บ้านปูนเปลือยผนังกระจกตกแต่งสีสันสดชื่น
“ชีวิตในเมือง” เมื่อเห็นคำนี้ทำให้อดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพความยุ่งเหยิง บ้านที่เบียดเสียดแออัด ตึกสูงที่แทบไม่มีพื้นที่สีเขียว และแน่นอนว่าความเป็นเมืองจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ ในหลายๆ พื้นที่ทั่วโลกก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายของการสร้างบ้านในพื้นที่เล็กลง ซึ่งนี่คือแบบฝึกหัดชั้นยอดสำหรับสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ ที่จะดีไซน์พื้นที่ชีวิตอย่างไรให้ยังคงคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสะดวก สบาย และใกล้ชิดกับธรรมชาติได้มากขึ้น และผลงานออกแบบบ้านหลังนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นครับ
ออกแบบ : Luiz Paulo Andrade Arquitetos
ภาพถ่าย : Sidney Doll
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
LP House เป็นชื่อบ้านสร้างบนที่ดินขนาดเพียง 40 ตารางวา ใน Vila Madalena ซึ่งเป็นย่านที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของเซาเปาโล สถาปนิก Luiz Paulo Andrade ถูกท้าทายทั้งด้วยขนาดไซต์และความต้องการของผู้อยู่อาศัย ที่ต้องการเชื่อมต่อพื้นที่ชีวิตกับธรรมชาติให้หายใจได้โล่ง ๆ เขาจึงตีโจทย์โดยสร้างตัวอาคารให้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พื้นที่กลางแจ้งเป็นจุดสนใจ ทั้งนี้เขาไม่เพียงแต่เน้นที่ความต้องการใช้พื้นที่ภายนอกให้คุ้มค่าที่สุดเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการโต้ตอบที่ลื่นไหลระหว่างภายในและภายนอกอีกด้วย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
บ้านที่มีพื้นที่เฉลียงให้นั่งเล่นและสามารถแสงธรรมชาติที่ดี จะยิ่งมีเพิ่มบรรยากาศและคุณภาพชีวิตมากขึ้น ดังนั้นในห้องนั่งเล่น พื้นที่ซักรีด และห้องครัวที่ตั้งอยู่ชั้นล่างจึงเป็นแปลนแบบเปิด และใช้ประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ทั้งสองด้านหลัก เพื่อให้ภายในได้รับแสงธรรมชาติและลมพัดผ่านได้เต็มที่จากภายนอก ความใสของกระจกและช่องเปิดที่กว้างมาก เปิดโอกาสให้บ้านมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายในและภายนอก อีกทั้งยังทำให้มีอิสระทางสายตาเหมือนไม่มีผนัง ช่วยลดความรู้สึกแคบของพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก
Guto Requena สถาปนิกและนักออกแบบ ได้ให้แนวคิดไว้ว่า ไม่ควรออกแบบ “ห้อง” ต่างๆ ภายในบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือห้องครัว แต่ควรออกแบบสิ่งที่เรียกว่า “พื้นที่กิจกรรม” เช่น พื้นที่ทำงาน พื้นที่ทานอาหาร พื้นที่เล่นสนุก ซึ่งเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากกว่า เพราะการคิดถึงบ้านจากกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เจาะลึกในรายละเอียดลงไปได้ชัดขึ้น อาทิ พื้นที่นั่งเล่นจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ประตูที่เลื่อนได้ เฟอร์นิเจอร์มีล้อเลื่อน แสงไฟที่ปรับได้ และนี่เป็นแรงบันดาลใจในการจัดเลย์เอาท์บ้านที่เชื่อมต่อ ลื่นไหล ลดผนังแบ่งแยกให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อรวมกิจกรรมต่างๆ ของบ้านเข้าไว้ด้วยกัน
องค์ประกอบโครงสร้างที่สำคัญของบ้าน เช่น เสา แผ่นพื้นเพดาน และคานบ้าน ใช้วัสดุหลักคือ ปูนเปลือย ซึ่งโชว์ให้เห็นเนื้อสัมผัสอย่างภาคภูมิใจ ควบคู่ไปกับการตกแต่งที่ทำจากวัสดุผสมซีเมนต์ ในความรู้สึกดิบของคอนกรีตไม่ได้ทำให้บ้านดูแข็งกระด้าง เพราะนักออกแบบจับคู่วัสดุไม้ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งโทนสีเทา ฟ้า ส้ม ไปจนถึงผนังที่กรุด้วยกระเบื้องเรโทรหลากลวดลายหลายสีสัน ทำให้บ้านดูอบอุ่นปนสนุกสนานจนลืมความดิบของคอนกรีตไปเลย
ไม่เพียงแต่พื้นที่นั่งเล่นเท่านั้นที่หันหน้าออกไปรับแสงและวิวธรรมชาติได้ ในส่วนของครัวก็มีช่องทางในการต่อเชื่อมไปยังพื้นที่กลางแจ้งที่มีชีวิตชีวา โดยทำมีช่องหน้าต่างแนวนอนยาวให้สามารถมองออกไปเห็นสวนและต้นไม้ได้ทุกทิศทาง อีกทั้งยังบูรณาการเชื่อมต่อกับเคาน์เตอร์คอนกรีตภายนอก สำหรับนั่งทานอาหารดื่มเครื่องดื่มชิลๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในบาร์ริมชายหาด
ความน่าสนุกของบ้านยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเราจะเห็นการซ่อนฟังก์ชันต่างๆ เอาไว้ตามบริเวณต่างๆ ของบ้าน อาทิ การแบ่งพื้นที่ใต้บันไดทำเป็นมุมทำงานอ่านหนังสือเล็ก ๆ ที่เงียบสงบ และยังออกแบบตู้บิลท์อินเก็บของใต้บันไดข้างๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่น่าสนใจ แต่ยังแสดงถึงการบริหารพื้นที่บ้านขนาดจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของชั้นบนจะเป็นพื้นที่ส่วนตัว ประกอบด้วยห้องนอนสามห้องที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนทั้งในด้านการตกแต่งและฟังก์ชันใช้งาน อย่างห้องนอนใหญ่ตกแต่งด้วยโทนสีครีม-น้ำตาล ผสมผสานกับคอนกรีตดูเป็นผู้ใหญ่ แต่ในห้องเด็กจะใช้โทนสีฟ้าสดใสและเตียงสองชั้นที่ปีนป่ายขึ้นลงได้ นอกจากนี้ยังมีห้องใต้หลังคาที่แสนสบาย ซึ่งใช้เป็นสตูดิโอและระเบียงนั่งเล่นพักผ่อนอีกด้วย