บ้านยั่งยืน ประหยัดพลังงาน พึ่งพาตัวเอง
“บ้านเกษตรในเมือง” เป็นหนึ่งความฝันของเจ้าของบ้านยุคใหม่ที่รักในการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานและอาหาร เหมือนสมัยโบราณที่มนุษย์สร้างบ้าน ปลูกพืชผล เลี้ยงสัตว์ แต่ปัจจุบันด้วยสภาพเมืองที่แออัด พื้นที่อยู่อาศัยที่แคบลง ไม่มีแม้แต่พื้นที่รอบๆ ในการปลูกต้นไม้สักต้น เรื่องทำเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์จึงแทบไม่ต้องหวัง อย่างไรก็ตาม หากมีความฝันและตั้งใจจริงสถาปนิกสามารถช่วยได้ อย่างเช่นบ้านนี้ที่กลายเป็นแหล่งเพาะปลูก มีทั้งต้นไม้ น้ำ ปลา ข้างใน ซึ่งเป็นผลมาจากแนวคิดของทีมงานที่ต้องการบ้านแต่ละหลังเปรียบเสมือนเซลล์ที่แข็งแรง เป็นโอเอซิสสีเขียวที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างยั่งยืน สภาพแวดล้อมในเมืองโดยรวมก็จะดีขึ้นด้วย
ออกแบบ: Farming Architects
ภาพถ่าย : Cao Hoa, An Viet Dung
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
Urban Farming Home มีพื้นที่ก่อสร้าง 37 ตารางวา หน้ากว้าง 5 ม. ตั้งอยู่ในเมือง Thu Dau Mot จังหวัด Binh Duong ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่กำลังเผชิญกับการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว เมืองนี้มีลักษณะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีบ้านเรือนหนาแน่น พื้นที่สีเขียวจำกัด อีกทั้งภูมิอากาศร้อนชื้น (อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 22°C ถึง 35°C ตลอดทั้งปี) ต้องเผชิญกับมรสุมเขตร้อนที่มีฝนตกหนักตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน และฤดูแล้งตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเมษายน ทำให้ต้องออกแบบบ้านโดยคำนึงถึงทั้งความต้องการใช้งานและความสอดคล้องกับสภาพอากาศด้วย
โครงการนี้มุ่งเน้นที่การปรับปรุงคุณภาพอากาศ แสง และน้ำ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยที่สบาย พร้อมแก้ไขผลกระทบเชิงลบของการขยายตัวของเมือง เช่น มลพิษ พื้นที่อยู่อาศัยที่จำกัด และการขาดพื้นที่สีเขียว โดยการยกธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทุกส่วนประกอบของบ้าน หากมองจากภายนอกจะเห็นช่องว่างตามจุดต่างๆ มีต้นไม้แทรกแซมอยู่มากมาย เมื่อเปิดประตูเข้าบ้านจะต้องตื่นตากับบ่อปลาขนาดใหญ่ เงยหน้าขึ้นไปมาต้นไม้ใหญ่ใจกลางบ้าน และกระถางต้นไม้แขวนอยู่ บ้านสว่างไสวจากแสงธรรมชาติที่ส่องมาจากสกายไลท์ข้างบน เหมือนกำลังอยู่ในสวนใหญ่ ๆ กลางแจ้ง
ทีมงานนำเสนอโซลูชันทางสถาปัตยกรรมหลัก ๆ สามประการ ประการแรก แบ่งการก่อสร้างออกเป็นส่วน ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ประการที่สอง ผสมผสานพื้นที่ในระดับต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและเพิ่มความเชื่อมโยงภายใน และประการสุดท้าย ถือว่าอาคารเป็นหน่วยหนึ่งของระบบนิเวศน์ รองรับสิ่งมีชีวิตหลายชนิดให้พัฒนา และอยู่ร่วมกันในฐานะระบบนิเวศธรรมชาติ โดยใช้โซลูชันทางการเกษตรในเมืองที่เหมาะกับสภาพอากาศและภูมิอากาศในท้องถิ่น
จุดเด่นหนึ่งที่ทำให้บ้านหน้ากว้าง 5 เมตรดูกว้าง มีอิสระ และสามารถเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กันได้ คือ การทำลายการแบ่งส่วนแนวนอนโดยการลดผนังให้เหลือเท่าที่จำเป็น สามารถสัญจรและเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติได้ง่ายๆ และสร้างการเชื่อมต่อแนวตั้งด้วยวิธีเจาะเพดานให้เป็นช่องว่างโถงสูง ทำให้แต่ละระดับชั้นของบ้านสามารถมองเห็นและสื่อสารกันได้ นอกจากนี้ช่องว่างในบ้านยังทำหน้าที่ช่วยระบบการไหลเวียนอากาศและแสงในอาคารได้อย่างดีด้วย
ในทุกที่ที่ต้องการเปิดมุมมองออกไปหาธรรมชาติ จะวางตำแหน่งของช่องเปิดเอาไว้ เช่น ประตูบานเลื่อนกระจกขนาดใหญ่ในห้องนอน หน้าต่าง หรือเจาะช่องว่างให้ได้รับวิวสดชื่นของต้นไม้ สระน่้ำ รวมถึงแสงธรรมชาติที่กระจายลงมายังพื้นที่อต่างๆ ของบ้านอย่างทั่วถึง
นอกจากการจัดสรรพื้นที่ ออกแบบโครงสร้างภายในให้เหมือนเป็นแหล่งธรรมชาติแห่งหนึ่งแล้ว ยังผสมผสานเทคนิคการเกษตรในเมืองต่างๆ เช่น ระบบอะควาโปนิกส์ การใช้น้ำซ้ำ และการทำปุ๋ยหมัก ส่งผลให้มีระบบนิเวศที่หลากหลายด้วยพืชและสัตว์มากกว่า 300 สายพันธุ์ โครงการนี้ยังแสดงให้เห็นสัญญาณเชิงบวกในการดึงดูดผึ้ง ซึ่งบ่งชี้ถึงสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตที่สะอาดและหลากหลายมากขึ้นด้วย
โครงการ Urban Farming Home มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงคุณภาพการใช้ชีวิตของบ้านในเมือง โดยบูรณาการระบบนิเวศแบบพึ่งพาอาศัยกันเข้ากับตัวอาคาร ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น คุณภาพอากาศ แสงสว่างที่เพียงพอ คุณภาพน้ำ และการออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ การคำนวณจำลองพลังงานแสดงให้เห็นว่าการใช้พลังงานในการทำงานลดลง 31% เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านที่คล้ายกันในบริบทของเมือง เป็นบ้าน ECO ที่น่าสนใจ
แปลนบ้าน