เมนู

2 เมตรพิชิตใจ เปลี่ยนอาคาร 100 ปี เป็นบ้านปนแกลเลอรี่

บ้านหน้ากว้าง 2 เมตร

รีโนเวทบ้านหน้าแคบ 2 เมตร

ไม่มีความแคบไหนที่จะขังเราได้ หากใจมีอิสรภาพ ความคิดนี้อาจจะเป็นจริงสำหรับคนบางคน แต่ในขณะที่ต้องดำเนินชีวิตทุกกิจกรรมในบ้าน บริเวณที่เราใช้สอยก็ควรจะรู้สึกได้ถึงความโปร่งและเป็นอิสระบ้าง เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตไม่แย่จนเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างสรรค์ได้โดยสถาปนิกที่มีมุมมองในการออกแบบบ้านอย่างแตกต่าง Mocro House เล็กจิ๋วหลังนี้ในญี่ปุ่นที่ออกแบบโดย 2m26 ก็เช่นกัน ด้วยความกว้างเพียง 2 เมตร ทำให้แทบนึกไม่ออกเลยว่าจะใช้อาศัยอย่างไร แถมสถาปนิกยังต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงงานนิทรรศการหรือศิลปะ มากกว่าจะเป็นแค่บ้านบ้านส่วนตัวที่ใช้สำหรับอยู่อาศัยและการทำงานด้วย จึงทำให้ยิ่งท้าทายมากขึ้นไปอีก

ออกแบบ : 2m26
ภาพถ่าย : soukousha (Yuya Miki)
เนื้อหา : บ้านไอเดีย

บ้านเล็ก ๆ ในญี่ปุ่น

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยอันเงียบสงบและล้อมรอบด้วยสวนสาธารณะในท้องถิ่น จังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เป็นบ้านแบบที่เรียกว่า Kyoto nagaya (บ้านแถวแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม) อายุ 100 ปี ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชั้นแรงงานเป็นหลัก เช่น ช่างฝีมือ คนงาน หรือร้านขายของ โครงสร้างผนังเป็นดินเหนียวใช้รองรับระบบหลังคากระเบื้องที่ค่อนข้างหนัก เริ่มแรกเมื่อทีมงานมาสำรวจพบว่าบ้านหน้าแคบลึก ค่อนข้างเก่าและทรุดโทรม แต่ทางทิศใต้และทิศเหนือที่ยังสร้างสิ่งปลูกสร้างสูง ๆ ใกล้เคียง ทำให้บ้านสามารถเปิดออกสู่สภาพแวดล้อมโดยรอบและสูดอากาศที่สดชื่นในฤดูร้อนได้เต็มที่ สิ่งนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสเปซที่สัมผัสโดยตรงกับสวนรอบ ๆ และเพื่อให้เกิดกระแสการไหลเวียนของลม เพิ่มคุณภาพของอากาศภายในอาคาร

บ้านหน้ากว้าง 2 เมตร

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

มุมนั่งทานข้าว

ด้วยความปรารถนาที่จะเห็นท้องฟ้าจากภายในบ้านและรับแสงธรรมชาติโดยตรง แต่ที่ดินก็มีทั้งจุดเด่นจุดด้อยที่ต้องแก้ไข ทีมงานจึงเริ่มวางแผนอย่างรัดกุม บทสรุปของการออกแบบจึงออกมาเป็นการจัดสร้างพื้นที่ขึ้นใหม่เป็นสองส่วนหลัก ๆ โดยใช้พื้นที่ต่างระดับและวัสดุปูพื้นเป็นตัวแยกสัดส่วนใช้งาน ลากไปตามความยาวดั้งเดิมของบ้านเป็นทางจากด้านหน้าจรดปลายที่ดิน และมีลานสวนอยู่หน้าสุดและหลังสุด ผนังหน้าบ้านเป็นกระจกช่วยเชื่อมต่อกับสวนหน้าบ้านได้แนบสนิท จากประตูเป็นโถงทางเดินเปิดนี้เชื่อมต่อโดยตรงไปยังโดมะ ( 土間) หรือพื้นที่บ้านญี่ปุ่นดั้งเดิมซึ่งมีไว้สำหรับถอดเก็บรองเท้าในระดับเดียวกับพื้นดิน ขณะที่ส่วนอื่นของบ้านจะถูกยกระดับให้สูงกว่าส่วนนี้เล็กน้อย

แต่งบ้านเรียบง่ายเป็นธรรมชาติ

เพื่อรักษาจิตวิญญาณของบ้านเอาไว้ 2m26 จึงให้ความสำคัญกับการคงรูปแบบ โครงสร้าง และการใช้วัสดุดั้งเดิมให้มากที่สุด หลังจากบ้านอยู่ในสภาพที่ถูกละเลยมาหลายปี ผนังหลักและโครงสร้างหลังคาได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ก็ต้องต้องซ่อมแซมก่อนเป็นจุดแรก แล้วทำโครงสร้างไม้ใหม่เพื่อเสริมฐานของบ้าน ส่วนผนังที่มีร่องรอยการลอกล่อน รอยขูดขีด ซากชิ้นไม้เดิม บางส่วนก็ถูกปล่อยเอาไว้อย่างนั้น เพื่อให้ผู้มาเยือนได้แวะซึมซึบอดีตที่ฝังอยู่ในบ้านอย่างเต็มที่

มุมนั่งเล่นตกแต่งไม้ยกระดับจากพื้น

การนั่งบนเสื่อทาทามิ เดินบนพื้นไม้ซีดาร์ และเต้นรำบนโถงทางเดินที่ขัดด้วยหิน ทำให้ร้สึกว่าบ้านสามารถแสดงความรู้สึกและมุมมองที่หลากหลายได้ ประตูกระจกบานเลื่อนสูงในทางเข้าและใต้หลังคาช่วยให้แสงแดดส่องผ่านเข้ามาในมุมมองที่มองเห็นลำแสงแบบซับซ้อน ทุกครั้งที่ออกมานั่งเล่นจะมองเห็นทิวทัศน์ของท้องฟ้า ธรรมชาติโดยรอบสวน ทำหน้าที่เป็นจุดผ่อนคลายเยียวยาจิตวิญญาณ ทำให้รู้สึกว่าบ้านหลังเล็กๆ หลังนี้ไม่ได้แคบเลยสักนิด

บ้านหน้าแคบลึก

ครัวเล็ก ๆ

ผนังกระจกทำให้บ้านดูกว้าง

ในบ้านนี้มีจุดชวนโฟกัสสายตาที่ช่วงท้ายแปลง นั่นคือ ห้องอาบน้ำที่เปิดกว้างออกสู่สวนและห่อหุ้มด้วยงานไม้ทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าทีมงาน 2m26  ถนัดอยู่แล้วแต่ยังต้องการทำความเข้าใจกับงานช่างแบบญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นปรมาจารย์ด้านงานช่างไม้ โชคดีที่ทีมงานได้รับคำแนะนำอย่างดีจากช่างฝีมือท้องถิ่น ทำให้พื้นที่ทั้งหมดนี้ได้รวมการใช้เทคนิคดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้ากับวิธีการสร้างของตัวเองออกมาได้อย่างลงตัว

เคาน์เตอร์ล้างงมือหน้าห้องน้ำ

วัสดุทำผนังห้อง

สังเกตหรือไม่ว่าเราแทบไม่เห็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวในบ้านเลย นั่นเป็นเพราะความตั้งใจแรกที่อยากให้ที่นี่เป็นแกลเลอรี่แสดงงาน ต้องมีผู้คนเดินมาแวะเวียนเข้าออกมากมาย อุปกรณ์และของใช้ส่วนตัวทั้งหมดจึงควรจะหายไป  แนวคิดนี้ได้รับการแปลความหมายโดยการสร้างพื้นที่เก็บของเป็นแนวยาวด้านหนึ่งของโครงสร้างชั้นล่าง มีประตูบานเลื่อนผนังเบาสีคอนกรีตปิดซ่อนสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนตัวทั้งหมด เช่น ห้องน้ำ ห้องทำงาน ห้องครัว ห้องแต่งตัว เอาไว้ภายใน

ห้องนอนบนชั้นลอย

บ้านนี้ทำหลังคาใหม่ค่อนข้างสูง ทำให้มีระยะห่างจากพื้นถึงหลังคามากพอที่จะที่จะแบ่งสัดส่วนใช้งานใต้หลังคาได้อีก แต่ถ้าปิดพื้นที่เพดานทำห้องทั้งหลังก็จะทำให้บ้านมืดทึบได้ ทีมงานจึงเลือกฝั่งเหนือห้องนั่งเล่นทำเป็นห้องนอนใต้หลังคาที่เพียงพอกับการพักผ่อนสบาย ๆ โดยที่มีช่องทางต่อเชื่อมออกไปนั่งเล่นบนดาดฟ้าได้ด้วย และยังเห็นท้องฟ้าจากภายในบ้านและรับแสงธรรมชาติโดยตรงได้อย่างที่ต้องการครบทุกข้อ

บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : บ้านที่แคบเล็กนั้น สิ่งที่สำคัญคือ การบริหารพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี อาทิ การจัดบ้านให้โปร่งโล่งที่สุดแบบ open plan ไม่ต้องมีผนังกั้น เพื่อเชื่อมต่อ Space แล้วใช้ตัวเฟอร์นิเจอร์ การยกระดับบ้าน วัสดุปูพื้นที่ต่างกันเป็นสิ่งบ่งบอกขอบเขตในการใช้งานแทนการก่อผนัง นอกจากนี้ยังมีการใช้พื้นที่แนวตั้งให้มากที่สุด เช่น การบิลท์อินตู้ ทำชั้นติดผนัง จะลดการใช้พื้นที่ระนาบแนวนอน การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีหลายฟังก์ชันในชิ้นเดียว ขนาดกระทัดรัด สามารถยกย้ายได้ ก็จะช่วยในการลดพื้นที่ใช้งาน หรือใช้วัสดุกระจกเข้ามาช่วยในการเพิ่มอิสระทางสายตา พร้อมพรางตาให้พื้นที่ดูต่อเนื่องและกว้างขึ้นได้เช่นกัน

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด