บ้านหน้าแคบลึกโชว์เส้นโค้งและช่องแสง
ในเวียดนามมีโครงการบ้านจำนวนมากที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก เนื่องจากมีความหนาแน่นของประชากรสูง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมือง ข้อดีคือมีพื้นที่ปานกลางและราคาไม่แพงสำหรับคนที่มีรายได้ประมารหนึ่ง แต่ข้อเสียคือมักขาดแสงสว่าง ขาดลมจากช่องเปิดเพื่อระบายอากาศ และอับชื้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบเขตร้อน ดังนั้น โครงการเหล่านี้จึงต้องใช้โซลูชันบางอย่างที่สถาปนิกจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
ออกแบบ|ภาพถ่าย : 85 Architect
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านแนวตั้งหน้าแคบลึก เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมทั่วไปในทุกเมืองในเวียดนาม อย่างบ้านหลังนี้ก็สร้างขึ้นบนที่ดินที่คล้ายกันในดานัง มีพื้นที่กว้าง 5 ม.x 20 ม. ที่ต้องเพียงพอสำหรับ 5 คน เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นสถาปนิกจึงแบ่งบ้านออกเป็น 3 ส่วน คือ ด้านหน้า ด้านหลัง และเสียสละพื้นที่ขนาดใหญ่ตรงกลาง เพื่อให้แสงและลมเข้ามาภายในบ้านได้
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
เพื่อแก้ไขปัญหาแสงเข้าสู่ภายในบ้าน จึงเริ่มจากสร้างช่องเปิดโค้งขนาดใหญ่ที่ด้านหน้าอาคาร ซึ่งขยายออกไปหลายระดับ แนวช่องเปิดโค้งนี้มีพื้นผิวด้านในสีน้ำตาลแดง เมื่อเข้าไปใกล้ๆ จึงเห็นว่าเป็นหินโตอง (ศิลาแลง) หินก้อนแบบนี้ใช้ในการก่อสร้างเมื่อหลายร้อยปีก่อน ผสมผสานกับต้นไม้เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังคงใกล้เคียงกับการก่อสร้างแบบเดิมๆ มาก และใช้วัสดุในท้องถิ่นหลายอย่าง เช่น อิฐและหินเวียดนาม
เมื่อผ่านรั้วหน้าบ้านที่มีซุ้มโค้งและที่จอดรถ จะเห็นประตูไม้โค้งภายในกำแพงอิฐก่อเว้นช่องลมทางเข้าเปิดเข้าสู่ชั้นล่าง
พื้นที่จอดรถถูกแยกออกจากพื้นที่อยู่อาศัยด้วยผนังอิฐช่องลมเหมือนม่าน ทำให้บ้านรับลมและแสงส่องเข้ามาในบ้านได้ แต่เนื่องจากมีสารพิษจากยานพาหนะเป็นจำนวนมาก ด้านในจึงมีประตูกระจกอีกชั้นให้ควบคุมลมและวิวได้สะดวก ตรงกลางบ้านเป็นพื้นที่รับแขกและซักรีด เหนือโซฟาเงยหน้าขึ้นไปจะเป็นพื้นกระจก ซึ่งทำเป็นสวนน้ำพื้นกระจกที่ชั้นบน เพื่อนำแสงธรรมชาติลงไปชั้นล่าง และแขกสามารถมองเห็นปลาว่ายน้ำได้ด้วย ดูน่าตื่นตาตั้งแต่ชั้นล่าง
ที่ชั้นสองยกพื้นที่ส่วนกลางและห้องครัวมาอยู่ด้านหน้าและมีห้องนอนเล็กอยู่ด้านหลัง ระหว่างพื้นที่ทั้งสองนี้จะคั่นด้วยสวนน้ำขนาดใหญ่และพื้นที่ปลูกต้นไม้เขียวขจี ที่ไม่ใช่ต้นเล็ก ๆ จิ๋วๆ แต่เป็นต้นชงโคที่สูงได้ประมาณ 5-15 เมตร ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยส่วนกลางใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น บ่อปลายังเป็นวิธีการทางกายภาพในการลดความร้อน และเป็นการปลดปล่อยจิตใจของผู้อยู่อาศัยให้ผ่อนคลาย
ห้องนั่งเล่นและห้องครัว ตกแต่งด้วยวัสดุและธีมสีให้สอดคล้องกับองค์ประกอบตามธรรมชาติของบ้าน โดยมีผนังไม้สีน้ำตาลในห้องนั่งเล่นที่ต่อเนื่องไปจนถึงตู้ครัวและไอส์แลนด์ที่ปรับใช้เป็นโต๊ะทานข้าวได้ บริเวณที่ตั้งโต๊ะโซฟาสีเทาจะติดกับผนังกระจกที่หันหน้าออกหน้าอาคารตรงกับต้นไม้ที่ปลูกไว้ให้ร่มเงาพอดี
บนชั้น 3 และ 4 จะมีห้องนอนใหญ่จัดอยู่ด้านหน้า และห้องนอนเล็กตั้งอยู่ด้านหลัง พื้นที่ทั้งสองนี้เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินสะพาน ตรงกลางเป็นช่องรับแสงขนาดใหญ่ตลอดตั้งแต่ชั้น 4 ถึงชั้นล่าง สำหรับห้องนอนนี้จะมีประตูบานเลื่อนกระจกมองเห็นถนนและมองเห็นส่วนโค้งด้านบนของด้านหน้าได้อย่างใกล้ชิด ในขณะที่ห้องอื่นๆ จะมีหน้าต่างกรอบไม้ ในห้องนอนและห้องน้ำทั้งหมด ยังได้รับแสงโดยตรงซึ่งเป็นวิธีที่ใช้งานได้จริงและดีต่อสุขภาพอีกด้วย
จุดเด่นที่สุดของบ้าน ซึ่งเป็นโซลูชั่นหลักในการแก้ปัญหาบ้านขาดแสงธรรมชาติ และการไหลเวียนอากาศภายในอาคารหลายชั้น คือ การเจาะพื้นเพดานเป็นโถงสูงทะลุขึ้นไปจนถึงชั้นบน บนหลังคามีช่องแสงสกายไลท์ขนาดใหญ่ รับแสงธรรมชาติที่ส่องลงมาและกระจายไปด้านข้าง รอบๆ ช่องรับแสงนี้จัดต้นไม้ไว้มากมาย จึงรู้สึกเหมือนสัมผัสธรรมชาติได้ทุกที่ หน้าต่างภายในบ้านที่ทำเป็นซุ้มโค้งขนาดและองศาต่างๆ กัน จะเปิดออกมองเห็นห้องโถงกลาง วิวสระวิวสวน และทำให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาได้ทั่ว
ทีมงานออกแบบจัดบันไดให้อยู่ด้านใดด้านหนึ่งของบ้าน เพื่อให้ประหยัดพื้นที่ บันไดไม้ไม่มีลูกตั้ง ราวบันไดกระจกใส ช่วยให้บ้านดูโปร่งมองเห็นจุดอื่นๆ ของบ้านได้ง่าย แสงและลมยังไหลผ่านได้ นอกจากนี้ยังมีทางเดินเชื่อมต่อที่เหมือนสะพานหลายเส้นที่เชื่อมระหว่างชั้นต่างๆ ของบ้านเข้าด้วยกัน
สำหรับหลังคากระจกเหนือช่องรับแสง ใช้กระจกอินซูเลท (Insulated Glass) ซึ่งสามารถลดการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในอาคารและภายนอกอาคารได้ดี มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อนได้ 80% และสะท้อนรังสี UV ที่เป็นอันตรายเข้าสู่บ้านด้วย แต่ยังคงใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสงให้เกิดประโยชน์สูงสุด หลังคานี้สามารถเปิดปิดได้อัตโนมัติตามสภาพอากาศ
บนชั้น 4 มีสวนผลไม้เล็กๆ สำหรับพักผ่อนและรับประทานอาหารส่วนตัวของครอบครัว พื้นที่นี้จะมีต้นไม้วางประดับพร้อมระบบรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติเพื่อลดเวลาและขั้นตอน ส่วนของพื้นตีด้วยไม้เพื่อป้องกันความร้อนสำหรับชั้นล่าง สถาปนิกยังหลีกเลี่ยงการหดตัวด้วยความร้อนของคอนกรีต ด้วยมาตรการที่ดีในการทำกันซึม บนพื้นจึงใช้แผ่นกันความร้อน XPS (Extruded Polystyrene) ปูบนพื้นคอนกรีตด้วย เพื่อการป้องกันและทนความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
แปลนบ้าน