ดีไซน์บ้านญี่ปุ่น
บ้านจำเป็นต้องมีรูปทรงสี่เหลี่ยมเหมือนอย่างที่เราเคยคุ้นตาหรือเปล่า ? คำตอบนี้ง่ายมาก คือ ไม่จำเป็นเลยครับ เพราะข้อจำกัดในที่ดินของแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกัน บางคนก็ได้เป็นเจ้าของพื้นที่รูปร่างแปลก ๆ นักออกแบบจึงต้องทำงานแบบออกนอกกรอบกันบ้าง เพื่อให้บ้านสอดคล้องกับไซต์งานมากที่สุด อย่างบ้านของครอบครัว Ogawas ในประเทศญี่ปุ่นก็สร้างบ้านบนที่ดินที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย ที่ดินนี้มีรูปร่างเหมือนมีคนเอาที่ดินสี่เหลี่ยมแคบ ๆ สองผืนมารวมกันแบบซิกแซก ทอดยาวจากเหนือจรดใต้ 40 เมตร โดยมีความสูงชันพอสมควร 1.2 เมตร ซึ่งท้าทายนักออกแบบเป็นอย่างมากทีเดียว
ออกแบบ : class Archi Co., Ltd.
ภาพถ่าย: Yashiro photo office
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
Class Archi ท้าทายบรรทัดฐานทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม โดยการศึกษารูปร่างที่ดินทิศทางแสง ลม วิว ไปพร้อม ๆ กับความต้องการของผู้อยู่อาศัย เพราะ “การเข้าใจวิถีชีวิตของเจ้าของในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างบ้าน” จึงเป็นที่มาของการส่งแบบสอบถามให้เจ้าของกว่า 200 ข้อ ตั้งแต่ฤดูกาลที่ชอบ ไปจนถึงช่วงเวลาโปรด แสง เสียงของธรรมชาติ บทสรุปออกมาเป็นบ้านที่มีความโค้งพริ้วชวนให้นึกถึงคลื่นเหมือนบ้านกำลังเคลื่อนที่เต้นระบำ เป็นการตอบสนองต่อข้อจำกัดของพื้นที่แคบอย่างรอบคอบ ละมุนละม่อมไม่แข็งกระด้าง ตัวเลือกนี้ไม่เพียงแต่มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นเท่านั้น แต่ยังใช้งานได้จริงเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ที่มีอยู่ได้เต็มที่
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
รูปทรงโค้งมนสอดคล้องกับข้อกำหนดของประมวลกฎหมายอัคคีภัยของญี่ปุ่น ที่ว่าอาคารใกล้เคียงในพื้นที่เหล่านี้ต้องห่างกันอย่างน้อยสามเมตรหรือห้าเมตรที่ชั้นล่าง
การเลือกตำแหน่งหน้าต่างบนส่วนหน้าของบ้าน ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างแสงที่สาดส่องและความเป็นส่วนตัว ส่วนของซุ้มทางเดินที่เป็นเหมือนอุโมงค์ข้างล่างช่วยแยกฟังก์ชันบ้านออกจาก workshop
ในขณะที่ทางทิศตะวันออกมีบ้านเพื่อนบ้านติดกัน และอยู่ใกล้หน้าต่างของบ้าน Ogawas มากเกินไป เพื่อความสะดวกสบายสถาปนิกจึงใช้ผนังโค้งมนเป็นพิเศษโอบล้อมบ้านในทิศนั้น เพื่อกีดขวางแนวสายตาระหว่างภายในบ้านทั้งสองหลัง วิธีนี้ยังทำให้ลานภายในถูกตัดออกจากมุมมองของถนนให้ความเป็นส่วนตัว โดยที่ภายในทำประตูบานใหญ่นำแสงและอากาศเข้ามาสู่ห้องนั่งเล่นไม่ให้มืด
พื้นที่นั่งเล่นให้ความรู้สึกโล่งโปร่งสบาย ซึ่งเจ้าของบ้านชอบมาใช้เวลาว่างที่นี่มาก เพราะพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหารรับแสงได้พอดี มีช่องเปิดขนาดใหญ่และเงยหน้าขึ้นมองเห็นความเคลื่อนไหวข้างบนได้หมด และยังสามารถดูภาพยานตร์ผ่านโปรเจ็กเตอร์บนผนังข้างห้องครัวสีขาวได้ด้วย บันไดบ้านเป็นแบบตรงในแปลนเริ่มแรก แต่ในที่สุดสถาปนิกก็เปลี่ยนใจเลือกใช้บันไดเวียน เพื่อให้บ้านมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นและให้เข้ากับความโค้งของอาคาร ไม้อัดที่ใช้ปูพื้นถูกตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูและประกอบเข้าด้วยกันอย่างระมัดระวัง โดยใช้สลักเกลียวยึดด้วยการฉีดเรซิน เพื่อเชื่อมชิ้นส่วนที่ทำด้วยไม้ ซึ่งสถาปนิก Nitta เรียกว่า “วิธีเชื่อมต่อบ้าน”
“เดิมทีฉันต้องการบ้านชั้นเดียว และถึงแม้ในทางเทคนิคแล้วนี่คือสองชั้น แต่ก็ยังรู้สึกเหมือนเป็นบ้านเดียว” เจ้าของบ้านกล่าว เพราะทีมงานออกแบบใช้วิธีบ้านเล่นระดับที่ค่อยๆ แยกชั้นขึ้นไปแบบไม่สูงมาก
ไม่เฉพาะภายนอกเท่านั้นที่โค้ง ภายในบ้านก็เช่นกัน เพื่อให้สอดรับกันทั้งหมดและ ยังคงยึดหลักความเรียบง่าย ผนังสีขาวและเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นเป็นตัวกำหนดการตกแต่งภายใน ทำให้เกิดพื้นที่ที่ไม่เกะกะรกตาและระบายอากาศได้ดี ความเรียบง่ายนี้ขยายไปถึงฟังก์ชันการทำงานที่ดำเนินไปคู่กันของบ้าน คือ พื้นที่นั่งเล่น และสตูดิโอทำงานเครื่องหนัง การออกแบบผสมผสานทั้งสองด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อความชัดเจนและวัตถุประสงค์ของแต่ละพื้นที่
ด้านที่เป็นเวิร์กช็อปสำหรับให้คุณพ่อของบ้านทำแบรนด์เครื่องหนังที่มีชื่อว่า Affordance ตั้งอยู่ในอาคารอิสระที่เชื่อมต่อกับบ้านหลักด้วยอุโมงค์ เวิร์กช็อปนี้มีอุปกรณ์สำหรับงานเครื่องหนังและโต๊ะทำงานขนาดใหญ่ “เป็นเรื่องดีที่อุโมงค์ทั้งสองด้านมีหน้าต่างตรงข้ามกัน จึงรู้สึกว่าครอบครัวยังอยู่ใกล้ๆ ขณะที่ตัวเองทำงานเงียบๆ อยู่ในสตูดิโอ” ฮิโรกิกล่าว