่ง ๆ ต่อเชื่อมกับระเบียง แต่จริงๆ แล้วยังมีปราการของบ้านอีกชั้น คือผนังกระจกใส ที่พรางตาให้ดูเหมือนเป็นบ้านไร้ผนังเหมือนบ้านเอเชียเก่า ๆ ที่นิยมสร้างห้องนั่งเล่นโปร่ง ๆ แต่บ้านนี้ประยุกต์ใช้วัสดุใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ได้อย่างลงตัว