บ้านยกพื้นสูงที่เหมาะกับเขตร้อน
บ้านยกพื้นสูงไม่ได้มีในเขตร้อนชื้นบ้านเราเท่านั้น ในบราซิลก็มีเช่นกัน บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล เป็นสวรรค์ของนักโต้คลื่นแห่ง Ubatuba โอบล้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่เขียวชอุ่ม จึงตั้งใจสร้างโดยยึดความยั่งยืน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในท้องถิ่น ในการดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับประยุกต์ใหเกับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นมิตรกับบริบทรอบข้าง
ออกแบบ : pittaarquitetura
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านคอนกรีตผสมไม้ ยกพื้นสูงลดร้อนลดชื้น
ที่ตั้งของบ้านนี้อยู่ในบริเวณชายฝั่งสภาพภูมิอากาศจึงค่อนข้างชื้น มีฤดูร้อนและปริมาณน้ำฝนจำนวนมากคล้าย ๆ กับบ้านเรา ดังนั้นพืช, แสงแดด, ฝน และลม จึงเป็นปัจจัยสำคัญทั้งหมดสำหรับสถาปนิกที่จะต้องศึกษาเพื่อสร้างบ้านให้ตอบทุกโจทย์การอยู่อาศัย บทสรุปที่ได้คือบ้านชั้นเดียยกพื้นขึ้นสูงเหนือพื้นดินเพื่อให้อากาศไหลผ่านข้างล่างลดความชื้นใต้อาคารได้ดี ขณะเดียวกันการยกพื้นบ้านขึ้นทำให้บ้านแทบไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับหน้าดิน จึงไม่รบกวนสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติที่อาศัยอยู่เดิม โครงสร้างอาคารเป็นคอนกรีตผสมไม้ที่แข็งแรง ทนสภาพอากาศ และกลมกลืนท่ามกลางต้นไม้และพืชพันธุ์
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
ในภูมิภาพเขตร้อนชื้น นอกจากการจัดการกับความชื้นแล้ว ยังต้องออกแบบบ้านให้ระบายอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ บ้านหลังนี้จะเต็มไปด้วยช่องเปิดขนาดใหญ่ทั้งสองด้านของตัวบ้านที่เปิดออกได้กว้างจนดูเหมือนไร้ผนัง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศตามธรรมชาติ องค์ประกอบภายนอกของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประตูกระจกบานเลื่อน ผนังไม้ และฉากไม้ระแนงเคลื่อนที่ได้ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งาน และการควบคุมสภาพอากาศสำหรับผู้อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี
ด้านหลังของตัวบ้านต่อชานไม้ขนาดใหญ่ขยายออกมาในบริเวณห้องครัวและห้องทานข้าว เชื่อมต่อกับสนามหญ้าเขียว ๆ ด้านล่าง เพิ่มพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์ที่เป็นส่วนตัว
เปิดผนังรับแสงและลมทั้งสองด้าน
บ้านพื้นที่ใช้สอย 103.12 ตารางเมตร มีสองห้องนอนที่แยกออกไปอีกด้านของอาคาร และจัดห้องนั่งเล่น ครัว และพื้นที่ทานอาหารเอาไว้ในจุดเดียวกัน พื้นที่ใช้สอยหลักขนาดใหญ่จัดแปลนแบบ open plan พร้อมความยืดหยุ่นในการใช้งาน มัน ส่วนหลังคากันสาดไม้ติดกระจกใส ๆ ด้านบนช่วยปกป้องพื้นที่ทานอาหารข้างล่างโดยไม่ลดทอนมุมมองจากบ้านสู่ภูมิทัศน์รอบ ๆ จึงเหมาะสำหรับความบันเทิงแต่ก็อบอุ่นพอที่จะเป็นสถานที่พักผ่อนส่วนตัว
บริเวณห้องใช้งานส่วนรวมสามารถเปิดออกสู่ภายนอกด้วยประตูกระจกบานเลื่อนยาวเหยียด ประตูนี้สามารถเปิดทิ้งไว้ได้บางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าทั่วบ้านจะมีอุณหภูมิเย็นสบาย และยังสร้างการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อกับภายนอกอาคาร ทั้งนี้สถาปนิกไม่ลืมที่จะเสริมฉากกั้นที่ทำจากไม้ระแนงทั้งสองด้าน เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการกั้นกรองแสงเวลาที่แดดสาดส่องค่อนข้างแรงในช่วงบ่าย
ผนังโล่ง ๆ เปิดเชื่อมต่อภายในภายนอก
ห้องครัวที่เหมือนไม่มีผนังทั้งสองด้าน ขยายพื้นที่การใช้งานจากภายในสู่ภายนอกอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้มีบริเวณเตรียมอาหารและทำอาหารมากขึ้นและเข้าถึงจุดทานอาหารได้ง่าย ทำเสร็จปุ๊บก็พร้อมเสิร์ฟปั๊บไม่ต้องวิ่งมาเปิด-ปิดประตู เหมือนมีครัวอยู่กลางแจ้งโล่ง ๆ สบาย ๆ
บ้านพึ่งพาธรรมชาติ
ห้องนอนที่ถูกโอบกอดด้วยธรรมชาติ รับแสงยามเช้าผ่านช่องแสงขนาดต่าง ๆ ที่จัดตำแหน่งเอาไว้เป็นระยะให้ผู้อยู่อาศัยรับวันใหม่อย่างสดชื่น ประตูไม้บานเฟี้ยมที่เปิดออกได้กว้างนี้ หากมองจากด้านหน้าจะถูกซ่อนพรางตาให้ดูเรียบเนียนไปกับผนังที่ใช้วัสดุเดียวกัน เพิ่มความเป็นส่วนตัวในการพักผ่อนในอีกระดับ
ในท่ามกลางโทนสีและวัสดุที่เรียบง่ายนั้นเราจะพบคุณสมบัติของการประหยัดพลังงานแบบ passive หรือการพึ่งและพาธรรมชาติในทุกจุดของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำบ้านเพดานสูง ช่องเปิดขนาดใหญ่ พื้นที่ใช้สอยแบบเปิดโล่ง ใช้ประโยชน์จากลมที่พัดผ่านได้สะดวกสบายและยังเอื้อต่อการรับแสงได้เท่าที่ต้องการจนแทบไม่ต้องเปิดไฟฟ้าส่องสว่างในช่วงกลางวัน ในฤดูหนาวแสงแดดจากหน้าต่างสูงที่หันไปทางทิศเหนือจะตกกระทบลงมาที่ผนังและพื้นคอนกรีต ซึ่งดูดซับความร้อนในระหว่างวันและคายความอุ่นในตอนกลางคืน
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : ในการสร้างบ้านเรานึกถึงระบบ active ซึ่งหมายถึงระบบที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าส่องสว่าง หรือการใช้พัดลม เครื่องปรับอากาศ ซึ่งทำให้บ้านต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากส่วนกลางค่อนข้างมาก แต่ถ้ามีบางจุด (อาจจะไม่ต้องทั้งหมด) เป็น passive home ที่เน้นการความสอดคล้องและพึ่งพาธรรมชาติ ก็จะช่วยให้บ้านสบายอย่างยั่งยืน เช่น การเปิดผนังบ้านกว้าง ๆ ให้ระบายอากาศและรับลมธรรมชาติ การเจาะช่องแสงหรือสกายไลท์รับแสงแดดธรรมชาติให้แสงสว่างในเวลากลางวันแบบแทบไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น |
แปลนบ้าน