
Home Office จัดสรรพื้นที่ทำงานและพื้นที่ชีวิตลงตัว
ครั้งแรกที่เห็นแบบบ้านหลังนี้ เพลง “ที่ว่าง” ของวง Pause ก็ลอยขึ้นมาในหัว อย่างที่เราทราบกันดีว่าในความสัมพันธ์ระหว่างกัน การผูกติดกันมากเกินไปก็ทำให้เกิดความอึดอัดขึ้นได้เพราะไม่มีใครที่จะยอมสูญเสียพื้นที่ส่วนตัวของตนไปจนหมด ดังนั้นการเว้นที่ว่างให้แต่ละคนได้ใช้เวลาและชีวิตส่วนตัวบ้างก็ช่วยทำให้เกิดระยะห่างที่พอดี เช่นเดียวกับการสร้างบ้านให้เป็นออฟฟิศ ถ้าทุกอย่างติดชิดจนรู้สึกได้ถึงความแออัดยัดเยียดของพื้นที่ มุมส่วนตัวซ้อนทับมุมทำงานทำให้อยู่ไม่สบาย การแบ่งพื้นที่ในส่วนต่าง ๆ ของบ้านให้มีความพอดิบพอดี แยกพื้นที่ใช้ชีวิตส่วนตัวออกจาก Office โดยไม่รบกวนกัน จะช่วยให้บรรยากาศในการอยู่อาศัยผ่อนคลายและทำให้การทำงานราบรื่นไม่รู้สึกว่าถูกจับตามองครับ
ออกแบบ : between spaces
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
โฮมออฟฟิศในอินเดีย ชั้นล่างเป็นบ้าน ชั้นบนเป็น Office
อาคาร 3 ชั้นในบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ที่สถาปนิกซึ่งเป็นเจ้าของใช้เป็นทั้งที่พักอาศัยและแบ่งเป็นสติูดิโอในชั้นที่ 2 และสาม ซึ่งแต่ละพื้นที่ของบ้านผ่านการวางแผนเชิงพื้นที่ของทำให้บ้านใช้ประโยชน์ได้สูงสุด และเปิดมุมมองให้ตัวอาคารเห็นภูมิทัศน์ภายนอกตามแนวถนนในทิศเหนือได้ตลอดทั้งแนว ชั้นล่างสุดเป็นที่พักส่วนตัวจึงทำ Facade ปิดให้มีความเป็นส่วนตัวเส้นสายของตัวฐานตึกดูไหวพริ้วคล้ายกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ ส่วนชั้นอื่น ๆ หน้าตึกด้านติดถนนใส่หน้าต่างบานเกล็ดเหล็กขนาดใหญ่ที่เลือกเปิดระบายอากาศและรับแสงหรือจะปิดก็ได้ตามสภาวะอากาศ
เนื่องจากสภาพความหนาแน่นแออัดของพื้นที่โดยรอบทำให้ตัวอาคารขาดความเป็นส่วนตัว เจ้าของบ้านจึงจัดห้องนอนให้อยู่ชั้นสองด้านตะวันตกเฉียงใต้ บริเวณกลางบ้านเจาะทะลุพื้นให้มองเห็นด้านล่างได้ชัดเจนทำให้ส่วนนี้กลายเป็นโถงเพดานสูง วิธีการแบบนี้ยังช่วยเปิดให้การสื่อสารระหว่างชั้นทำได้ง่ายขึ้น ไม่ถูกปิดด้วยเพดานทึบทั้งหมด พนักงานจึงมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ผนังกระจกหน้าต่างที่ช่วยระบายอากาศและช่องสกายไลท์ที่รับแสงธรรมชาติเข้ามาสู่ตัวบ้านยิ่งทำให้รู้สึกได้ถึงพื้นที่เปิดโล่งกว้าง พื้นที่ส่วนนี้เชื่อมต่อที่ว่างเปิดโล่งสู่ท้องฟ้า (open-to-sky spaces) คือ ชานระเบียงกลางแจ้งที่ช่วยนำบรรยากาศภายนอกเข้าสู่ตัวบ้านได้สบาย ๆ
ห้องทำงานแบบ open มีช่องว่างเปิดสู่ท้องฟ้า สื่อสารกันได้ง่าย
ภายในบ้านจัดพื้นที่แบบ open plan ที่แบ่งสรรให้พื้นที่มีความเป็นสัดส่วนได้ด้วยการใช้พาร์ทิชั่นเป็นเส้นแบ่งขอบเขตให้เกิดความเป็นส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่สาธารณะที่ใช่รวมกันได้แบบอเนกประสงค์ เห็นได้จากการแบ่งพื้นที่ทำงานออกเป็น 3 ช่องให้ใช้งานตามวัตถุประสงค์ ส่วนกลางเป็นโซนทำงานส่วนตัว ส่วนติดผนังด้านซ้ายเป็นจุดประชุมค่อนข้างเป็นทางการซึ่งต้องการความสงบ ส่วนโซนทางด้านขวาเปิดโล่งด้วยผนังกระจกให้เห็นวิวภายนอกเหมาะสำหรับการนั่งอ่านหนังสือ การทำงานที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์หรือการระดมพลังสมอง
บันไดคอนกรีตโชว์ความดิบของปูนเปลือยที่ติดกับผนังกรุไม้ ความต่างของวัสดุให้อารมณ์ต่างกันคนละขั้วแต่สามารถนำมารวมกันได้อย่างลงตัว ผนังไม้ที่ตีทึบทำให้พื้นที่มีความอึดอัดขึ้นเล็กน้อย จึงต้องทำราวบันไดให้โปร่งด้วยเหล็กแบนที่เว้นระยะให้ห่างเพื่อเพิ่มความโล่งสบายให้พื้นที่
พื้นที่ใต้บันไดและผนังไม่ปล่อยให้ว่างโดยเปล่าประโยชน์สถาปนิกจึงเลือกที่จะทำเป็นห้องและชั้นเก็บของ เป็นการบริหารพื้นที่ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า
โชว์ผิวคอนกรีต ไม้ เหล็ก จัดบรรยากาศเหมือนบ้านในที่ทำงาน
ผนังและโครงสร้างอื่น ๆ ของบ้านตกแต่งให้เห็นผิวและเนื้อของวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น อิฐเผาโชว์แนวไม่ฉาบทับ แผ่นไม้ แผ่นหิน IPS ที่ใช้ปูพื้นสตูดิโอ หินแกรนิต เหล็ก และพื้นสีเหลืองขมิ้นที่ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้ตัวห้อง การใช้วัสดุที่แทบจะไม่ปรุงแต่งนี้ทำให้ผู้อยู่รู้สึกได้รับสัมผัสแท้ ๆ ของตัววัสดุและเติมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติให้กับพื้นที่อยู่อาศัย
จุดเด่นของบ้านที่เป็น Home office ด้วยหลังนี้จึงอยู่ที่การเลือกใช้วัสดุที่สามารถตอบสนองการใช้งานได้ดี โทนสีเรียบง่ายสบายตา และการจัดแบ่งพื้นที่ให้มีทั้งความทึบสลับโปร่งทำให้ทุกมุมของบ้านมีมิติ จัดโซนบริเวณส่วนตัวและส่วนรวมที่สามารถใช้สอยได้อย่างมีประสิทธิภาพ