
อาคารอเนกประสงค์สไตล์โมเดิร์น
นานแค่ไหนแล้วนะที่เราไม่ได้ไปอ่านหนังสือใน “ห้องสมุด” หากใครที่อายุ 40 ปีขึ้นไปสมัยนั้นตามชุมชนยังมีห้องสมุดให้เด็ก ๆ ใช้เวลาอ่าน หรือในโรงเรียนช่วงกลางวันจะเต็มไปด้วยเหล่าหนอนหนังสือที่ใช้คาบว่างมานั่งข้างใน แต่ในปัจจุบันนี้แม้จะยังมีห้องสมุดเหลืออยู่บ้าง หากจำนวนคนที่จะเดินเข้าไปหาความรู้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะสิ่งที่อยากรู้หาได้ง่ายผ่านมือถือเพียงเครื่องเดียว อย่างไรก็ตามที่ประเทศจีนยังคงให้ความสำคัญกับห้องสมุด โดยใส่ฟังก์ชันเสริมอื่น ๆ ให้อาคารทำงานได้มากกว่าเดิม เห็นบรรยากาศและดีไซน์แล้วรู้สึกอยากจะไปแวะทุกสุดสัปดาห์
ออกแบบ: ATELIER XI
ภาพถ่าย: Chao Zhang
เนื้อหา: บ้านไอเดีย
ห้องสมุดใหม่นี้ออกแบบโดย Atelier Xi สร้างขึ้นท่ามกลางทุ่งดอกเก๊กฮวยสีเหลืองอันกว้างใหญ่ ใกล้ตีนเขาหยุนไถในมณฑลเหอหนานของจีน ห้องสมุด โดยสถาปนิกได้รับโจทย์ให้ทำหน้าที่ออกแบบอาคารอเนกประสงค์ เพื่อใช้ในชุมชนแบบมัลติฟังก์ชัน เพื่อหลีกเลี่ยงการทับซ้อนของอาคารขนาดใหญ่เพียงหลังเดียวบนภูมิทัศน์ทุ่งดอกไม้ สถาปนิกจึงได้ดีไซน์อาคารในขนาดที่เล็กลงทั้งหมด 5 หลัง แล้ววางกระจายตัวหันหน้าออกไปคนละด้าน เพื่อผสมผสานอาคารเข้ากับภูมิทัศน์
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
อาคารนำเสนอความเรียบง่ายในแบบรูปทรงเรขาคณิต ทำให้ดูมินิมอลและมีมิติเหมือนประติมากรรม หลังคาแหลมสูงมองจากไกลๆ คล้ายหินที่เจียระไนเหลี่ยมเหมือนมีเพชรพลอยวางอยู่ใจกลางทุ่งดอกไม้สีทอง แต่ละส่วนออกจะมีฟังก์ชันเฉพาะตัว คือ ห้องชิมชาเก็กฮวย ห้องอ่านหนังสือ ห้องสำหรับแสดงดนตรีขนาดเล็ก อาคารเวิร์คช็อปการศึกษาด้านการเกษตร และพื้นที่จัดเก็บเครื่องมือการเกษตร สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นมีลักษณะคล้ายกับหมู่บ้านเล็กๆ ส่งเสริมความรู้สึกของชุมชน ในขณะเดียวกันก็รักษาสมดุลกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
อาคารแต่ละหลังมีหลังคาลาดเอียงชวนให้นึกถึงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมทั่วทั้งภูมิภาค เพดานที่สูงขึ้นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ไม่เพียงแต่จะทำให้เห็นภาพทิวทัศน์อันน่าหลงใหลของทุ่งดอกไม้เท่านั้น แต่ยังสร้างภูมิทัศน์ที่มีชีวิตชีวา และน่าดึงดูดสายตาอีกด้วย องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทำหน้าที่เป็นฉากหลังของดอกไม้สีเหลืองทองที่บานสะพรั่ง เสริมสภาพแวดล้อมและมอบประสบการณ์การมองเห็นที่ไม่เหมือนใคร ในขณะเดียวกันก็ให้มิติของแสงที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวัน
เข้ามาถึงภายในจะเห็นอาคารที่มีเพดานเฉียงสูง ผนังภายในประกอบด้วยพื้นที่ไม้โค้งที่เชื่อมต่อถึงกัน ผนังโค้งเหล่านี้หุ้มด้วยไม้จากท้องถิ่น สร้างสีสันและพื้นผิวที่อบอุ่นซึ่งสะท้อนกับความละเอียดอ่อนของดอกเก๊กฮวย ผนังอาคารม่ส่วนที่กระจกโปร่งเบา สว่าง สบายตา ทำให้ผู้มาใช้พื้นที่ได้มองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้แบบไม่มีอะไรมาบดบัง ความว่างของพื้นที่เป็นความยืดหยุ่นที่เอื้อให้สามารถรองรับจำนวนผู้เข้าชมได้มาก และปรับเปลี่ยนรูปแบบในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมได้ง่าย
ความขัดแย้งระหว่างการตกแต่งภายในที่โค้งมนนุ่มนวล และภายนอกที่ประกอบด้วยเชิงมุมคมชัด ทำให้เกิดประสบการณ์ที่โดดเด่นซึ่งเปลี่ยนจากวันไปสู่คืน ในเวลากลางวัน กำแพงหน้าจั่วสีขาวชวนให้นึกถึงภาพการตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านทางตอนเหนือ ในเวลากลางคืนขอบเขตของอาคารจะสลายไปในความมืด เน้นพื้นที่ภายในอันนุ่มนวล และมอบความเปล่งประกายของแสงที่สวยงามราวกับความฝัน
แปลนอาคาร