เมนู

บ้านโรงนาโมเดิร์น สัดส่วนที่ลงตัวของไม้และเมทัลชีท

หลังคาเมทัลชีท

บ้านโครงสร้าง A-frame ที่ดูร่วมสมัย

ท่ามกลางธรรมชาติแสงแดดสาดส่องผ่านต้นไม้ สายลมสดชื่นพัดโชยมาตามอากาศ ห่างไกลจากชีวิตที่เร่งรีบ ใครจะคาดคิดว่าจะบ้านทรงโรงนาสไตล์โมเดิร์นอยู่กลางป่า ใจกลางภูมิภาค Muskoka ของออนแทรีโอ บ้านหลังนี้ประยุกต์จากบ้านแบบดั้งเดิมของแคนาดา ซึ่งวัฒนธรรมการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของแคนาดานั้นไม่ได้รับความสนใจจากชุมชนสถาปัตยกรรมนานาชาติมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ปี 2024 อาจเป็นปีที่วัฒนธรรมนี้เปลี่ยนไป เพราะ Royal Architectural Institute of Canada ได้มอบรางวัล Architecture Practice Award ให้กับโครงการบ้านเล็ก ๆ นี้

ออกแบบ : Dubbeldam Architecture + Design
ภาพถ่าย
Riley Snelling
เนื้อหา
: บ้านไอเดีย

บ้านหลังคาเมทัลชีททรงจั่วแหลมฟาซาดไม้ระแนง

Bunkie on the Hill เป็นกระท่อมขนาด 23.25 ตารางวา เป็นบ้านขนาดที่เล็กที่สุดในบรรดาอาคารที่กระจายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์สำหรับสี่ครอบครัว ออกแบบโดย Dubbeldam Architecture + Design Bunkie โดยซ่อนตัวอยู่ในแนวต้นไม้บนเนินเขาที่ลาดชัน พื้นที่นี้เงียบสงบห่างจากความคึกคักของบ้านหลังอื่นๆ ด้านล่าง บ้านมีทางเดินไม้ระแนงยื่นนำไปสู่ทางเข้าหลักและระเบียงด้านหลัง มอบความรู้สึกเหมือนเดินจากภูมิทัศน์สู่ภายใน จากภายนอกเหมือนเป็นบ้านสำหรับพักผ่อนธรรมดา แต่ในรายละเอียดแฝงความพิเศษด้วยวิธีการก่อสร้างที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก

บ้านหลังคาเมทัลชีททรงจั่วแหลมซ้อนกัน

คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่

บ้านหลังคาเมทัลชีททรงจั่วแหลมซ้อนกัน

กระท่อมแบบชนบทดั้งเดิมตามแบบฉบับของแคนาดานั้น จะเป็นกระท่อมรูปตัว A  แต่ทีมงานนำมาตีความให้มีความร่วมสมัย โดยการเพิ่มลูกเล่นกับช่องแสงรูปทรงเรขาคณิตที่นำแสงธรรมชาติเข้ามาได้มากกว่าเดิม และสร้างความแตกต่างด้วยวัสดุใหม่ๆ บวกกับปริมาตรหลังคาที่เปลี่ยนไปเป็นหลังคาเมทัลชีทแหลมสูงซ้อนกัน 2 ผืน การออกแบบหลังคาแบบแยกส่วนชวนให้นึกถึงชั้นหินที่ทับซ้อนกันในภูมิทัศน์โดยรอบ

บ้านหลังคาเมทัลชีททรงจั่วแหลมผนังไม้

ผนังตกแต่งไม้ระแนง

เพื่อรับประกันว่าอาคารนี้จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด บ้านจึงถูกยกขึ้นเหนือระดับพื้นด้วยฐานรากคอนกรีตฉนวน (ICF) ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณคอนกรีตที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังหลีกเลี่ยงการระเบิดหินก้อนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ (และยังต้องเสียเงินแพงอีกด้วย) ฐานอาคารตั้งอยู่บนเนินเล็กน้อยตามแนวโค้งตามธรรมชาติของหิน และด้วยการวางตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้ต้องย้ายต้นไม้ออกเพียงไม่กี่ต้น ส่วนผนังบ้านทั้งภายนอกภายใน ใช้ไม้ที่ได้รับการจัดระดับ FSC โดยผนังภายนอกและชายคาใช้ไม้ซีดาร์ธรรมชาติ ที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของป่าและยังทนทานกับสภาพอากาศมากกว่าไม้ชนิดอื่นๆ

ครัวเพดานสูงตกแต่งไม้

บ้านโถงสูงตกแต่งไม้ตัดกับสีขาว

เมื่อเข้ามาสู่ตัวบ้าน จะต้องประทับใจกับโถงสูงหลายเมตร การตกแต่งบ้านด้วยพื้นหลังสีขาวตัดด้วยไม้ให้ความรู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่น ภายในบ้านจะใช้คานแบบ Flitch ซึ่งเบากว่าและราคาถูกกว่าเหล็ก ช่วยพยุงโครงสร้างที่สูงตระหง่าน (สูงถึง 7 เมตรที่จุดสูงสุดภายใน) ในส่วนพื้นที่สาธารณะข้างล่างจะประกอบด้วย ห้องครัว โต๊ะรับประทานอาหาร และบริเวณนั่งเล่นต่อเนื่องกัน และชั้นลอยแยกสำหรับทำงาน ทำให้ทุกพื้นที่ของบ้านใช้งานได้ดีแม้จะมีขนาดกะทัดรัดก็ตาม

บ้านหลังคาจั่วโถงสูงตกแต่งไม้ดูอบอุ่น

ช่องแสงรูปสามเหลี่ยมบนหลังคา

จุดเด่นของบ้านนอกจากโถงสูงที่แยกพื้นที่สาธารณะออกจากพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน เราจะเห็นมิติของเพดานและช่องแสงที่แปลกตาเหมือนภาพสามมิติ ซึ่งเป็นผลจากการแยกส่วนหลังคาออกจากกัน 2 ส่วน เพื่อให้ส่วนยอดแหลมในด้านที่เปิดออกมองเห็นวิวทะเลสาบดูคมชัดขึ้น และลดส่วนยอดแหลมที่ด้านที่มองเห็นวิวป่าลง ทำให้ทั้งสองส่วนมีการแสดงออกที่แตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างหลังคาที่เหลื่อมกันจึงเกิดพื้นที่ว่างสำหรับใส่ช่องแสงในรูปทรงต่างๆ

ฝ้าเพดานแบบ 3 มิติ

ห้องทำงานใต้หลังคาหน้าต่างสามเหลี่ยม

ห้องทำงานบนชั้นลอยที่สุขใจสุด ๆ เพราะนอกจากจะเงียบสงบแล้ว ยังมองเห็นวิวยอดไม้หลากสี ทะเลสาบสวยๆ และท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปในแต่ละวันผ่านผนังกระจก ช่วยให้บรรยากาศการทำงานไม่เคร่งเครียด เมื่ออยากพักก็มีโซฟาให้นอนเล่น  เมื่อหายล้าแล้วก็พร้อมลุยกับงานต่อได้ยาวๆ

ห้องนั่งเล่นผนังกระจกเชื่อมต่อระเบียง

ผนังกระจกเต็มพื้นที่

ในอีกด้านหนึ่งของบ้านที่เปิดออกรับวิวทะเลสาบ จะจัดวางโซนนั่งเล่นผิงไฟเอาไว้ พร้อมกับผนังกระจกที่ติดตั้งสูงจากพื้นถึงเพดาน จึงสามารถรับแสงสว่างเพิ่มความอบอุ่นภายในช่วงฤดูหนาวที่หนาวจัดแบบติดลบ  แม้ในวันที่สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยให้ออกไปชมทัศนียภาพธรรมชาติภายนอกก็ยังรับวิวได้เต็มตา

 

หน้าต่างกรอบสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่

หลายๆ จุดในบ้านที่เต็มไปด้วยกระจกใสในบริเวณกว้าง ทำให้รู้สึกว่าบ้านจะร้อนหรือเปล่า และสภาพอากาศที่หนาวจัดผนังไม้จะเก็บความอบอุ่นไว้ได้อย่างไร คำตอบคือ บ้านนี้มีผนังภายนอกที่หนาถึง 34 เซนติเมตร  ช่วยป้องกันความเย็น เก็บกักความอบอุ่นได้ดี และระบบทำความร้อนที่มีเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานได้อย่างมาก นอกจากนี้หน้าต่างยังเป็นกระจกสามชั้น ทำให้มีอัตราการต้านทานความร้อน (R-Value) นำความร้อนต่ำ จึงให้แสงสว่างกับบ้านแต่ไม่ร้อนในฤดูร้อน นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบประปาแบบไหลน้อยและโคมไฟประหยัดพลังงาน ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของบ้านอีกด้วย

ห้องน้ำโทนสีขาว เทา ตกแต่งไม้

บ้านหลังคาจั่วสูงกลางธรรมชาติ

แปลนบ้าน

คุณคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ ?

Advertorial

ดูทั้งหมด

โพสต์ล่าสุดในหมวด แบบบ้าน


โพสต์ล่าสุด