รีโนเวทกระท่อมเก่าในสไตล์ญี่ปุ่น
บ้านเก่าที่มีร่องรอยของกาลเวลาและบอกเรื่องราวของยุคสมัย แม้จะมีคุณค่าทางจิตใจแต่ในแง่การใช้งานอาจไม่ตอบโจทย์ปัจจุบันและความชอบที่เปลี่ยนไป เราจึงเห็นการปรับปรุงหรือรีโนเวทบ้านเก่าให้ตรงใจมากขึ้น ในเมืองแมรีวิลล์ ประเทศออสเตรเลียก็มีบ้านเก่าที่ปรับปรุงใหม่ได้กลิ่นอายของญี่ปุ่นที่อยู่ในอีกซีกโลก โดยทีมงานออกแบบได้ตั้งข้อสังเกตว่าที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมนี้ มักจะให้ความสำคัญกับความสวยงามมากกว่าการใช้งาน โดยละเลยแง่มุมอื่นๆ เช่น แสงธรรมชาติและการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทสถาปัตยกรรม Curious Practice จึงมอบชีวิตใหม่ให้กับบ้าน แต่ยังมีเค้าโครงเดิมที่จะจับมือผ่านช่วงเวลาสู่อนาคตไปด้วยกัน
ออกแบบ : Curious Practice
ภาพถ่าย : Clinton Weaver
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
กระท่อมแบบนี้เดิมใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนงานราคาประหยัด สร้างในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 การออกแบบให้ความสำคัญกับเฉลียงทางเข้าที่มีหลังคาคลุมและรายละเอียดการตกแต่ง แต่มักละเลยการพิจารณาถึงทิศทางแสงและลมที่พัดผ่าน รวมทั้งการเข้าถึงสวนหลังบ้านที่ขาดการเชื่อมต่อ ทีมงานจึงจัดการกับข้อบกพร่องเหล่านี้อย่างมีกลยุทธ์ โดยรื้อถอนด้านหลังของอาคาร รื้อการตกแต่งภายใน และสร้างส่วนต่อเติมใหม่ที่เชื่อมต่อสนามหญ้า เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิตในร่มและกลางแจ้งมากขึ้น ในขณะที่ผนังบ้านบางส่วนยังคงมีแผงไม้แบบซ้อนเกล็ดของเดิมอยู่ เพิ่มอิฐและไม้เป็นการตกแต่งแบบร่วมสมัยบริเวณหน้าบ้าน
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ชื่อของบ้านนี้คือ Aru House ฟังดูเหมือนภาษาญี่ปุ่น แต่จริงๆ แล้ว “Aru” หมายถึง “แมลง” ในภาษาของชาว Awabakal ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งแรงบันดาลใจในการออกแบบโครงสร้างใหม่ให้มีความเบาและมีผิวผนังที่ระบายอากาศได้
ทีมงานเปลี่ยนโฉม Aru House ด้วยการนำเสนอส่วนต่อเติมแบบใหม่ ซึ่งรวมเอาห้องนั่งเล่น อ่านหนังสือ ครัว ห้องนอน และห้องน้ำเข้าด้วยกันในพื้นที่เดียว ส่วนต่อขยายด้านหลังทางทิศตะวันตกสร้างพื้นที่ใช้สอยที่มีความลึกและความยืดหยุ่นสามารถปรับแต่งได้ โดยมีองค์ประกอบเด่นๆ เป็นประตูบานเลื่อนระแนงไม้แบบญี่ปุ่น ที่ทำหน้าที่เป็นฉากกั้นกรองแสงและบังสายตาเมื่อจำเป็น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับภายนอกได้เต็มที่ เปลี่ยนจากบ้านที่มืดมิดเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง
สวนหลังบ้านถูกจัดใหม่ โดยนักจัดสวนตระหนักว่าพื้นที่นี้เดิมเป็นป่ากึ่งป่า ทุ่งนา และพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตชานเมือง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ไม้ก็ถูกแผ้วถางเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม ซึ่งทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ แม้ว่าสวนแห่งนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำ แต่เจ้าของและครอบครัวก็ได้เพลิดเพลินกับความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปอย่างตื่นเต้น เพราะมีทั้งผึ้งพื้นเมืองมาสร้างบ้านเล็กๆ ในรูของตะแกรงไม้ มีกิ้งก่า ด้วง ตัวต่อ และผีเสื้อแวะมาเยือนด้วย
ห้องนั่งเล่นมีบริเวณทางเดินไม้นี้คล้ายกับ เอ็งกาวะ (Engawa) คือชื่อเรียกทางเดินรอบบ้าน ระเบียง หรือเฉลียงที่ยื่นออกมาด้านนอกตัวบ้านญี่ปุ่นในยุคเก่า เป็นพื้นที่ให้คนในบ้านสัญจรอย่างต่อเนื่อง และใช้งานออกมานั่งผ่อนคลายใกล้ชิดธรรมชาติ ชวนมานั่งดูดวงอาทิตย์ส่องแสงผ่านหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดอยู่ และมองสีของท้องฟ้าเปลี่ยนไปเมื่อพระอาทิตย์เริ่มตกดิน
การเพิ่มเฉลียงไม้ด้านข้างห้องนั่งเล่น ทำให้เส้นแบ่งระหว่างภายในและภายนอกถูกเบลอเข้าด้วยกัน ช่วยให้บ้านและพื้นที่ใช้สอยกลางแจ้งเป็นเหมือนส่วนขยายของกันและกัน ความยืดหยุ่นนี้ช่วยให้บ้านสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลได้อย่างใกล้ชิด ในช่วงฤดูร้อนเจ้าของบ้านจะเปิดหน้าต่างและประตูทั้งหมดเพื่อรับลม ในช่วงเดือนที่อากาศเย็นลงก็ปิดต้อนรับความอบอุ่น
บริเวณผนังที่ทำหน้าต่างไม้บานทึบอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา เป็นการออกแบบที่คล้ายบ้านโบราณของญี่ปุ่นที่จะเห็นวิวสวนในขณะที่นั่งกับพื้นในห้องชงชา แต่ในบ้านนี้ถูกปรับเปลี่ยนเล็กน้อยให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นโดยมีเคาน์เตอร์ไม้เล็ก ๆ สำหรับวางชุดน้ำชาบนหน้าต่าง ที่พอดีกับเก้าอี้ไม้นั่งดื่มชาไปด้วยชมวิวไปด้วยอย่างสบายใจ
ถัดจากมุมนั่งดื่มชาจะมีช่องทางเล็กๆ เข้าสู่ห้องนอนหลัก ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างห้องครัวกับผนังไม้ ในพื้นที่นี้กว้างเพียง 2.7 เมตร ท้าทายบรรทัดฐานของการสร้างโซนนอนที่เล็กกว่าบ้านทั่วไป
walk-in closet และห้องน้ำในตัว ตกแต่งง่ายๆ แต่มีมิติทางสายตาด้วยงานไม้ กระเบื้องโมเสกชิ้นเล็ก ๆ ในขณะที่พื้นที่ใช้งานไม่มาจึงลดขนาดของซิงค์ล้างมือให้มีขนาดเล็กน่ารัก ให้ความรู้สึกกว้างขวางและเป็นกันเอง อย่างไรก็ตามการตกแต่งหลายๆ ส่วนของบ้านทั้งห้องน้ำ หรือครัวที่ตกแต่งกระเบื้องสีเขียวมรกต ไอส์แลนด์ตกแต่งท็อปแผ่นหินไม่ได้มีความเป็นญี่ปุ่นทั้งหมด และไม่ได้ทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่เป็นการสร้างสิ่งใหม่และผสมของเก่าที่ทับซ้อนกันอยู่อย่างลงตัว
Curious Practice มุ่งเน้นไปที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ด้วยเหตุนี้มูลค่าของโปรเจ็กต์จึงวัดกันด้วยความสุขและความเพลิดเพลิน ผ่านวิธีการสร้างสรรค์วัสดุ การใช้แสง พื้นที่ที่ใช้งานได้หลากหลายและปรับเปลี่ยนได้ แผนผังได้รับการปรับให้เหมาะสม และทีมงานเน้นย้ำถึงวัสดุและงานฝีมือคุณภาพสูง รายละเอียดที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันเหล่านี้เพิ่มพื้นที่และความสะดวกสบายภายในให้สูงสุด
แปลนบ้าน