บ้านประหยัดพลังงาน
ในการก่อสร้างบ้านแต่ละหลังจะมีโจทย์หรือปัญหาต่างๆ กัน สร้างความท้าทายให้นักออกแบบค่อยๆ แก้ไปจนสำเร็จออกมาเป็นหลัง สำหรับบ้านหลังนี้มีสามปัญหาที่ต้องแก้ไขในโครงการนี้ ประการแรก ในแง่ของพื้นที่ เจ้าของต้องการบ้านสำหรับครอบครัวหลายเจเนอเรชัน จึงต้องการบ้านที่ใช้งานและดูแลบำรุงรักษาง่าย ปลอดภัย ประการที่สอง เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สุดท้ายคือการแก้ปัญหาพลังงานและทรัพยากรน้ำ ซึ่งทีมงานแก้โจทย์ได้ทุกข้อ แถมยังดีไซน์บ้านนี้แตกต่างออกไปด้วยฟาซาดสวยๆ ที่ควบคุมแบบอัตโนมัติ
ออกแบบ : 85 architecture
เนื้อหา : บ้านไอเดีย
บ้านขนาด 104 ตร.ม. ในเมืองดานัง สร้างขึ้นจากความต้องการบ้านหลังใหม่ที่ต้องการให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับลูกๆ และหลาน ๆ ที่มักจะมาพักในวันหยุดสุดสัปดาห์ พวกเขาชอบดอกไม้และอยากปลูกผักปลอดสารพิษไว้ทานเอง ลดความจำเป็นในการซื้อผักจากตลาดเนื่องจากอาจมีสารเคมีที่เป็นพิษในปริมาณที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม บ้านเดิมของพวกเขาเป็นอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กแทบไม่มีสำหรับปลูกพืช แต่ก็ยังปลูกผักในห้องนอนได้ ดังนั้นสถาปนิกจึงตั้งใจที่จะเพิ่มพื้นที่สำหรับปลูกพืชแบบไม่รบกวนพื้นที่รอบๆ ด้วยการทำสวนบนหลังคา
คลิกที่ภาพ เพื่อชมภาพขยายใหญ่
หากดูจากภาพ จะสังเกตว่าบ้านยุคใหม่ในเวียดนามจะมีลักษณะเป็นแนวตั้งหน้าแคบลึก ผนังมักติดกับแบบผนังชนกัน ไม่มีพื้นที่เว้นว่างของระยะย่น เมื่อต้องดีไซน์เพื่อให้บ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องมองหาช่องทางอื่นๆ แทนจากผนังด้านข้าง โดยใส่ช่องเปิดขนาดใหญ่ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง รวมทั้งบนหลังคา แล้วจำกัดการแผ่รังสีความร้อนด้วยฟาซาดบานเฟี้ยมทำจากแผ่นเหล็กเจาะรูฉลุลวดลายสวยๆ เพื่อให้ลมและแสงยังสามารถผ่านเข้าไปหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง และยังเพิ่มความปลอดภัยให้บ้านไปพร้อมกัน
หลังคาแบน สามารถปลูกผักและไม้ผลขนาดเล็กได้ สถาปนิกออกแบบตั้งเวลารดน้ำวันละสองครั้งผ่านระบบอัตโนมัติ แต่เจ้าของบ้านสามารถกำหนดเปลี่ยนจำนวนครั้งในการรดน้ำและเวลาในการรดน้ำได้ โดยที่น้ำฝนและน้ำที่ใช้รดต้นไม้ทุกวันจะถูกเก็บเข้าถังเก็บใต้ดิน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังใช้ระบบหลังคากระจกที่เปิดและปิดอัตโนมัติตามเซ็นเซอร์วัดปริมาณน้ำฝน ปกติหลังคานี้เปิดตลอดเวลาเพื่อระบายอากาศและแสงแดด ในกรณีที่ฝนตกหลังคาจะปิดโดยอัตโนมัติในไม่กี่วินาที
บ้านในเวียดนามจะมีข้อกำหนดเรื่องความสูงของอาคาร เมื่อต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้งานจะใช้วิธีสร้างพื้นที่บ้านให้ต่ำลง ทำเป็นชั้นใต้ดินสำหรับจอดรถ ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ก็อาจจะเลือกแก้ปัญหาด้วยการลงทุนในระบบเครื่องสูบน้ำเพื่อรองรับน้ำท่วมแทน การออกแบบชั้นใต้ดินแบบกึ่งอุโมงค์ยังลดความสูงโดยรวมช่วยลดการใช้บันไดไปในตัว
จากประตูหน้าบ้านจะมีบันไดคอนกรีตแผงกันตกกระจกสไตล์โมเดิร์นที่จะนำทางขึ้นมาสู่ชั้นบน ที่มีระเบียงและประตูกว้างๆ เชื่อมต่อโดยตรงไปยังห้องนั่งเล่น ห้องครัว และพื้นที่รับประทานอาหารจัดในแปลนแบบ open plan สร้างความโล่งให้กับพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลาง เจ้าของบ้านสามารถทำอาหารและพูดคุยกับสมาชิกในบ้านหรือแขกได้ในเวลาเดียวกัน บ้านจึงกลายเป็นเสมือนพื้นที่ชีวิตที่เติมเต็มความอบอุ่นผ่านทุกกิจกรรมที่ทำด้วยกัน สำหรับการตกแต่งภายในจะใช้สีขาวเป็นสีหลักผสมผสานกับเฟอร์นิเจอร์ไม้ เพื่อเพิ่มการสะท้อนแสงทำให้บ้านรู้สึกกว้างขวาง
ระหว่างห้องนอนทั้ง 2 ห้องเป็นพื้นที่สำหรับบูชาที่ติดตั้งประตูไม้บานเฟี้ยมเปิดปิดได้ การผสมผสานระหว่างไม้และกระจกในช่วงของห้องกับบันได ทำให้บ้านมีบรรยากาศของความเป็นธรรมชาติและความทันสมัย แผ่นกระจกมีบทบาทในการเพิ่มการสะท้อนแสง และสร้างความโปร่งเบา ลดความรู้สึกทึบตัน ไม้ก็เป็นวัสดุที่คุ้นเคยและนำความอบอุ่นมาสู่พื้นที่อยู่อาศัย นอกจากนี้เหนือช่วงบันไดยังมีโถงสูงเชื่อมต่อกัน และจังหวะของช่องแสงสกายไลท์จัดไว้กลางบ้าน ช่วยเติมแสงให้ทางเดินและบันไดเพิ่มความสามารถในการถ่ายเทอากาศจากล่างสู่บน
ชั้นสองมีห้องนอน 2 ห้อง ห้องหนึ่งอยู่ด้านหน้าและอีกห้องอยู่ด้านหลัง ห้องนอนออกแบบตกแต่งในสไตล์โมเดิร์นสีขาวสะอาดตา แต่ไม่ได้เรียบนิ่งจนน่าเบื่อ ในทางกลับกับสถาปนิกใส่ลูกเล่นในห้องนอน ด้วยการลดพื้นที่เพดานด้านข้างเตียงออก แล้วติดตั้ง skylight จุดที่สองนำแสงและอากาศมาสู่พื้นที่อย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนบนหัวเตียงก็ตกแต่งไฟซ่อนที่ให้แสงเปล่งประกายอย่างนุ่มนวล และจะมีมิติทางสายตามากขึ้นในช่วงกลางคืน นอกจากนี้ยังมีต้นไม้ใบเขียวสดประดับ เพิ่มสีสันและความสดชื่นในห้องได้ดี
บ้านนี้ใช้ระบบซันรูฟพร้อมเซนเซอร์และระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อให้บ้านรับแสงและลมได้มากขึ้น สำหรับห้องนอนและห้องน้ำทุกห้อง ส่วนฟาซาดก็เช่นเดียวกันสามารถเปิดหรือปิดได้ตามสถานการณ์ที่ต้องการเป็นระบบผนังที่มีความยืดหยุ่นสูง
บ้านไอเดียแชร์ไอเดีย : หลังคาคอนกรีตแบน (Slab) ที่เป็นพื้นที่ระนาบโล่งกว้าง ทำให้หลายบ้านใช้ทำเป็น rooftop garden หรือสวนบนหลังคา เพื่อใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่พักผ่อนชมวิวหรือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในครัวเรือนเล็ก ๆ การจัดสวนบนหลังคาจะมีวัสดุปลูกและการรดน้ำ จึงเป็นเสมือนฉนวนป้องกันความร้อนจากหลังคาสู่ชั้นล่าง และป้องกันการแตกหักของคอนกรีตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือสภาพอากาศทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ก็ต้องมีการออกแบบตั้งแต่แรก เพื่อคำนวณการรับน้ำหนักวัสดุปลูก ต้นไม้ และน้ำ รวมถึงวางระบบกันซึม ระบบระบายน้ำให้ดีไม่ให้เกิดปัญหาหลังคารั่วซึมตามมา
|
แปลนบ้าน