บ้านเน้นเส้นโค้งหลากรูปทรงหลายสีสัน
ในแต่ละปีในอเมริกาจะจัดงานใหญ่ AIA|LA Residential Architecture Awards ประจำปี เพื่อเฟ้นหาการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงบ้านเก่า การออกแบบบ้านใหม่ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ นวัตกรรมเกี่ยวกับบ้านที่มีแนวคิดในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์สภาพอากาศ การไม่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และอื่นๆ สำหรับเนื้อหานี้เราจะพาไปชมโปรเจ็คบ้านที่เพิ่งได้รับรางวัลหมาด ๆ ในหมวดหมู่ที่อยู่อาศัยเสริม (ADU) คือหน่วยที่อยู่อาศัยอิสระขนาดเล็กที่ตั้งแยกจากตัวบ้านหลัก ซึ่งทำออกมาได้อย่างน่าสนุกอยู่ได้ทุกวันแบบไม่มีเบื่อ
ออกแบบ: By Ben
ภาพถ่าย : Taiyo Watanabe
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Offset ADU เป็นการต่อเติมบ้าน 2 ชั้น ขนาด 92.2 ตารางเมตร ซึ่งในตอนแรกก็มีบ้านอยู่แล้ว 1 หลัง ซึ่งพื้นที่เพียงพอสำหรับอยู่สองคน ในบริเวณบ้านยังมีโรงจอดรถที่ดัดแปลงเป็นออฟฟิศ แต่หลังการระบาดใหญ่ของ Covid-19 ที่ต้องทำงานจากบ้านมากขึ้น บวกกำลังจะมีลูกด้วย “พื้นที่” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมาทันใด สถาปนิกจึงแนะนำทั้งคู่ให้เลิกแผนต่อเติมบ้านเดิม และให้พวกเขาเปลี่ยนโรงรถเป็น ADU ที่สามารถใช้เป็นสำนักงาน พื้นที่เล่นสำหรับพวกเขาและลูกๆ ไปจนถึงสถานที่รับรองแขกครอบครัวและเพื่อนๆ
ก่อนปรับปรุง : มีบ้านหลักปูนเปลือยอยู่แล้ว 1 หลัง บริเวณรอบๆ มีสนามหญ้าและพื้นที่ลานกลางแจ้ง ใกล้ๆ กันมีอาคารชั้นเดียวที่เคยเป็นโรงรถและถูกดัดแปลงใช้งานเป็นออฟฟิศเล็กๆ ตรงนี้เองที่สร้างเป็นอาคารเสริมใหม่ที่เห็น โดยWarwas ออกแบบโครงสร้างให้ตรงตามข้อจำกัดของสถานที่ ในขณะเดียวกันก็สร้างเพื่อนร่วมทางที่แปลกตาสำหรับบ้านหลังเดิม
หลังปรับปรุง : ส่วนต่อเติมโดดเด่นด้วยเส้นเรขาคณิตและผนังที่โค้งมน ผนังรอบบ้านปิดทับด้วยแผ่นไม้ Ipe ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งมีความหนาแน่นสูงที่สุด สำหรับงานก่อสร้างกลางแจ้ง รูปทรงไม่ได้เป็นสี่เหลี่ยมเติม ๆ แต่มีส่วนที่เหมือนถูกตัดออกให้หายไปและเติมเข้ามาอย่างสมดุลเหมือนรูปร่างหัวเรือ ผนังชั้นสองที่ถูกตัดออกเป็นมุมโค้งมนนั้น ไม่ใช่แค่ใส่ความแปลกตา แต่จริงๆ แล้วมีเหตุผล คือ เพื่อเว้นช่วงให้สายไฟที่วิ่งไปตามด้านหลังของบ้านนั่นเอง ส่วนชั้นล่างติดตั้งประตูกระจกบานเลื่อนไว้ที่แนวทแยงมุมใต้ชายคา เปิดออกเชื่อมต่อกับชานไม้เพื่อให้การสัญจรไปมาระหว่างอาคารทั้งสองหลังเป็นไปอย่างสะดวก
แผนผังของบ้านเป็นแบบเปิด open plan โดยแบ่งเป็น 3 สเปซใหญ่ๆ คือ ชั้นล่างสุดเป็นพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น โต๊ะทานข้าว ห้องครัว ขึ้นไปที่ชั้นที่สองเป็นห้องทำงาน/ห้องนอนสำรองสำหรับแขก และส่วนที่ 3 เป็นดาดฟ้า ในส่วนของการตกแต่งภายในนั้น นักออกแบบเล่นกับรูปทรงต่างๆ ภายใน วัสดุที่หลากหลายสัมผัส โดยโทนสีสด ๆ ช่วยเพิ่มความรู้สึกน่าสนุกและขี้เล่นลงไปในองค์ประกอบต่างๆ ของบ้าน เช่น ม้านั่งยาวไม้สาน โต๊ะกลางกลมหินอ่อนขาไม้รูปกากบาท หน้าต่าง Arch โค้งๆ โต๊ะทานข้าวแบบเสาเดียวสี่เหลี่ยม ตู้ครัวสีน้ำเงิน ตัดกับภาพวาดสีเหลือง ดูเหมือนงานงศิลปะแบบเซอร์เรียลิสม์
หนึ่งจุดเด่นที่รู้สึกได้ว่าบ้านมีชีวิตชีวาเหมือนมีเรื่องน่าตื่นเต้นรออยู่ คือ บริเวณโถงบันไดไม้ ซึ่งทาผนังโดยรอบด้วยสีเหลืองเลม่อนจี๊ดจ๊าด เนื้อสีมันวาวส่องสะท้อนแสงจากช่องแสงสกายไลท์ในช่วงกลางวัน เป็น “แสงตะวัน” ทำให้พื้นที่สว่างในเวลากลางวัน และเปล่งประกายสวยงามด้วยไฟประดับในช่วงเวลากลางคืน
หลังจากค่อย ๆ เดินผ่านบันไดทีละขั้นพร้อมอาบแสงตะวันแล้ว ก็จะมาถึงส่วนของออฟฟิศที่สว่างสดใสล้อมรอบด้วยหน้าต่างรูปทรงเรขาคณิตทั้งสี่เหลี่ยมและทรงคล้ายรูกุญแจบ้านโบราณ บนชั้นนี้แยกออกมาอย่างสงบ ไม่มีเสียงรบกวนจากกิจกรรมชีวิตประจำวันชั้นล่าง มีวิวท้องฟ้า ต้นไม้ และเพื่อนบ้าน ทำให้เป็นพื้นที่โปรดของเจ้าของ และยังปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นห้องนอนแขกในสถานการณ์จำเป็นอีกด้วย
ห้องน้ำแต่ละห้องในบ้านตกแต่งด้วยสีต่างกันให้ความรู้สีกไม่เหมือนกัน ที่ชั้นล่างเป็นโทนสีส้มอิฐ ตกแต่งกระเบื้องหินขัดโทนสีส้มดำ มีอ่างล้างมือสีขาวดีไซน์แปลกพร้อมก๊อกติดผนังสีขาวที่เข้าชุดกัน ส่วน ห้องน้ำอีกห้อง ดูสบายตาด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีเขียว มีฝักบัวขนาดใหญ่ กระจกที่ตัดมุมโค้งมน และตู้เคาน์เตอร์อ่างล้างมือแบบลอยตัวสไตล์ร่วมสมัย
มาถึง roof terrace พื้นที่นั่งเล่นกลางแจ้งส่วนบนสุดของบ้าน ซึ่งเราจะเห็นส่วนของผนังที่ถูกตัดหายไปเป็นเส้นโค้ง เพราะเว้นระยะให้แนวสายไฟนี้กลับสร้างโบนัสให้บ้าน โดยใช้ที่ว่างส่วนนี้เป็นระเบียงดาดฟ้าติดกับสำนักงานชั้นสอง ให้ออกมานั่งรับลมชมวิวแบบส่วนตัวชิล ๆ ได้ทุกเมื่อ
“สถาปนิกแนะนำให้เรามองว่าโครงสร้างโรงรถใหม่นี้ เป็นงานศิลปะหรือประติมากรรม ซึ่งถูกใจเรามาก เด็กๆ ก็วิ่งเข้าๆ ออกๆได้สบายเพราะประตูที่เปิดเชื่อมได้รอบด้าน เราตระหนักได้ว่าในที่สุดเราก็ได้ชีวิตในร่ม/กลางแจ้งตามที่ต้องการแล้ว ” เจ้าของบ้านสรุป