ไอเดียตกแต่งร้านอาหาร
สถานการณ์ทั่วโลกที่เผิชญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้ทุกสังคมจะต้องคิดใหม่ว่าพื้นที่สาธารณะจะปรับตัวให้เข้ากับยุคหลังโควิด -19 ได้อย่างไร และควรดำเนินการสิ่งใดที่จำเป็นบ้าง ขอสรุปหนึ่งที่ทุกประเทศเห็นตรงกันคือ การทำความเข้าใจว่า “ระยะห่างทางสังคม” มีความสำคัญอย่างยิ่งพื้นที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราที่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเริ่มมีเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนเกิดแนวคิดร้านอาหารที่ตอบสนองต่อโควิดขึ้นในนิวเดลี ประเทศอินเดีย
ออกแบบ : Renesa Architecture
ภาพถ่าย : Niveditaa Gupta
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
ร้านอาหารที่มี social distancing
ในความคิดพื้นฐานของสังคมครอบครัวหรือ “ความใกล้ชิด” จะช่วยประสานให้การดำเนินการราบรื่น แต่ใครจะคิดว่าในบางสถานการณ์การ “เว้นระยะห่าง” กลับดีกว่าที่คิด ในประเทศอินเดียยุคนี้ก็เริ่มปรับตัวให้คนในสังคมมี social distancing เห็นได้จากการออกแบบสถาปัตยกรรมล่าสุดของ RENESA ARCHITECTURE DESIGN INTERIORS STUDIO ที่นำเสนอแนวคิดผ่านรูปแบบที่นั่งที่แยกโซนให้มีระยะห่างปลอดภัย ซึ่งจริง ๆ แล้วออกแบบไว้ก่อนหน้าการระบาด แต่ก็ตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้พอดีเป็นแห่งแรกของอินเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ทางสตูดิโอวาง concept ร้านโดยรวมสองอุดมการณ์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ นั่นคือการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากถนนที่คึกคักและร้านค้าตามตรอกซอกซอยของเวียดนาม ผสมผสานเข้ากับพื้นที่ใน Dwarka (โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในนิวเดลี) ที่ต้องดูเหมือนให้มีระยะห่างโดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกแยกขาดออกจากกัน ภายในร้านอาหารเน้นตอบสนองต่อวิถีชีวิตแบบ “new normal” ด้วยการกำหนดขอบเขตใหม่ระหว่างที่นั่ง ส่วนกลาง และบูธในร้านอาหารใหม่
มาตรฐานใหม่เพื่อชีวิตไกลโรค
กฎเกณฑ์ใหม่ภายในร้านพนักงานเสิร์ฟต้องสวมหน้ากาก โต๊ะที่วางจะห่างกันประมาณ 1.8 เมตร และมีฉากกระจกตีเป็นช่อง ๆ เป็นองค์ประกอบหลักทั้งหมด ที่ทำให้เกิดพื้นที่อารมณ์แบบร่วมสมัยกึ่งเวียดนามกึ่งอินเดีย ที่ร้านยังคงมีส่วนร่วมกับลูกค้าได้
ทีมงานเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างเช่น ไม้เนื้ออ่อน อิฐ ปูน หวาย โทนสีคุมโทนสีเขียว น้ำตาล เทา และผนังอิฐช่วยเพิ่มความเป็นชนบท แต่ให้ความรู้สึกสดชื่นแก่สถานที่ สำหรับพาร์ติชันและเฟอร์นิเจอร์ใช้แนวทางเดียวกัน คือเน้นวัสดุธรรมชาติ เก้าอี้ โต๊ะ ทั้งที่บาร์ข้างหน้าต่างในโซนด้านในออกแบบใหม่ให้ตรงตามหลักสรีรศาสตร์และการใช้งานที่ให้อารมณ์ความรู้สึกเดียวกันทั้งโครงการ บางจุดยกพื้นขึ้นเล็กน้อยเพื่อแยกสัดส่วนพื้นที่ให้ห่างออกไปอีกนิด และออกแบบฉากแผ่นไม้ลายตารางให้สามารถพับแบบเลื่อนให้ยังคงมีการโต้ตอบกันได้ เพิ่มมู่ลี่ตาข่ายไม้ไผ่ที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นการกำหนดระยะห่างและความเป็นส่วนตัวให้ดู soft ลง
เพิ่มระยะห่างไปแต่ไม่ลดสุนทรียะ
ไม่เพียงแต่การแยกโซนให้มีที่นั่งเดี่ยว ระยะห่างที่พอเหมาะ และการใช้ฉากช่วยกั้นเท่านั้น ทางร้านยังมีโซนที่นั่งระดับที่สูงขึ้นไปอีกชั้น โดยมีบันไดไม้สูง 7 ขั้นนำทางขึ้นไป ซึ่งการจัดการพื้นที่ซ้อนขึ้นแบบนี้จะลดการสูญเสียพื้นที่เปล่าที่หมดไปกับการสร้างระยะห่างทำให้ที่นั่งลดลง และยังช่วยสร้างประสบการณ์เพิ่มสุนทรียะแบบใหม่ของการรับประทานอาหาร เติมเสน่ห์ให้ร้านน่าสนุกขึ้นในขณะที่นำเสนอมาตรการความปลอดภัยให้กับลูกค้าที่เลือกแวะเวียนมาที่นี่
จะเห็นได้ว่าในชั้นล่างเป็นม้านั่งยาวชุดละ 2 ตัวนั่งหันหน้าเข้าหากัน แต่ละชุดจะมีช่องว่างกั้นโดยวางกระถางต้นไม้เอาไว้ตรงกลาง สามารถนั่งได้ 2-4 คน ชุดต่อไปจะจัดวางให้นั่งหันหลัง ส่วนชั้นบนจะทำเหมือน ๆ กัน วิธีแบบนี้ทำให้ลดการแพร่และสัมผัสเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี โดยที่ยังรู้สึกว่าไม่ได้ถูกปิดกั้นจนอึดอัด
การตกแต่งร้านมีหลาย ๆ จุดที่ยืมมากจากมรดกทางสถาปัตยกรรมของเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นฉากไม้เป็นช่อง ๆ ผนังสังกะสี และประตูเหล็กยืดแบบห้องแถวที่พบได้ทั่วไปในร้านค้าย่านคนจีนของเวียดนามและโซนอื่น ๆ ของเอเชีย ทำให้ลืมไปเลยว่าที่นี่คืออินเดีย
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : การทำ Social Distancing เป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญในการป้องกันและลดการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 จากคนสู่คนได้ หลัก ๆ คือ การหลีกเลี่ยงสถานที่มีคนอยู่หนาแน่น เว้นระยะห่างจากผู้อื่น ประมาณ 1 – 2 เมตร เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากฝอยละอองขนาดใหญ่ เมื่อต้องไปในสถานที่มีคนพลุกพล่านต้องอยู่ห่างจากคนรอบข้างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน ทานอาหารที่เป็นชุดสำหรับคนเดียว หลีกเลี่ยงการร่วมสำรับกับผู้อื่น ซึ่งร้านอาหารสามารถรำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ ไม่เพียงแต่เพื่อตอบโจทย์กับสถานการร์ปัจจุบันเท่านั้น ยังรองรับไปถึงอนาคตได้ด้วย |
แปลนร้าน