
ตกแต่งห้องชุดสไตล์อินดัสเทรียล ดิบแต่สดใส
ถ้าพูดถึงบ้านสไตล์ดิบเท่ หลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีกับสไตล์อินดัสเทรียล ที่เน้นโชว์ความงามตามธรรมชาติของวัสดุ อย่างคอนกรีต อิฐ ไม้เก่า และโครงสร้างที่เปิดเปลือยชัดเจนเป็นหลัก ซึ่งทำให้ลุคของบ้านดูเรียบง่าย เฉียบคม แบบทันสมัย แต่ในบ้านที่มีความเป็น Traditional หรือความเป็นพื้นถิ่นดั้งเดิมอยู่ อย่างเช่นบ้านคนจีนที่ต้องมีที่วาง “ตี่จู่เอี้ย” หรือศาลเจ้าจีนในบ้าน บางคนอาจจะกังวลว่าจะปรับให้เข้ากับบ้านได้หรือไม่ จะดูขัดกันหรือเปล่า เรามีคำตอบมาฝากจากห้องชุดนี้ในสลังงอร์ (Selangor) ประเทศมาเลยเซีย ซึ่งมีคนเชื้อสายจีนอยู่มาก ก็สามารถปรับประยุกต์การออกแบบบ้านให้เข้ากันได้ดี ด้วยการเลือกจัดโซนให้เหมาะสม
ออกแบบ : Design culture Studio
เรียบเรียง : บ้านไอเดีย
คลิกที่ภาพใด ๆ เพื่อรับชมภาพขยายใหญ่
บ้านสไตล์อินดัสเทรียล เลือกมุมวางตี่จู่เอี้ยแบบไม่ขัดแย้ง
ภายในห้องชุดใช้วัสดุหลัก ๆ คือ ปูนเปลือย ให้ความรู้สึกดิบๆ โครงสร้างผนังภายในที่มีบางส่วนเป็นเหล็กทาสีดำเข้ม ๆ เพิ่มลุคแบบโรงงาน โชว์แนวรางไฟกิ่งสีดำเช่นกันให้ดูตัดกับเพดานสีขาว ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ธรรมชาติที่ให้ความคลาสสิค เพิ่มความรู้สึก cozy ลดทอนความความแข็งของเหล็กและความกระด้างของคอนกรีต จากทางเข้าห้องจะพบกับมุมทานอาหารและครัวก่อนแล้วจึงเข้ามาในส่วนนั่งเล่นด้านในสุด ระหว่างพื้นที่ทั้งสองส่วนสถาปนิกบิวท์ผนังคอนกรีตเป็นชั้นวาง 2 ด้าน อีกด้านหนึ่งที่หันเข้าหามุมนั่งเล่นทำช่องบิวท์อินสำหรับวางตี่จู่เอี้ย เมื่อเดินเข้ามาจะไม่เห็นศาลเจ้า
ผนังคอนกรีตทีแบ่งกั้นระหว่างครัวและห้องนั่งเล่น ทำเป็นชั้นวางทั้งสองด้าน ส่วนอีกด้านหลบอยู่ด้านในหันหลังให้ประตู จึงมองไม่เห็นตี่จู่เอี้ยจากข้างนอก ในภาพรวมของบ้านจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ผนังคอนกรีตเรียบเท่ ผนังโชว์อิฐอบอุ่นมีมิติ
การตกแต่งบ้านสไตล์ลอฟท์หรืออินดัสเทรียล สิ่งที่ขาดไม่ได้นอกจากจะเป็นคอนกรีตแล้ว การตกแต่งผนังบางส่วนด้วยอิฐโชว์แนวเรียงตัวทาสีตามธีมของบ้าน ยังช่วยเพิ่มมิติและสีสันให้กับบ้านได้เป็นอย่างดี แต่ในปัจจุบันหากบ้านไหนไม่สะดวกจะใช้ก้อนอิฐจริง ๆ ก็สามารถใช้วัสดุทางเลือกอื่น ๆ เช่น แผ่นอิฐตกแต่ง หรือวลล์เปเปอร์ลายอิฐ ซึ่งมีให้เลือกหลากโทนสีและดูเสมือนจริงมาก ในห้องชุดนนี้เลือกใช้วอลล์เปเปอร์มาช่วยเติมความ Soft ให้มุมทานข้าว มุมนั่งเล่น และยังช่วยกลบเกลื่อนร่องรอยที่ไม่พึงประสงค์บนผนังได้ด้วย
ถัดจากห้องทานข้าวเป็นกรอบผนังที่สร้างด้วยโครงเหล็กเป็นช่อง ๆ ติดกระจกใสเข้าไปกั้นห้องจัดเป็นห้องทำงาน มีโถงทางเดินเชื่อมต่อไปยังห้องนอนที่อยู่ด้านใน ผนังทั้งสองด้านทาสีฟ้าอ่อน ๆ กระจายความสว่าง โปร่งเบา และความรู้สึกสดใส ภาพรวมของบานจึงไม่ดูดิบกระด้างจนเกินไป แล้วยังมีส่วนที่เปิดโปร่งให้บ้านดูกว้างไม่อึดอัด
ห้องนอนเลือกผนังเพียงด้านเดียวที่จะฉาบปูนเปลือย เพื่อไม่ให้รู้สึกถึงความเย็นชืด บวกเข้ากับผนังสีฟ้าที่เชื่อมต่อมาจากโถงทางเดิน ช่วยเสริมความสงบและผ่อนคลาย ให้ห้องนอนเป็นสถานที่ที่ชวนพักผ่อน
ห้องครัวคุมธีมสีหลักๆ คือ สีขาว ดำ เทา น้ำตาล เอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น ตกแต่งผนังกันเปื้อน (Splash back) ด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามันเงา ตัดกับผนังฉาบเรียบทาสีขาว บานตู้ทั้งหมดใส่ความคลาสสิคของลามิเนตลายไม้เก่าเข้าไป จัดจังหวะของสีและลายให้เกิดความ balance พอดี ๆ ไม่ทึบหรือหนาหนักไปทางใดทางหนึ่ง บ้านจึงออกมาในลุคเท่แบบไม่มากและไม่น้อยเกินไป