บ้านโถงสูงคอนกรีตผสมอิฐช่องลม
Zig House เป็นบ้านหน้าแคบลึก ตั้งอยู่ในเวียดนาม พื้นที่อยู่อาศัยได้รับประโยชน์จากทำเลที่ดี สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ตลาด โรงพยาบาล และโรงเรียนได้อย่างสะดวก แต่ตำแหน่งที่ตั้งอันได้เปรียบนี้มีความท้าทายที่สำคัญหลาย ๆ อย่าง เช่น ด้านหน้าของบ้านหันหน้าไปทางสามแยกและได้รับแสงแดดจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ สถาปนิกจึงต้องปรับทิศทางของบ้านอย่างชาญฉลาด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญได้ทั้งหมด และยังมีส่วนช่วยสร้างจุดสนใจที่น่าประทับใจภายในละแวกใกล้เคียงอีกด้วย
ออกแบบ: Dat Thu Design and Construction
ภาพถ่าย : Minq Bui
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
สถาปนิกใส่โซลูชั่นให้บ้าน โดยสร้างภาพลวงตาจากรูปร่างของบ้าน จะเห็นว่าบ้านข้างๆ ทั่วไปจะเป็นทรงกล่องยาวตรงๆ แต่ที่นี่ด้านหน้าจะถูกเบี่ยงหักไปด้านข้าง หันมุมผนังไปที่ประตูรั้ว ส่งผลให้ด้านหน้าหันไปทางทิศเหนือ การออกแบบนี้ไม่เพียงแต่ปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบของแสงแดดที่รุนแรง ทั้งนี้บ้านยังได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอักษร “Z” ที่เป็นโลโก้แบรนด์ “Zolo Media” เจ้าของบ้าน จากจุดนี้ สถาปนิกจึงนำตัวอักษร Z มาปรับให้กลายเป็นโครงสร้างหลักของบ้านด้วย
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
การจัดวางบ้านให้รูปทรงเบียงไปมาแบบ ZigZag ในพื้นที่หน้าแคบๆ นี้ไม่เพียงแต่แต่ให้รูปลักษณ์ที่น่าประทับใจเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาทั่วไปของบ้านทาวน์เฮาส์ทั่วไป เช่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การระบายอากาศไม่ดี และการถูกมองเห็นได้โดยตรงจากทางแยก นอกจากนี้ยังสร้างการไหลเวียนของการจราจรที่ยืดหยุ่น โดยผสานพื้นที่เปิดและปิดเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่ใน Zig House ได้รับการจัดการอย่างชาญฉลาด และทนทานต่อสภาพอากาศร้อนที่เลวร้าย ขณะเดียวกันก็ยังรักษาความเปิดโล่งได้ด้วยการใช้บล็อกช่องลมเป็นผนังระบายอากาศ
ฟังก์ชันการทำงานแบบซิกแซก ในชั้นล่างจะทำให้มีทางเดิน 2 ทาง คือ ทางเดินหลักและทางเดินรอง สัญจรอิสระแยกจากกันเป็นสองโซน การออกแบบนี้ไม่เพียงแต่ทำให้บ้านดู “ซ่อนตัว” จากมุมมองตรง ๆ ของทางแยกเท่านั้น แต่ยังมีข้อดีอีก เช่น ทำให้เหลือพื้นที่ว่างจัดสวนกลางแจ้งได้ด้วย
เมื่อเข้ามาถึงในตัวบ้าน จะพบว่าภายในโปร่งสว่างเหมือนเป็นโลกอีกใบหนึ่ง ชั้นล่างมีห้องครัวแบบเปิดรูปทรงเคาน์เตอร์แบบสามเหลี่ยมมุมมน ปูพื้นด้วยกระเบื้องลายขาวจุดดำดูน่ารัก ซึ่งกลายเป็นจุดศูนย์กลางของที่ที่ต้นไม้ ท้องฟ้า และสมาชิกในบ้านมาบรรจบกัน ขยับไปอีกเล็กน้อยจะเป็นบันไดวนเหล็กสีส้มอมแดงเข้ากันกับผนังอิฐในบ้าน และอีกฝั่งเป็นห้องนั่งเล่นสไตล์โมเดิร์นมินิมอลโทนสีเทา ขาวครีม และสีส้ม
แม้จะดูเหมือนไม่มีนัยสำคัญ แต่การมีปฏิสัมพันธ์กันในแต่ละวัน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งที่จับต้องได้ของความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้นสถาปนิกจึงตั้งใจสร้างการผสมผสานอย่างลงตัวโดยมีช่องว่างโถงสูงที่เจาะทะลุจากชั้นล่างขึ้นไปถึงชั้นบนเป็นตัวเชื่อม การจัดวางแบบนี้ทำให้สมาชิกในครอบครัวมองเห็นกันได้อย่างง่ายดาย เด็กๆ สามารถยืนบนโถงทางเดินชั้นบนเพื่อถามว่า “แม่ วันนี้จะทานอะไรเป็นมื้อเย็น” ในทางกลับกัน คุณพ่อก็แหงนมองขึ้นไปแล้วเตือนเด็กๆ ให้ลงมาทานอาหารได้ จากห้องนอนใหญ่ก็มีผนังโค้งๆ ยื่นออกมาคล้ายกับดาดฟ้าสำหรับชมวิวขนาดเล็ก สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลัก ๆ ของการทำบ้านเป็นโถงสูงลดพื้นเพดานแบบนี้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ว่างเข้าสู่แกนกลางของบ้าน และรับแสงเข้ามาจากด้านบนผ่านหลังคาโปร่งแสงขนาดใหญ่ ให้สามารถกระจายลงมาข้างล่างได้อย่างทั่วถึง นอกจากจะช่วยให้อากาศไหลเวียนผ่านช่องว่างต่างๆ แล้วจึงออกไปทางผนังอิฐช่องลม ทำให้เกิดการระบายอากาศตามธรรมชาติ ผนังช่องลมนี้ยังทำหน้าที่เป็นที่บังแดดที่มีประสิทธิภาพ โดยช่วยลดแสงแดดได้ 50% และเปลี่ยนบล็อกให้กลายเป็นระบบปรับอากาศตามธรรมชาติ
บันไดเหล็กสีส้มอมแดงหมุนเป็นเกลียวขึ้นไปในใจกลางบ้าน ทำให้บ้านดูมีความเคลื่อนไหวที่สวยงามและประหยัดพื้นที่มากกว่าบันไดรูปแบบอื่นๆ สถาปนิกใส่ลูกเล่นเพิ่มเติมด้วยการจัดสวนและสระน้ำเล็ก ๆ ข้างล่าง ทุกครั้งที่เดินขึ้นลงก็จะมองเห็นธรรมชาติเล็ก ๆ ที่สดชื่นในจุดนี้ด้วย
ห้องอาบน้ำสุดเก๋ ด้วยพื้นที่ตกแต่งแผ่นหินและกรวด มีต้นไม้วางประดับและห้อมล้อมด้วยผนังอิฐที่สูงเป็นอุโมงค์ ให้บรรยากาศเหมือนกำลังยืนอาบน้ำท่ามกลางธรรมชาติ เมื่อเงยหน้าขึ้นไปจะเห็นช่องแสงสกายไลท์และเหล็กที่ดัดเป็นตัว Z เข้ากับธีมของบ้านอย่างน่าสนใจ อิฐที่ใช้ตกแต่งบ้านเหล่านี้ เป็นแบบผสมผสานรูปแบบใหม่และอิฐแบบดั้งเดิมจากจังหวัดด่งนาย ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความทนทาน ความสวยงาม และราคาไม่แพง การใช้เทคนิคการก่ออิฐแบบไม่ฉาบปูนทำให้อิฐเรียงกันเป็นลวดลายประสานกัน จากนั้นจึงเคลือบด้วยสารเคลือบกันน้ำ วิธีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้โครงสร้างมีความทนทานเท่านั้น แต่ยังทำให้ผนังดูสดใสอีกด้วย
บนชั้นสองมีลักษณะเหมือนกับชั้นหนึ่ง โดยด้านหน้าบ้านหันไปทางทิศเหนือเพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง และบังทัศนียภาพที่ไม่พึงประสงค์ของทางแยกสามแยก โดยยังคงโครงสร้างโดยรวมที่กลมกลืนกัน พื้นที่หลังคาใช้เป็นระเบียงขนาดใหญ่ ส่วนด้านหน้าใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับครอบครัวและเพื่อนฝูง ส่วนด้านหลังใช้เป็นพื้นที่ตากผ้า รวมกับการปลูกต้นไม้ผลไม้ตามความต้องการของเจ้าของบ้าน
แปลนบ้าน