ภาษีบ้านและที่ดิน
ปรับเพดานภาษี”ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างใหม่”
เป็นประเด็นสังคมที่ต้องติดตามกันกับเรื่องราวของภาษีบ้านและที่ดิน รวมถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ วันนี้ “บ้านไอเดีย” ขอนำข่าวสารความคืบหน้ามาฝากกัน โดยที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเก็บไม่เกิน 0.25% ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.5% เชิงพาณิชย์ไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าเก็บไม่เกิน 0.5% เพิ่ม 1 เท่าทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2% และยกเว้นที่ดินเพื่ออยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ด้านนักวิชาการหนุน เหตุสัดส่วนรายได้รัฐบนฐานทรัพย์สินต่ำ ชี้ควรออกแบบจัดเก็บให้ชัดเจน ปิดช่องโหว่คนเลี่ยงภาษี
เรียบเรียง : บ้านไอเดีย
ภาพประกอบ : Q House
รายละเอียดข่าว
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยระหว่างวงเสวนาเรื่องกฎหมายภาษีทรัพย์สิน : การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบ จัดโดยโครงการนิติเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า กระทรวงการคลังได้ปรับปรุงอัตราเพดานจัดเก็บภาษี ในร่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ โดยที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.25% จากเดิมกำหนดไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน
ส่วนที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย จัดเก็บไม่เกิน 0.5% จากเดิมไม่เกิน 1% ของราคาประเมิน ส่วนที่ดินอื่นๆ เช่น ที่ดินเชิงพาณิชย์ จัดเก็บไม่เกิน 2% จากเดิมไม่เกิน 4% ของราคาประเมิน สำหรับที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า จะจัดเก็บไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน และจะเพิ่มอีก 1 เท่าในทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 2%
“อัตราภาษีดังกล่าว เป็นการปรับปรุงล่าสุด หลังจากได้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หากเรากำหนดเพดานไว้สูง แต่จัดเก็บจริงในอัตราต่ำ ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ทำให้ผู้เสียภาษีตื่นตระหนก ทำให้เราปรับปรุงเพดานนี้ลงมา อัตรานี้เป็นอัตราตุ๊กตาที่จะเตรียมเสนอต่อรัฐบาล”นายรังสรรค์ กล่าว
ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยไม่เกิน1ล้าน
สำหรับเกณฑ์การยกเว้นนั้น นายรังสรรค์ กล่าวว่า หลักการจัดเก็บภาษี เพื่อสร้างความเป็นธรรมและสร้างรายได้ให้รัฐบาล โดยไม่ยกเว้นให้มาก แต่คำนึงถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นหลัก เบื้องต้น ยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 3 ล้านบาท ต้องเสียา 50% ของอัตราที่กำหนด ส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท เสียเต็ม 100%
นอกจากนี้ ยังกำหนดการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับสถานที่ราชการ วัด สาธารณะสมบัติ ที่ดินยูเอ็น สถานทูต สภากาชาดไทย ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้หาประโยชน์ สุสาน และที่ดินเอกชนที่ใช้ในราชการ โดยการยกเว้นนี้จะออกเป็นพระราชกฤษฎีกา
วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก็เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งอาศัยดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บทำให้เกิดการเรียกรับประโยชน์ ขณะที่ การจัดเก็บภาษีตามร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะจัดเก็บตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ซึ่งขณะนี้ กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างการประเมิน คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
การจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น จากภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงภาษีบำรุงท้องที่ มีสัดส่วนน้อย หรือ 8-9% ของรายได้ท้องถิ่น รวมที่รัฐจัดสรรไปให้ โดยปี 2556 ท้องถิ่นมีรายได้รวม 5.7 แสนล้านบาท ปี 2557 ท้องถิ่นมีรายได้ 6.2 แสนล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เองเพียง 8-9%
สำหรับท่านที่อ่านข่าวแล้ว ยังไม่ชัดเจนว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่กันบ้าง บ้านไอเดีย คำนวณมาให้เห็นกันเป็นตัวอย่างครับ โดยการคำนวณนี้ คำนวณแบบอัตราก้าวหน้าแบบเดียวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะคำนวณเป็นขั้นบันได อาทิเช่น บ้านราคา 2 ล้านบาท ให้ทำการหักลบ 1 ล้านบาทแรก ที่ไม่ต้องเสียภาษีก่อน จากนั้นนำส่วนที่เหลือมาคำนวณตามเกณฑ์ภาษี
* การคำนวณภาษี เป็นข้อมูลเบื้องต้นโดยประมาณ คำนวณอ้างอิงตามเนื้อข่าวที่ระบุมา อาจมีความผิดพลาดได้ ทั้งนี้ปัจจุบันยังไม่ได้นำมาใช้จริง ยังอยู่ในขั้นพิจารณาร่าง ผู้อ่านคิดเห็นเช่นไร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นกันครับ
อัพเดทล่าสุด ปรับลดภาษีแล้ว : เริ่มต้นหลังละ 500 บาท เกิน 3 ล้าน เพิ่มล้านละพัน http://www.tb-credit.ru/return.html