บ้านพื้นถิ่นประยุกต์
ในหมู่บ้านตามชนบทที่บางคนเคยใช้ชีวิตวัยเด็ก เราจะเห็นบ้านไม้สองชั้นหลังคาจั่วง่ายๆ มีชายเรือนนั่งพักคุยกันหรือต้อนรับแขก ภาพแบบนั้นอาจจะหายากแล้วในปัจจุบัน แต่เราเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายๆ คนที่ยังคิดถึงแต่อยากปรับประยุกต์ให้อยู่สบายและทันสมัยมากขึ้น “บ้านไอเดีย” มีตัวอย่างบ้านใน Nom village หมู่บ้านที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนานของเวียดนาม เจ้าของบ้านเป็นครอบครัวที่อาศัยอยู่ที่นี่มา 3 รุ่น เมื่อจะสร้างบ้านใหม่ก็อยากให้เป็นที่นี่สมาชิกในครอบครัวสามารถมารวมตัวกันและพักผ่อนหลังจากเจอความวุ่นวายในเมือง และปรารถนาให้สถานที่แห่งนี้เป็นวิลล่าที่กลมกลืนกับทิวทัศน์ชนบทของหมู่บ้าน ด้วยบรรยากาศที่สง่างามและอ่อนโยน
ออกแบบ : PAK Architects
ภาพถ่าย : Trieu chien
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปี ของหมู่บ้านที่สามารถรักษาความงามที่เป็นเอกลักษณ์ไว้ได้อย่างดี มีบ้านโบราณ ต้นไม้เก่าแก่ สระน้ำ ลานส่วนกลาง ประตูทางเข้าหมู่บ้าน ที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ความรู้สึก และความทรงจำวัยเด็กของคนในครอบครัวอย่างมาก จนอยากดึงสิ่งเหล่านี้มาเป็นส่วนร่วมของบ้าน อย่างไรก็ตาม สถาปนิกต้องการสร้างบ้านที่สามารถก้าวข้ามคุณค่าแบบดั้งเดิมในรูปแบบร่วมสมัย แต่ยังเข้ากับสภาพแวดล้อมและรสนิยมของครอบครัว คนในบ้านสามารถแบ่งปันความรู้สึกและเชื่อมต่อกับธรรมชาติโดยไม่มีอุปสรรค
PAK Architects จึงออกแบบบ้านขนาด 480 ตารางเมตร เป็นอาคารสองชั้นเชื่อมต่อกันสองหลัง ภายนอกเห็นหลังคาทรงจั่วฟาซาดไม้ระแนง ซุ้มและประตูไม้โค้ง ๆ ทันสมัย มีกำแพงหิน ผนังบล็อกช่อง และคอนกรีตเปลือย สิ่งเหล่านี้สร้างบรรยากาศแบบชนบทและเงียบสงบให้กับวิลล่า ดาวเด่นของอาคารทั้งหมดคือผนังที่ตกแต่งด้วยกระเบื้องหยินหยาง ซึ่งเป็นงานจากพื้นถิ่นเวียดนามที่ดึงเอาเอกลักษณ์ดั้งเดิมออกมาได้ในความร่วมสมัย ส่วนภายในสร้างพื้นที่ใช้สอยที่ถ่ายทอดคุณค่าดั้งเดิมแต่ใช้งานง่ายสอดรับกับไลฟ์สไตล์และสภาพอากาศมากขึ้น
ภาพถ่ายจากมุมสูงจะเห็นภาพรวมของบ้านทั้งหมด หลังคาบ้านเรียบสวยงาม ลานระเบียงนั่งเล่นบนชั้นสองที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างสองอาคาร และสวนที่ล้อมรอบบ้าน
พื้นที่ใช้งานแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนนั่งเล่นส่วนกลางและส่วนห้องนอนแยกออกจากกันด้วยลานบ้าน 2 ช่วงตึกเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและเฉลียงยาว ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมของภาคเหนือ ด้านหน้าพื้นที่ใช้สอยของบ้านมีพื้นที่วางเก้าอี้นั่งเล่น ทำให้การเปลี่ยนพื้นที่เป็นไปอย่างราบรื่นและดูเอื้ออารี สอดคล้องวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่
ลักษณะพิเศษเมื่อเข้ามาภายในพื้นที่ของบ้าน คือ การสร้างช่องว่างขนาดใหญ่สองช่อง พื้นที่ส่วนแรก คือ โถงกลางด้านห้องนั่งเล่นที่เจาะเป็นโถงสูงสองชั้น เพื่อระบายอากาศและเชื่อมต่อพื้นที่ห้องนอนของเด็กด้านบนตรงหน้าต่างโค้งซึ่งเปรียบได้กับรังนก บ้านที่มีเสียงเด็กเล่นพร้อมกับผู้ใหญ่ในครอบครัว สร้างเอฟเฟกต์เสียงที่สนุกสนานและมีชีวิตชีวา
ห้องนั่งเล่น ครัว และห้องทานข้าว มีประตูบานเฟี้ยม ผนังกระจก ที่เปิดได้กว้างและรับแสงได้มาก แต่ก็ไม่ได้มากเกินไปเพราะมีกำแพงบล็อกช่องลมและความถี่ของไม้ระแนงที่ช่วยกรองแสงอยู่
ช่องว่างขนาดใหญ่ส่วนที่สองคือ สวนส่วนกลางที่อยู่ถัดจากโต๊ะทานข้าว ที่ช่วยเชื่อมพื้นที่ส่วนอื่นๆ เข้าด้วยกัน ในขณะที่ยังคงรักษาความเป็นส่วนตัวของห้องนอนหลักเอาไว้ เมื่อแสงตะวันกระทบใบไม้อย่างแผ่วเบา บางจุดก็ส่องลอดช่องว่างรูพรุนของผนังจะกระจายความอบอุ่นไปยังหัวใจของสมาชิกในครอบครัวแต่ละคน
คอร์ดยาร์ดจัดเป็นสวนเขียวขจี ทำหน้าที่เป็นทิวทัศน์ที่สดชื่นของบ้าน ล้อมรอบด้วยผนังกระจกเหมือนกล่องแก้วที่ทำให้มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาภายในได้อย่างอิสระ ภายในมีต้นไม้ใหญ่คลุมด้วยหญ้า ต้นไม้นี้สูงช่องว่างตรงสะพานทางเดินทะลุขึ้นไปถึงชั้นสอง การจัดสวนแบบนี้เหมือนเป็นหลอมรวมขอบเขตระหว่างที่ว่างภายในกับภายนอก แม้จะนั่งอยู่ในบ้านก็สามารถสัมผัสบรรยากาศสวนภายนอกได้ หรือขณะที่เราเดินอยู่ในสวน ก็ยังรู้สึกเป็นส่วนตัวเหมือนอยู่ในบ้าน แบบ inside out-outside in
หากมองไปที่ผนังด้านซ้ายมือ จะเห็นวัสดุตกแต่งโค้งๆ ที่วางเรียงกันสลับแนวตั้งแนวนอนเป็นช่อง ๆ สิ่งนั้นคือกระเบื้องที่เรียกว่าหยิน-หยาง เป็นวัสดุท้องถิ่นจากหมู่บ้านในจังหวัดลางเซินทางตอนเหนือของเวียดนาม ที่เรียกว่ากระเบื้องหยินหยางเพราะกระเบื้องสลับหน้าขึ้นและลง กระเบื้องชนิดนี้ทำจากดินเหนียว หลังจากขึ้นรูปแล้วจะนำกระเบื้องจะตากแดดประมาณ 1-2 เดือนก่อนจะเผาในเตาเผา คุณสมบัติมีน้ำหนักเบา กันน้ำ และกันความร้อนได้ดี
นอกจากการเชื่อมต่อและเพิ่มความเขียวให้กับสถานที่แล้ว สวนส่วนกลางยังมีบทบาทสำคัญในระบบระบายอากาศสำหรับทั้งอาคาร ทำให้เกิดการไหลเวียนของลมธรรมชาติ ระบบนี้ช่วยเพิ่มบรรยากาศภายใน ช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกับลดทอนความรุนแรงของแสงในช่วงกลางวัน และพรางตาเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้พื้นที่ใช้งานในบ้านไปด้วยในตัว ระเบียง หลังคากระเบื้อง บานประตูหน้าต่างหรือช่องว่างที่ถูกสร้างขึ้น ก็มีส่วนช่วยให้อาคารหลีกเลี่ยงผลกระทบโดยตรงจากดวงอาทิตย์ทางทิศตะวันตก
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านยุคใหม่นั้นมักจะคำนึงถึงการใช้งานสอดคล้องกับชีวิตประจำวัน การออกแบบที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และออกแบบภูมิทัศน์ให้มีพื้นที่ธรรมชาติในบ้าน สำหรับบ้านยุคเก่ามักจะแยกส่วนสวนเอาไว้หน้าบ้าน หลังบ้าน หรือข้างบ้านที่ไม่ต่อเนื่องกับตัวบ้าน ทำให้บางครั้งสมาชิกในบ้านก็ไม่ค่อยอยากออกมาชมบรรยากาศสวน จึงมีแนวคิดในการสร้างสวนให้ใกล้ชิดกับบ้านมากขึ้นแบบ inside out-outside in พยายามลบขอบเขตของบ้านและสวน เช่น สร้างคอร์ทเอาไว้กลางบ้าน ปลูกต้นไม้ในตัวบ้าน ในห้องน้ำ ห้องนอน จนรู้สึกว่าบ้านกับสวนเป็นส่วนเดียวกัน |
แปลนบ้าน