
บ้านเขตร้อนชื้น
รากเหง้าเป็นสิ่งที่หลายคนไม่เคยลืม และสิ่งที่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ใส่ลงไปป็นส่วนหนึ่งของบ้าน อย่างบ้านในอินเดียที่จะได้เห็นหลังนี้ มองครั้งแรกจะเหมือนอาคารที่เรขาคณิตเรียบง่ายที่ชั้นล่าง แต่ชั้นบนและวัสดุที่ใช้ประกอยร่างเป็นตัวบ้านทั้งหลัง ซ่อนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมเก่า ๆ ที่นำมาปรับประยุกต์ให้ทันสมัย บ้านใหม่จึงเติบโตไปพร้อม ๆ กับสิ่งที่คุ้นเคยในวันวาน
ออกแบบ : Thought Parallel
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านร่วมสมัยซ่อนกลิ่นอายพื้นถิ่น
บ้านของครอบครัว Ayanis ตั้งอยู่ในพื้นที่อันร่มรื่นของ Payyoli ซึ่งเจ้าของตัดสินใจกลับมายังหมู่บ้านบ้านเกิดของเขา เพื่อจะได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและญาติ ๆ สถาปนิกจึงศึกษาภูมิทัศน์โดยรอบและมองเห็นถึงความงดงามของบริบทรายล้อม จึงออกแบบบ้านที่มีปฏิสัมพันธ์กับบ้านอื่น ๆ และได้รับแรงบันดาลใจจากทั้งความคลาสสิกและความทันสมัยแบบสบาย ๆ พร้อมช่องเปิดที่ง่ายดาย หลาย ๆ อย่างทำให้บ้านนี้เหมือนคนที่แม้ว่าจะดูเจียมเนื้อเจียมตัวจากมุมมองถนน แต่ด้านในก็มีความโอ่โถงและสดชื่น อันเป็นผลมาจากวิธีการออกแบบที่สร้างขึ้นในภูมิทัศน์ที่เขียวชอุ่ม
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
รูปแบบที่โดดเด่นของบ้านผสมผสานระหว่างไม้กับคอนกรีต มีจุดประสงค์เพื่อให้มีการออกแบบโดยมีเค้าโครงสถาปัตยกรรม Malabar style สไตล์ Kerala และส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ‘tharavadu’ (บ้านแบบดั้งเดิม) ของ Kerala ซึ่งเป็นแหล่งที่ยังหลงเหลือวัฒนธรรมอินเดียให้เห็นแต่นำมานำเสนอในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น เรียบคมขึ้น แต่ยังหลงเหลือกลิ่นอายของความดั้งเดิมอยู่
ต้อนรับด้วยสวนตั้งแต่ทางเข้า
ก่อนเข้าสู่ตัวบ้านจะมีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคารกับภายนอกอาคาร ฟาซาดไม้เนื้อแข็งทำเป็นระแนงติดตั้งเป็นแนวยาวซ่อนประตูเอาไว้อย่างแนบเนียน สร้างความรู้สึกเงียบสงบและชายฝั่ง เปิดรับลมตะวันตกพัดผ่านด้านหน้าอาคารและมีการป้องกันทางลมในด้านที่ไม่ไม่ต้องการ ในขณะเดียวกันเมื่อเข้ามาในบ้านทางเดินหลักจะมองเห็นพื้นที่ภายในได้ทันที ผ่านความโล่งของผนังและลานเล็ก ๆ สองแห่ง ธรรมชาติถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ทำให้นึกถึงบ้านแบบดั้งเดิมที่มีองคืประกอบให้สัมผัสที่ทันสมัย โดยไม่ทำลายความสวยงามเดิมแบบที่ลูกค้าต้องการ
เปิดผนังโล่งรับความสบายรอบด้าน
รูปลักษณ์ของบ้านเป็นกลุ่มอาคารที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ กัน แต่ทุกส่วนได้รับการตกแต่งด้วยรายละเอียดมากมายที่เพิ่มสภาวะสบาย เช่น สวนเขียว ๆ และสนามหญ้าที่แยกพื้นที่ทางสังคมออกจากพื้นที่ส่วนตัว ผนังที่เปิดออกได้หมดทั้งสองด้านจนดูเหมือนศาลาโล่ง ๆ ลดขีดจำกัดระหว่างช่องว่างภายในและภายนอกลงและลูกเล่นของเพดานภายในที่กรุด้วยไม้เอียงไปตามแนวเพดาน ช่วยเพิ่มพื้นที่ระบายอากาศร้อนรับความเย็นเข้ามาแทนที่ สำหรับการจัดแปลนภายในเป็นแบบ open plan เน้นพื้นที่ว่างโล่ง ๆ กว้าง ๆ โดยไม่มีผนังมาปิดแบ่งกั้นระหว่างพื้นที่นั่งเล่น ครัว และห้องรับประทานอาหาร ทำให้ภายในเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียว
พื้นที่ส่วนตัวแต่ละแห่งเชื่อมต่อกับภายนอกที่สวยงาม ซึ่งเป็นแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีการแยกพื้นที่สำหรับทำงานออกจากกันอย่างเป็นสัดส่วน “เราต้องการดูแลครอบครัวที่นี่ เด็ก ๆ ควรจะมีพื้นที่ให้เล่นได้ และบ้านควรจะมีต้อนรับแขกของบริษัทที่เป็นกิจลักษณะ ” Ayanis ให้ความสำคัญกับการแบ่งพื้นที่ทางสังคมและครอบครัวเป็นพิเศษ เพื่อตอบสนองความต้องการนี้โดยเจตนาพื้นที่ทางสังคมที่ต้องรับแขกด้วยถูกจัดให้อยู่ห่างจากพื้นที่ครอบครัว
เรียบ ง่าย แต่ไม่ธรรมดา
งานตกแต่งภายในส่วนใหญ่จะเป็นการผสมผสานของรูปร่าง สี พื้นผิวที่แตกต่างกัน เช่น คอนกรีต โครงสร้างเหล็กที่ดูบอบบางแต่แข็งแรงสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมชายฝั่ง และ Indian Teak Wood ที่ให้ความรู้สึกในทางตรงกันข้ามคือทำให้บ้านดูนุ่มนวลเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่เรียบง่าย แต่ราคาไม้สักที่ใช้ในบ้านทั้งหลังนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาเลย
ระบบบานชัตเตอร์หรือบานเกล็ดไม้และผนังกระจก ไม่ได้ใช้ในเฉพาะส่วนห้องสาธารณะเท่านั้น แต่นำมาใช้ในโซนห้องนอนด้วย เพื่อให้การระบายอกาศทำได้ดี และยังรับแสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้ในปริมาณที่เหมาะสม ในส่วนที่ไม่ต้องการแสงก็ปรับองศาบานเกล็ดหรือปิดม่านได้ ผนังที่ติดกระจกถึงด้านบนเปิดมุมมองออกไปให้มากขึ้นสูงมองเห็นท้องฟ้า เพิ่มความสุนทรีในยามพักผ่อนเต็มร้อย
บ้านนี้มีการจัดการเรื่องความยั่งยืนทางพลังงานเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า อย่างการใช้กระจกเป็นตัวกลางดึงแสงเข้าสู่อาคาร การเปิดผนังให้กว้างรับลมทิศทางลมธรรมชาติ และการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อสร้างพลังงานสะอาดใช้เอง การออกแบบภูมิทัศน์รักษาพันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่ช่วยทั้งการลดการใช้น้ำเพื่อการชลประทานและการลดอุณหภูมิด้วยพืชโดยรอบ เป้าหมายสูงสุดคือการสร้างพื้นที่ใช้สอยที่สว่างพร้อมการระบายอากาศตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกันก็สำรวจความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อให้บ้านพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านเขตร้อนชื้น ไม่ได้มีแต่ความร้อนอย่างเดียวแต่ยังมีความชื้นจากฝนในฤดูมรสุมด้วย ดังนั้นการออกแบบบ้านจึงต้องคำนึงถึงการรับแสงด้วยโดยไม่ได้ปิดผนังทึบทั้งหมด สถาปนิกจะเลือกทิศทางวางตำแหน่งติดตั้งฉากกั้นกรองแสงไม่ให้แสงแดดส่องเข้ามาเกินพอดี ขณะเดียวกันก็ต้องมีพื้นที่เปิดรับลม ผ่านช่องว่าง ช่องเปิดในบ้านที่จะระบายอากาศและช่องแสงลดความชื้นไปพร้อม ๆ กัน |
แปลนบ้าน