
บ้านอิฐ หลังคาจั่วสีขาว
อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างสุดคลาสสิกที่หลายคนอาจเห็นว่าตกยุค แต่ก็ยังมีคงที่ให้คุณค่ากับก้อนดินเผานี้เสมอมา อย่างในประเทศนอร์เวย์จะมีการประกวดโครงการความเป็นเลิศด้านงานก่ออิฐ โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2521 เพื่อกระตุ้นและพัฒนาการใช้วัสดุก่อสร้างของนอร์เวย์ แต่ต่อมาตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการตัดสินใจว่ารางวัล Masonry Prize นี้จะมอบให้กับ “อาคารที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น ซึ่งมีการใช้อิฐก่อในลักษณะที่มีทักษะและเทคนิคที่ดี” อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 คณะกรรมการไม่พบโครงการที่ตรงตามข้อกำหนด ทำให้ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่ก็โปรเจ็คก่อสร้างเล็กๆ ที่แสดงออกถึงความรักและตั้งใจในงานก่ออิฐ จึงมีอาคารก่ออิฐ 3 หลังได้รับรางวัลชมเชย หนึ่งในนั้นคือโครงการที่เราจะพาไปชมในเนื้อหานี้ครับ
ออกแบบ : Vatn Architecture
ภาพถ่าย : Johan Dehlin
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
โครงการนี้เป็นส่วนต่อเติมตั้งอยู่ในเขตชานเมืองของออสโล ประเทศนอร์เวย์ บนที่ดินมีบ้านเดิมสไตล์ Biedermeier จากปลายศตวรรษที่ 19 ก่อสร้างด้วยอิฐและผนังฉาบปูนขาว บ้านหลังนี้มีขอบหน้าต่างและหลังคาสีเข้มเด่นชัด ส่วนต่อเติมใหม่จึงต้องคำนึงถึงทั้งความสูง รูปร่าง ตำแหน่ง การเข้าถึงจากถนน และข้อกำหนดของหน่วยงานท้องถิ่น พร้อมกับนำเสนอไอเดียใหม่ให้กับงานก่ออิฐแบบดั้งเดิม ทำให้งานที่เหมือนง่าย (เมื่อดูภาพงานสำเร็จ) แต่กระบวนการทำงานจริงต้องพบกับข้อจำกัดบางประการ ซึ่งหลายๆ คนอาจเห็นเป็นอุปสรรค ในขณะที่ทีมงานเห็นว่านั่นคือสิ่งที่สนุกเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
งานที่ได้รับมอบหมายคือการออกแบบอาคารสองหลัง ได้แก่ ห้องสตูดิโอสำหรับนักเขียนขนาด 15 ตร.ม. และโรงรถรถสำหรับเก็บสปอร์ตขนาด 50 ตร.ม. โดยโรงรถตั้งอยู่ห่างจากแนวเขต 1 เมตร ส่วนห้องสตูดิโออยู่ห่างจากแนวเขต 4 เมตร ซึ่งระยะห่างจากตัวบ้านหลักจะกำหนดโดยกฎข้อบังคับด้านอัคคีภัย แต่ละอาคารมีช่องเปิดสองช่องและมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนจากภายในสู่ภายนอก รอบๆ มีสนามหญ้าปูด้วยหินกรวด และกำแพงกันดินที่กั้นระหว่างอาคารใหม่ทั้งสองหลังทำด้วยหินแกรนิต ให้สีเขียวตัดกับสีขาวอย่างน่ามอง
ทั้งสองอาคารจะมีรูปลักษณ์หลังคาจั่ว วัสดุหลังคาแผ่นเมทัลชีทสีขาว แต่อาคารสตูดิโอจะถูกตัดปลายหลังคาด้านหนึ่งให้โค้งรับกับผนังที่โค้งด้วยเช่นกัน ตัวอาคารวางอยู่ในระดับที่ต่างกัน จึงทำบันไดปูทับด้วยอิฐรูปพัดนำทางสำหรับเดินขึ้น-ลง และคั่นด้วยช่องว่างเป็นทางเดินเล็ก ๆ ให้มีทางสำหรับลมและแสง อิฐที่เป็นวัสดุเชื่อมกันนั้นอ้างอิงถึงตัวบ้านหลักก่อโชว์แนวในรูปแบบต่างๆ ทั้งแพทเทิร์นสลับธรรมดา และการก่อแบบแนวตรงดิ่งเหมือนกระเบื้อง subway โดยมีการตกแต่งเล็กน้อยที่ขอบหน้าต่างเป็นเหมือนเชิงเทินยื่นออกมาแบบ 3 มิติ และทาสีขาวเหมือนสีเดียวกับหลังคา
ผนังภายนอกโรงรถสีขาวสว่างดูอบอุ่น ส่วนผนังภายในอาคารจะต่างไป เพราะสร้างจากคอนกรีตสีดำขัดเงาแบบหล่อขึ้นในที่ เผยให้เห็นมวลรวมที่มีสีสันเข้มคม เพดานตกแต่งแผ่นโลหะเสริมความเท่ที่เข้ากันกับรถสปอร์ตสีดำเงาวับ
สตูดิโอนักเขียนมีประตูบานพับเหล็กขนาด 2×2 เมตร โอบด้วยผนังคอนกรีตโค้งๆ และโต๊ะไม้พร้อมหน้าต่างบานเล็ก สามารถมองออกไปผ่อนคลายสายตาได้ยามล้า ตรงหน้าโต๊ะมีต้นบีชสีทองแดง แผ่นหลังคาทำด้วยสังกะสี ซึ่งจะเกิดสนิมและกลายเป็นสีเทาเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนเพดานกรุวัสดุลายไม้ให้ความรู้สึกอ่อนโยนมากขึ้นกว่าโรงรถ เป็นการตกแต่งง่ายๆ แต่เสริมให้ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างดี
แปลนบ้าน